เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

"แบงก์กรุงเทพ" ปั๊มลูกค้าออนไลน์

ข่าววันที่ : 3 ธ.ค. 2561


Share

tmp_20180312145852_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 3 ธ.ค. 2561

          "ธนาคารกรุงเทพ" เร่งสปีดสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง  ขยายฐานลูกค้าโมบายแบงก์เป็น 11 ล้านรายปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 7 ล้านราย พร้อมดึงธุรกรรมการเงินให้อยู่บนช่องทางออนไลน์ 70% จาก 60% ในปีนี้ และ ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 90% ภายใน 3 ปี  เตรียมเปิดบริการดิจิทัลเลนดิ้ง และเปิดบัญชีออนไลน์กลางปีหน้า
          นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ของธนาคารในระยะข้างหน้า มุ่งเน้นพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์และบริการขึ้นไปอยู่บนดิจิทัลมากขึ้น  โดยภายในปีหน้าการให้บริการ การเงินส่วนใหญ่ จะให้บริการผ่าน ช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากปีนี้อยู่ที่เกือบ 60% และภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าการให้บริการทางการเงินจะขึ้นไปอยู่บนช่องทางดิจิทัลเป็น 90%
          นอกจากนี้ ปีหน้าคาดว่าจะมีลูกค้าบนโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นเป็น 10-11 ล้านราย จากปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7 ล้านราย ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น มาจากการปรับเปลี่ยนการให้บริการของธนาคารที่เน้นไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งบริการ ที่รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น สำหรับธุรกรรมทั่วไป เช่น ถอนเงิน โอนเงิน ชำระบิลต่างๆ รวมถึงยกระดับบริการที่เกี่ยวกับการขายต่างๆ บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดการทำธุรกรรมผ่านสาขาลง และจะเน้นการ นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง  เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
          เธอกล่าวว่า  ตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม บนช่องทางดิจิทัล  พบว่าการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับธุรกรรม ในปีก่อน ขณะที่การทำธุรกรรมการเงิน ผ่านสาขาปรับลดลงต่อเนื่องกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกันการทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็มที่แม้จะยังไม่ได้ลดลง  แต่ก็ไม่มีการเติบโต และคาดว่าการทำธุรกรรม ผ่านเอทีเอ็มเข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว ดังนั้น ในระยะข้างหน้าคงไม่มีการขยายตู้เอทีเอ็มเพิ่มเติมอีกแล้ว
          "การทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าในวันนี้ พบว่าลูกค้ามูฟไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น และภายใน 3 ปี ธุรกรรมต่างๆ จะไปอยู่บนดิจิทัลกว่า 90%  เห็นได้ชัดเจนหลังจากที่ธนาคารเปิดให้สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายกับห้าง และร้านค้าปลีกต่างๆ พบว่า ยอดการสแกนจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้เงินสดลดลง โดยมีสัดส่วนการใช้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินเข้าไปแทนที่ราว 3-4%"
          ในด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ปีหน้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก  โดยเฉพาะบริการใหม่ๆ ที่จะไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น หลังดิจิทัลไอดีเกิดเป็นรูปธรรม เช่น การปล่อยสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์ หรือดิจิทัลเลนดิ้ง จะเห็นการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ทั้ง ฝั่งสินเชื่อบุคคล และเอสเอ็มอีได้ราว กลางปีหน้า รวมถึงการเปิดบัญชีผ่าน ระบบออนไลน์ โดยการใช้ระบบไบโอเมตริกซ์ ยืนยันตัวตน โดยในระยะเริ่มต้นหลัง เปิดบัญชีออนไลน์ได้ คาดว่าจะเห็นยอดเปิดบัญชีออนไลน์ปีหน้าเกือบ 1 แสนบัญชี ส่วนการทำอีวอลเล็ตข้ามประเทศ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ไปต่างประเทศล่าสุดได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มเห็นโครงการดังกล่าวได้ภายในไตรมาสแรก หรือไตรมาสสองปีหน้า
          เธอกล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนด้านดิจิทัลนั้น  ปีหน้าคาดว่าจะใช้งบลงทุน หลายพันล้านบาท เพื่อพัฒนาดิจิทัล รวมถึงการทดสอบและนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีมากขึ้น ขณะที่มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการคุม การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย พบว่าการ โอนบ้าน จากบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย เติบโตขึ้นค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันการโอนเพิ่มขึ้นกว่า 30%


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 3 ธันวาคม 2561