เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ทหารไทย ลุยเอสเอ็มอีดันยอดท้ายปี

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211111757_1.png

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          ทีเอ็มบีกลับมาลุยธุรกิจเอสเอ็มอี หลังชะลอไป 2 ปี ชี้เห็นยอดสินเชื่อแตะ 2 พันล้านบาทต่อเดือน จากช่วงต้นปี 1.5 พันล้านบาท มุ่งกลุ่มโรงแรม-สุขภาพ เหตุอานิสงส์การท่องเที่ยวโต คนรักษาสุขภาพมากขึ้น มั่นใจสิ้นปียอดสินเชื่อแตะ 1.8-2 หมื่นล้านบาท ยอดคงค้างโต 2-3% อยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลทรงตัว 8% จับตาสงครามการค้าความเสี่ยงกระทบลูกค้า


          นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปีนี้เริ่มขยายตัวดีขึ้น หลังจากเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยกู้ ทำให้สินเชื่อชะลอตัวไม่ได้เติบโตมากนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้จะเห็นการเติบโตเริ่มดีขึ้น


          โดยลูกค้าที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท มีความต้องการสินเชื่อมากขึ้นและมีการเบิกใช้วงเงินทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการลงทุน สินเชื่อหมุนเวียน และสินเชื่อวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) มากกว่า 40% ของวงเงินที่ตั้งไว้ทั้งหมด โดย 9 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่แล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 2 พันล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ยอดเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าต้องการสินเชื่อมากขึ้น คาดว่าช่วง 2 เดือนสุดท้าย น่าจะปล่อยสินเชื่อเฉลี่ย 2 พันล้านบาทต่อเดือนได้ ทำให้ยอดสินเชื่อใหม่ทั้งปีจะอยู่ที่ 1.8-2 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบัน 9 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเติบโต 2-3% ทำให้สิ้นปีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท


          สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารให้ความสนใจและเน้นการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ จะเป็นกลุ่มโรงแรม โดยจะเน้นไปที่ หัวเมืองขนาดใหญ่และหัวเมืองรอง เนื่องจากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และกลุ่มสุขภาพ (Health Care) ที่จะเห็นว่าแนวโน้มมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง และคนเริ่มหันมาให้ความสนใจในสุขภาพ ซึ่งจะเป็นอานิสงส์ต่อการเติบโตของกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ยังคงต้องระมัดระวังอยู่ จะเป็นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่มีความเสี่ยง ซึ่งการปล่อยสินเชื่อจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ขึ้นอยู่กับศักยภาพของลูกค้า


          อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมการเติบโตของลูกค้า ธนาคารจะมีโปรแกรมเอสเอ็มอีบัญชีธุรกิจให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และธนาคารสามารถนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถให้วงเงินกับความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากธนาคารจะเห็นกระแสการทำธุรกรรมการเงิน (Transaction Banking) ของลูกค้าได้ เพราะลูกค้าจะเดินบัญชีเงินเข้า- เงินออกผ่านบัญชีดังกล่าว ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการเงินได้ดีและมีระเบียบ วินัยทางการเงิน ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมีคุณภาพ


          ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายหลังจากธนาคารชะลอการปล่อยสินเชื่อ และมีการปรับโครงสร้างสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้ามีคุณภาพมากขึ้นภายใต้การปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้นของธนาคาร ส่งผลให้หนี้เอ็นพีแอลเกิดใหม่ (New NPL) ไม่ค่อยมี ซึ่งเอ็นพีแอลที่มีอยู่จะเป็นของเก่าที่สะสมมา โดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8% อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลน่าจะทรงตัวและปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากธนาคารเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น


          "ในช่วง 1-2 ปีเราระมัดระวังมากขึ้น แต่ปีนี้เราเริ่มกลับมารุกลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งก็เห็นว่าลูกค้าเอสเอ็มอียังมีความต้องการสินเชื่อ ซึ่งดูจากยอดสินเชื่อต้นปีอยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน แต่หลังจากนั้นยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เรายังต้องติดตามเรื่องสงครามการค้าที่จะมีผลต่อธุรกิจให้ชะงักไปบ้าง แต่คิดว่าไม่น่าจะมากนัก"


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 พ.ย. 2561