เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เลี้ยงด้วงสาคูแบบต้นทุนต่ำสร้างรายได้ทั้งปี

ข่าววันที่ : 26 พ.ย. 2561


Share

tmp_20182611135139_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 26 พ.ย. 2561

          จากสภาวะเศรษฐกิจที่การหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องช่างยากเย็นแสนเข็ญเกษตรกร เริ่มมองหาช่องทางเพื่อจะได้มีรายได้เสริมเข้ามา จากเดิมที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชเลี้ยงสัตว์กันตามที่ถนัด
          จากสภาวะเศรษฐกิจที่การหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องช่างยากเย็นแสนเข็ญเกษตรกรหลายรายกลับตัวทันเริ่มมองหาช่องทางเพื่อจะได้มีรายได้เสริมเข้ามาในครอบครัว จากเดิมที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชเลี้ยงสัตว์กันไปตามทางที่ถนัด หรือมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความรู้ แต่ไม่ใช่ที่บ้านเลขที่ 118/6 หมู่ 4 ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ของ นางปรียานุช บุตรที หรือต่าย อายุ 40 ปี แบ่งพื้นที่บริเวณหน้าบ้านจัดวางกะละมังเพาะเลี้ยง ด้วงมะพร้าวหรือด้วงสาคู แบบธรรมชาติ ต้นทุนต่ำ เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี
          นางปรียานุช เปิดเผยว่า เดิมครอบครัวเป็นชาวไร่และหาของป่าขายตามฤดูกาล เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาช่วงที่ออกไปหาหน่อไม้ในป่าไผ่ บังเอิญพบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของด้วงสาคู ซึ่งคนในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงนิยมกินตัวอ่อน ด้วงสาคู จึงจับมา ทดลองเพาะขยายพันธุ์ในกะละมัง โดยเรียนรู้วิธีเลี้ยงจากในยูทูบ แรก ๆ ให้อาหารเป็นพืชในพื้นถิ่นเมื่อเก็บมาจากกอหน่อไม้ เลยใช้หน่อไม้เป็นอาหารหลัก เลี้ยงครั้งแรกเพียง 5 คู่ ประมาณ 7 วัน ได้ตัวอ่อนด้วงฯ กว่า 100 ตัว จึงเริ่มศึกษาวงจรชีวิต ลองผิดลองถูกอยู่ 4-5 เดือน ก็เริ่มจับตัวอ่อนขายได้ เลยมีความคิดจะขยายการเพาะพันธุ์เป็นอาชีพอย่างจริงจัง
          ขั้นตอนการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก เพราะที่บ้านใช้วิธีเลี้ยงแบบธรรมชาติ ใส่ในกะละมังพลาสติกขนาด 50 ซม. ใส่ขุยมะพร้าวเป็นที่พักให้ตัวอ่อนอยู่ ใช้หน่อไม้ที่มีในท้องถิ่นเป็นอาหารหลัก เสริมด้วยกล้วยน้ำว้าสุก มะพร้าวอ่อน ฟักทองต้มสุก มะละกอสุก บดให้ละเอียด รำอ่อน อาหารหมู คลุกผสมกัน ใส่กะละมังเติมน้ำลงไปให้พอแฉะ ๆ นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงปล่อย 5-6 คู่ต่อ 1 กะละมัง และใช้เปลือกมะพร้าวปิดหน้าอาหารไว้ นำกล้วยน้ำว้าสุกมาวางไว้เป็นอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ ก่อนนำฝามาปิดโดยให้มีรูระบายอากาศถ่ายเท ต้องหมั่นดูหน้าอาหารไม่ให้แห้งโดยการพรมน้ำเป็นระยะ ที่เหลือแค่รอให้ผสมพันธุ์กันออกไข่ จากนั้นประมาณ 7 วัน จะเกิดตัวอ่อนให้จับแยกพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยงในกะละมังใบใหม่เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป เลี้ยงจนตัวหนอนโตประมาณเท่านิ้วโป้ง ใช้เวลาประมาณ 25 วัน ก็สามารถจับส่งขายได้แล้ว แต่หากต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องเลี้ยงไปอีกประมาณ 20 วัน ตัวหนอนก็จะเริ่มเข้าฝักคล้ายดักแด้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 10 วันก็จะออกมาเป็นตัวด้วงสาคู ซึ่งวงจรชีวิตของด้วงสาคูประมาณเดือนกว่า ๆ จะโตเต็มวัยแล้ว
          นางปรียานุช เล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อก่อนออกจับพ่อแม่พันธุ์จากป่าไผ่ จะมีชุกช่วงต้นฝน พอเริ่มเข้าหน้าหนาวจะหายากเลยทดลองคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เอง เลือกตัวที่สมบูรณ์เก็บไว้เลี้ยงให้โตเต็มวัยเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ชุดใหม่ ส่วนตัวอ่อนด้วงที่เหลือก็จับขาย ซึ่งลักษณะด้วงสาคู มีปีกสีน้ำตาลดำ อกสีน้ำตาลมีจุดสีดำ ตัวผู้จะมีงวงสั้นกว่าตัวเมีย และมีขนสั้น ๆ ด้านบนของงวง ส่วนตัวเมียงวงจะเรียวยาวไม่มีขน เมื่อคัดตัวที่สมบูรณ์แล้วจะแยกลงกะละมังโดยสลับตัวผู้กับตัวเมียให้มาจากคนละที่กัน เพื่อกันพันธุ์ชิด
          “เริ่มเพียง 5 คู่ได้ด้วงกว่า 100 ตัว ใช้เวลาประมาณ 30-35 วัน ก็จับขายได้ ปัจจุบันที่บ้านเลี้ยงประมาณ 300 กะละมัง และจะเลี้ยงไล่อายุ ทำให้จับขายได้ตลอดทั้งปี ตัวอ่อนด้วงนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ทอด คั่วเกลือ หมก แกง หรือผัด สารพัดเมนู รสชาติอร่อย มีโปรตีนสูงไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 300 บาท ทุกวันนี้ขายให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดแถวบ้านวันละหลายกิโลกรัม ต่อเดือนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าลองทำทีเดียว”


          นำรัก สมบัติ รายงาน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :   เว็บไซต์เดลินิวส์  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561