เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ภาพเศรษฐกิจโลกก่อน 2019

ข่าววันที่ : 7 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20180712101741_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 ธ.ค. 2561

          ผศ.ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
          facebook.com/MacroView

 

          ในช่วงท้ายของปี 2018 ข่าวคราวด้านเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคหลักของโลก ออกมาในเชิงลบ เสียส่วนใหญ่ บทความนี้ขอสรุปภาพ ดังกล่าว ก่อนการประชุมธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ที่จะทยอยมีขึ้นในช่วงเดือนนี้ ดังนี้
          เริ่มจากเศรษฐกิจยุโรป มีปัจจัยที่ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าการเติบโตของยุโรปในช่วงกลางปีนี้อาจไม่สามารถยืนได้ในระยะยาว ดังนี้ 1.หากพิจารณาจากองค์ประกอบด้านอุปสงค์ของจีดีพี ชี้ว่าการลดลงของอุปสงค์สำหรับเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้ เป็นอานิสงส์มาจากผลของการลดลงการส่งออกสุทธิจาก 1.4% ในปี 2017 กลายเป็นติดลบ 0.2% ในปี 2018 โดยสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการลดลงอย่างรุนแรงของการเติบโตทางการค้าโลกจาก 5.2% ในปีที่แล้ว เหลือ 4.2% ในปีนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยภูมิศาสตร์ของการลดลงในรอบนี้ มาจากจีนและประเทศเกิดใหม่อื่นๆ โดยเยอรมนีได้รับผลกระทบอย่างหนักในรอบนี้ แม้ในแง่ของการปกป้องทางการค้า ยุโรปในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยก็ตาม อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาต่อในอนาคต
          2.การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้อุปสงค์เติบโตผ่านนโยบายการเงินและการคลัง มีการดำเนินการแบบต่อเนื่อง ทว่ามีการชดเชยให้ชะลอลงจากผลของอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน โดยผลบวกจากปัจจัยเหล่านี้ได้หายไปในปี 2018
          ท้ายสุด ปัญหาเฉพาะตัวของเศรษฐกิจใน 2 ประเทศยุโรปหลัก ได้แก่ อิตาลี ที่ส่วนต่าง อัตราดอกเบี้ยระหว่างของอิตาลีกับเยอรมนีได้สูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดมีความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิตาลีกับยูโรในประเด็นการใช้จ่ายและ ภาษีของรัฐบาลอิตาลีจะบานปลาย และอังกฤษที่ Brexit ยังคงเป็นความไม่แน่นอนที่โอกาสจะจบแบบที่มีความเสียหายมีอยู่สูง เพียงแต่ว่าขนาดความเสียหายจะมากหรือน้อย
          โดยธนาคารกลางอังกฤษได้ประเมินความเสียหายไว้ว่าหาก Brexit จบสวย ความเสียหายในภาพรวมของจีดีพีอังกฤษจะ ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ระยะยาวไว้เมื่อเดือน พ.ค.2016  ระหว่าง 1 ถึง 3% สำหรับใน กรณีที่ Brexit จบแบบไม่มีข้อตกลงและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของยูโรแบบกะทันหัน หรือ No deal, No Transition จีดีพีอังกฤษจะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ใน ระยะยาวไว้เมื่อเดือน พ.ค.2016 ระหว่าง7 ถึง 10.5% โอกาสจากข้อมูลในตอนนี้ ผมมองว่าโอกาสจบแบบเลวร้ายมีอยู่ราว 30% หันมาดูเศรษฐกิจญี่ปุ่นกันบ้าง แม้ว่าสถานการณ์การจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถือว่าจะดูดีขึ้นมาก โดยพิจารณาจากระยะเวลา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะถือว่าต่อเนื่องมาถึง 70 เดือนติดต่อกันมาจนถึงในตอนนี้ ซึ่งถือว่ายาวนานมากสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รวมถึงกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เติบโตได้ดี ทั้งบริษัทขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจก็สามารถทำได้แบบกระจายอย่างทั่วถึง
          อย่างไรก็ดี การเติบโตของค่าจ้างและ CPI กลับยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถึงขนาดที่ นายมาซาซูมิ วากาทาเบ้ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องไม่หยุดที่จะกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินต่อไป หากไม่อยากให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้ง เนื่องจากสงครามการค้าจะมีผลกระทบ ต่อญี่ปุ่นอยู่มาก
          ในส่วนเศรษฐกิจสหรัฐนั้น การผุดขึ้นมาของเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยกลับหัว หรือ Inverted Yield curve ระหว่างพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 5 ปี เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ อาจกำลังจะมาเยือนในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า
          แต่ที่น่าหนักใจคือ เจย์ พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าตัวเขาไม่เชื่อในแนวคิดดังกล่าว ซึ่งที่น่าแปลกใจคือ จอห์น วิลเลียมส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ก ที่ถือเป็นเจ้าตำรับแนวคิดนี้กลับออกมาเห็นด้วยกับพาวเวลล์ไปเสียงั้น ทำให้ต้องจับตาว่าเฟดจะยังมองประเด็นนี้เหมือนเดิมหรือไม่ หากใช่ น่าจะถือเป็นข่าวร้ายของเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าเดิมในอนาคต


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 7 ธันวาคม 2561