เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

KBANK - SCB รุกลงทุนนวัตกรรม

ข่าววันที่ : 12 พ.ย. 2561


Share

tmp_20181211111513_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 12 พ.ย. 2561

          Beacon VC จ่อปิดดีล 4-5 โครงการต้นปีหน้า หลังคืบหน้าลงทุนในจีน-ต่างประเทศ 135 ล้านดอลล์ ด้าน DV เตรียมเปิดตัวกองทุนพันธมิตรอีก 1 ราย พ.ย.นี้ เผยกระจายงบไปแล้ว 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


          หลังธนาคารกสิกรไทย ก่อตั้งบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัลฯ (Beacon Venture Capital) หรือ Beacon VC เพื่อร่วมลงทุนในกองทุน VC หรือสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพทั้งด้านนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่รองรับแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร ภายใต้เงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ด้วย นโยบายการลงทุน 2 รูปแบบ คือ ลงทุนโดยตรง ทั้งสตาร์ตอัพไทยและต่างประเทศ และลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) ชั้นนำ


          นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ Beacon VC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีก 4-5 โครงการในปีนี้ ทั้งลงทุนโดยตรงในสตาร์ตอัพ ฟินเทค และลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุน โดยจะใช้เม็ดเงินที่เหลืออีก 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย อนุมัติเพิ่มเป็น 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทยอยลงทุนไปแล้ว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น กองทุน FlowAccount กองทุน Dymon Asia, เวอร์เทคและกองทุนนายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks กองทุนชื่อดังจากซิลิคอน วัลเลย์ โดยยังไม่รวมเงินลงทุนในจีนและต่างประเทศ


          ทั้งนี้การจัดตั้ง Beacon VC เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของกสิกรไทยในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ด้านดิจิตอล จากก่อนหน้าได้ก่อตั้ง KBTG ขึ้นมา เพื่อคิดค้นนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี และจับมือฟินเทคและเทคสตาร์อัพ สร้างนวัตกรรมทางการเงินรองรับดิจิตอลแบงกิ้งที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ล่าสุดทั้ง KBTG และ Beacon VC อยู่ในการ ร่วมทดสอบบริการทางการเงินใน Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อใช้ในการพิจารณาออกหนังสือค้ำประกันดิจิตอลและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟน "GrabPay by KBank" ซึ่ง Beacon VC ลงทุนถือหุ้นในแกร็บ สิงคโปร์ด้วยวงเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯประมาณกว่า 1,600 ล้านบาท


          ขณะที่นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิตอล เวนเจอร์ส จำกัด (ดีวี) กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีวีได้ลงทุนในสตาร์ตอัพ ฟินเทคทั้งรูปแบบลงทุนโดยตรงและผ่านกองทุนร่วมลงทุน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคณะกรรมการธนาคารอนุมัติเงินลงทุนเพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังใช้ทุนประเดิม 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหมด และเฉพาะเงินลงทุนในจีนอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ลงทุนในหลายกองทุนร่วมลงทุนและลงทุนโดยตรงทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และไบโอเมตริกเพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการตอบโจทย์ลูกค้าของธนาคารไทยพาณิชย์ โดยภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เตรียมเปิดตัวพันธมิตรธุรกิจเพิ่มเติม


          ล่าสุดร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยและองค์กรภาครัฐและบริษัทแถวหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมเป็นทางออกให้กับปัญหาสังคม ในเรื่องการปลอมแปลงวุฒิการศึกษา ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Blockchain มาพัฒนาเป็น แพลตฟอร์ม "B.VER (Blockchain Solution for Academic Document Verification)" แพลตฟอร์มดิจิตอลสำหรับการตรวจสอบวุฒิการศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 พ.ย. 2561