เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ภารกิจ “ซีอีโอ” ฝึกหัด “ประยุกต์ AI บริหารคนรุ่นใหม่”

ข่าววันที่ : 7 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20180712100342_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 7 ธ.ค. 2561

          CEO for One Month (ภารกิจพิชิตฝันสู่ซีอีโอ) เป็นโปรแกรมของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลระดับโลก ที่ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่จากทั่วโลกมาสัมผัสประสบการณ์การเป็นผู้บริหารระดับสูง ทั้งยังได้ทำงานจริงร่วมกับบริษัทอเด็คโก้จาก 60 ประเทศทั่วโลก
          โปรแกรมนี้เป็นส่วนหนึ่งโครงการ Way to Work ที่ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ที่มองหาช่องทางพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ ทั้งแนวคิด วิธีการทำงาน และการฝึกฝนทักษะความเป็นผู้นำ เพื่อก้าวสู่สายอาชีพดังที่มุ่งหวัง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ของโปรแกรม CEO for One Month โดยบริษัทอเด็คโก้ในแต่ละประเทศจะทำการคัดเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่ซีอีโอ เป็นระยะเวลา 1 เดือนในประเทศของตน
          นอกจากนั้น จะให้โอกาสเข้าคัดเลือกเป็น Global CEO for One Month โดยจะทำงานร่วมกับ “Alain Dehaze” ผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ที่สำนักงานใหญ่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย
          สำหรับปีนี้มีผู้ได้รับการคัดเลือกรอบแรก 47 คน จากผู้สมัครทั่วโลกกว่า 204,000 คน โดยผู้ที่สามารถพิชิตภารกิจพิชิตฝันสู่ซีอีโอระดับโลก ได้แก่ “Lisa Frommhold” คนรุ่นใหม่ไฟแรงชาวเยอรมัน อายุ 23 ปี โดยเธอมีโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการ การเข้าร่วมประชุมกับลูกค้า และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เธอมาเยือนเพื่อปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วย
 

ก่อนจะเป็นซีอีโอ (ฝึกหัด)
          “Lisa Frommhold” เรียนจบปริญาตรีทางด้านการบริหารจัดการจิตวิทยา เมื่อปี 2560 และเริ่มค้นหาตัวเองว่าอยากทำอะไร ซึ่งในช่วงแรกยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับปริญญาที่ได้มา เพราะรู้สึกว่าโลกนี้มันกว้างใหญ่ และมีโอกาสมากมาย ด้วยความที่ยังเห็นเส้นทางตัวเองไม่ชัด จึงตัดสินใจเลือก gap year (เวลาในการค้นหาตนเองประมาณ 1 ปี)
          “ในช่วง gap year ดิฉันไปฝึกทำงานกับบริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา และสวีเดน เพื่อให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ พอเดินทางกลับมาจากสวีเดนก็มีคนรู้จักส่งลิงก์รายเอียดของโครงการ CEO for One Month มาให้ จึงลองสมัครดู โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือส่งเรซูเม่ และใบรับรองคุณวุฒิต่าง ๆ ไปที่อเด็คโก้ ซึ่งในเยอรมนีมีคนสมัครกว่า 7,500 คน จากนั้นทางอเด็คโก้จะคัดเลือกจากคุณสมบัติทางเรซูเม่ ให้เหลือ 150 คน โดยทั้ง 150 คนนี้ต้องทำวิดีโอความยาว 2 นาที อธิบายเป็นภาษาเยอรมันและอังกฤษ เกี่ยวกับหัวข้อคุณคิดว่าโลกแห่งการทำงานควรเป็นอย่างไร หรือบุคคลตัวอย่างที่คุณชื่นชอบ”
          “โดยดิฉันเลือกพูดถึง เจน กู๊ดดอล นักสัตววิทยาและมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงจากโครงการศึกษาพฤติกรรมทางสังคม และครอบครัวของลิงชิมแปนซี ที่อุทยานแห่งชาติกอมเบสตรีม ประเทศแทนซาเนีย และหลังจากที่ได้ร่วมทำงานกับอเด็คโก้ ทำให้ตนเองพยายามค้นหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า โลกแห่งการทำงานควรเป็นอย่างไร ส่วนตัวดิฉันมองว่าควรเป็นที่ที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนีที่มีวัฒนธรรมการทำงานค่อนข้างเข้มงวด ขณะเดียวกันต้องมีความมั่นคงด้วย”
          “จากนั้นผู้เข้าแข่งขันจะถูกคัดเลือกจากวิดีโอให้เหลือ 15 คน เพื่อเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของอเด็คโก้ในประเทศเยอรมนี สำหรับรับการประเมินรอบสุดท้ายมี 3 คำถามจาก Chief Executive Officer (CEO), Chief Mar-keting Officer (CMO) และ Chief Executive Human Resource Officer (CHO) เพื่อคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศอีกครั้ง”

ฝ่าด่านสู่ซีอีโอระดับโลก
          “ความหลากหลายทางเพศ, artificial intelligence (AI) และวิธีที่จะหาคนเจเนอเรชั่น Y มาร่วมงาน” เป็น 3 คำถามที่ทั้ง 3 ผู้บริหารต้องการฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมโปรแกรม แต่สำหรับ”Lisa Frommhold” ตอบว่า ความหลากหลายทางเพศในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความหลากหลายนำมาซึ่งนวัตกรรม ดิฉันเชื่อว่า AI กับคนสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับโลกนี้
          “ยกตัวอย่างการใช้ AI เพื่อหาคนเจนวายมาร่วมงาน ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักจะลงประวัติไว้ใน linkedIn ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียทางด้านอาชีพการงานใหญ่ที่สุด มีสมาชิกเกือบ 200 ล้านคนทั่วโลกโดยระบบนี้จะช่วยผู้ที่เป็นลูกจ้าง นายจ้าง และบริษัทจัดหางานในการใช้ฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน แต่ข้อเสียคือบริษัทต่าง ๆ ส่งการทาบทามงานผ่านมาทางระบบอัตโนมัติ โดยที่งานเหล่านั้นไม่ได้เหมาะสม หรือเกี่ยวข้องกับทักษะของเจ้าของโปรไฟล์ ดังนั้นหากใช้ AI มาช่วยปรับเพิ่มเรื่อง human touch (ความเหมือนมนุษย์) จะทำให้ประสิทธิภาพในการหาคนรุ่นใหม่ดีขึ้น ทั้งยังตรงกับงานที่ต้องการด้วย”
          หลังจากเป็นผู้ชนะระดับประเทศ “Lisa Frommhold” ต้องทำงานแบบซีอีโอในเยอรมนีหนึ่งเดือน โดยมีโอกาสลงมือศึกษาเรื่องความท้าทายทางโซเชียลมีเดีย การวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาด พร้อมกับทำรายงานส่งทุกสัปดาห์ ขณะเดียวกันก็ต้องทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการทำงานในอเด็คโก้

เสนอ “NPS” รักษาพนักงาน
          “Lisa Frommhold” บอกว่า จากการได้ประสานงานกับสาขาต่าง ๆ ของอเด็คโก้ รวมไปถึงบริษัทลูกในเยอรมนี ทำให้พบว่าใน Modis ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอเด็คโก้ ที่ให้บริการผู้เชี่ยวชาญด้านไอที โดยมีทรัพยากรเป็นวิศวกรไปทำงานประจำตามบริษัทต่าง ๆ ของลูกค้า ต้องเผชิญความท้าทายเกี่ยวกับการลาออกของพนักงาน เพื่อไปเป็นพนักงานประจำของบริษัทลูกค้า
          “ด้วยความที่วิศวกรเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญ เราจึงอยากรักษาไว้ ดังนั้น ดิฉันจึงนำเสนอการใช้นวัตกรรม NPS (net promoter score) หรือตัวชี้วัดความพึงพอใจ เพื่อให้ทราบว่าพนักงานคนไหนมีแนวโน้มที่จะลาออก ทำให้เราสามารถพูดคุยกับพวกเขา สอบถามความกังวลใจ และอะไรที่เราจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราได้”
          จากนั้นจะใช้หลักสูตรพัฒนาทักษะของ General Assembly ซึ่งเป็นบริษัทลูกรายใหม่ที่อเด็คโก้เพิ่งซื้อมา โดยเป็นบริษัทที่ทำหลักสูตรระดับโลกที่ช่วยเพิ่มทักษะเฉพาะทาง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับกลุ่มทาเลนต์ เพราะจะใช้หลักสูตรเหล่านี้มาเพิ่มทักษะของพนักงานที่มีแนวโน้มจะลาออก เพราะจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าการอยู่ต่อทำให้มีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น และหลังจากจบโปรแกรม Global CEO for One Month ดิฉันจะเข้ารับตำแหน่ง Junior Project Manager ที่ Modis เพื่อดูแลโปรเจ็กต์ดังกล่าว

บริหาร “คน” คือความท้าทาย
          หลังจากได้ฝึกฝนทักษะการทำงานตำแหน่งซีอีโอระดับประเทศในเยอรมนีมาระยะเวลาหนึ่ง “Lisa Frommhold” จึงได้เป็น 1 ใน 10 คน จาก CEO for One Month ทั่วโลก เพื่อเดินทางไปยังอังกฤษ ในการเข้าบูตแคมป์เป็นระยะเวลา 5 วัน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยกิจกรรมในแคมป์จะเป็นการท้าทายความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรม โดยเธอสามารถสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการ ด้วยความเป็นธรรมชาติของเธอ บวกกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้ มีทักษะในการสื่อสารที่ดี ให้ความสำคัญกับการการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะเรื่องการให้ความสำคัญของ “คน” ที่เธอมองเป็นอันดับแรก ๆ
          “Alain Dehaze เคยพูดว่า ดิฉันมีหัวคิดเหมือนวิศวกร ขณะเดียวกันก็เป็นคนมีจิตใจดี มีเมตตา และให้ความสำคัญกับคนรอบตัว ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ดิฉันได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะระดับโลก ดิฉันมองว่า CEO มีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรให้เหมาะสมกับการทำงาน ใส่ใจคน เพื่อให้คนมีความสุข และมีความสุขที่เห็นคนในทีมสามารถทำได้ดีกว่าตัวเอง”
          สำหรับความท้าทายในการดำรงตำแหน่ง CEO ที่เธอมองคือการรับมือกับความหลากหลาย เพราะที่อเด็คโก้ต้องทำงานร่วมกับอเด็คโก้จาก 60 ประเทศทั่วโลก ทั้งยังต่างไทม์โซน และมีบริษัทลูกอยู่ในกรุ๊ปทั้งหมด 35 แบรนด์ ดังนั้นจึงไม่ใช่งานง่าย ๆ ในเรื่องของการบริหารความแตกต่างทางวัฒนธรรม และไหนจะต้องประชุมกับทุก ๆ ประเทศอีกด้วย ฉะนั้น คนที่จะมานั่งตำแหน่งนี้จะต้องมีทักษะในการบริหารจัดการค่อนข้างดี ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบอย่างมาก
          แต่สำหรับ “Lisa Frommhold” เธอเชื่อว่า จากประสบการณ์แห่งการเรียนรู้จากโปรแกรม CEO for One Month คงน่าที่จะทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเธอนำไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคตได้อย่างแน่นอน
          TAGSCEO for One MonthLisa Frommholdบริษัทอเด็คโก้ภารกิจพิชิตฝันสู่ซีอีโอ

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ  วันที่  6  ธันวาคม 2561