เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เศรษฐกิจลูกผีลูกคน

ข่าววันที่ : 17 ต.ค. 2561


Share

tmp_20181710095803_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 17 ต.ค. 2561

          พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์

          เศรษฐกิจโลกทำท่าจะเจริญเติบโต ไปด้วยดี ทำให้เศษรฐกิจไทยมีท่าทีจะไปได้ดีตามไปด้วย แต่กลับเจอพี่เบิ้มป่วนเสียจนองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF : International Monetary Fund) ออกมาประกาศลดอัตราการเจริญเติบโตของโลกลงไป 0.2% เป็นเติบโตในปีนี้ และปีหน้าเพียง 3.7% ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพี่เบิ้มป่วนโลกจะป่วนไปถึงไหน จะเกิดคึกอะไรขึ้นมาได้อีก และจะอยู่อาละวาดไปนานแค่ไหน ถ้าอยู่ถึง 2 สมัย โลกคงจะเจอหายนะอีกมาก
          ตามปกติ IMF จะออกรายงานเศรษฐกิจโลกปีละ 2 ครั้ง คือในเดือน เม.ย. และเดือน ต.ค. ถ้าอ่านรายงานเมื่อเดือน เม.ย.ปีนี้ จะเห็นว่า IMF ยังมีความหวังและมองโลกในแง่ดีถึงแม้จะเริ่มไม่แน่ใจ แต่ก็ยังให้อัตราการเติบโตของโลกเป็น 3.9% จนถึงเดือน ต.ค.ปีนี้ IMF ได้ยอมรับความจริงที่เศรษฐกิจโลกน่าจะลดอัตราการเจริญเติบโตลง เพราะผลกระทบจากพี่เบิ้มออกอาละวาด ซึ่งไม่แน่ใจว่ามันเป็นผลดีหรือร้ายต่อชาวโลกกันแน่ ทางหนึ่งนั้นก็มองได้ว่า เป็นการคานอำนาจจีนที่เติบโตแข็งแกร็งขึ้นทุกวัน จำนวนประชากรก็มหาศาล และคนจีนเป็น
          นักการค้า นักนวัตกรรม เรียกว่าอยู่ในสายเลือด นอกเหนือจากการเป็นนักลอกเลียนแบบ และปลอมแปลง หากได้อ่านประวัติศาสตร์ก่อนสงครามฝิ่นจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของจีน ถึงแม้จะต่างกับในปัจจุบันเนื่องจากในสมัยนั้นมีการคอร์รัปชั่นสูง มีปัญหากระจายรายได้ ทำให้มีช่องโหว่ที่ประเทศในกลุ่มตะวันตกสามารถหยุดยั้งความเจริญเติบโตของจีนได้
          อย่างไรก็ตาม การที่โลกมีลักษณะที่เรียกว่า Globalization และมีห่วงโซ่การผลิตที่พัวพันกันไปทั่ว อย่างปัจจุบันย่อมต่างจากสมัยโบราณ หากพี่เบิ้มอาละวาดแรงเกินไป ย่อมกระทบ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่พัวพันอยู่นี้ด้วย ดังนั้น ปีหน้าจึงต้องเตรียมรับผลกระทบ หรืออาจเรียกได้ว่าแรงกระแทกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ IMF ยังพยากรณ์ว่า ไม่ใช่แต่การเจริญเติบโตของโลกจะลดลงเท่านั้น แต่การค้าสินค้าและบริการก็จะขยายตัวลดลงด้วยเหลือ 4.2% ในปีนี้ และเหลือ 4% ในปีหน้า คือลดลง 0.6% และ 0.5% ตามลำดับ
          นอกจากนี้ สหรัฐ และจีน ซึ่งเป็นคู่ชกโดยตรงจะมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตลดลงเป็น 2.9% และ 6.6% ตามลำดับในปีนี้ ส่วนปีหน้าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงไปอีกเป็น 2.5% และ 6.2% ตามลำดับ สิ่งที่จะตามมาคือการผลิตและการลงทุนจะลดลง ซึ่งในที่สุดการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงไปด้วย แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงกว่าคาด IMF ยังคงพยากรณ์ว่าสหรัฐจะยังมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากการขยายตัวทางการเงิน ขณะที่ยุโรปจะได้รับผล กระทบมากกว่าสหรัฐ คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศยากจนได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากปัญหาเงินทุนไหลออก ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงแรงกดดันจากข้อพิพาททางการค้า
          ประเทศที่เริ่มจะได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลออกจำนวนมากคือ อาร์เจนตินา และตุรกี
          จีนเองก็เตรียมรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่จะเกิดขึ้นแล้ว โดยคาดว่าจะหันมาพึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น นักวิเคราะห์บางคนเกรงว่า จีนจะหันหนีจาก Market Economy ไปสู่ระบบเดิม แต่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากจีนเห็นแล้วว่า การเข้าสู่ระบบ Market Economy นั้น ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับจีนมากมายเพียงใด เพียงแต่จีนจะส่งต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนไปยังประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกันกับสหรัฐ โดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน จีนเป็นระบบการปกครองแบบสั่งได้ ดังนั้น โอกาสรับมือกับสถานการณ์น่าจะมีมากกว่าสหรัฐ แต่สหรัฐคงจะฟาดหัวฟาดหางไปเรื่อยๆ เรียกว่า "ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ"
          แล้วประเทศไทยจะทำอย่างไร IMF เสนอไว้ในรายงานให้กำหนดนโยบายเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้มีความเจริญเติบโตที่ทั่วถึงกัน (Inclusive Growth) และให้มี Cooperative Solution  อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยที่มีบทเรียนจากประสบการณ์ต้มยำกุ้ง น่าจะเตรียมนโยบายและมาตรการหลายๆ อย่างไว้รับมือ ที่สำคัญเห็นได้ชัดว่าบริบทของประเทศไทยนั้น เรายังคงต้องพึ่งพาการส่งออก ไม่ว่าจะกี่ปีกี่ชาติ รัฐบาลพยายามเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุน เข้ามาแทนที่การส่งออกที่ตกเอาตกเอา เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจก็ไม่มีทีท่าว่าจะเงยหัวได้ จนเมื่อปีที่แล้วที่การส่งออกเริ่มจะดีขึ้น จึงมีผลสะท้อนให้เห็นอัตราการเจริญเติบโตที่น่าจะไปได้ถึง 4.8% ในปีนี้ ดังนั้น ไม่ว่า IMF จะเสนออย่างไรแต่ที่แน่นอนคือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คงต้องรีบตักตวงกันให้เต็มที่จากการส่งออกที่ยังไม่น่าจะลดลง อย่างน้อยผลกระทบในระยะสั้นก็ยังเป็นบวก ผลกระทบที่จะมาถึงไทยจริงๆ เห็นชัดๆ จึงเป็นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลคงต้องเตรียมมาตรการรองรับไว้ให้ดี
          ผู้เขียนหวังว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เป็นการลงทุนในโครงสร้าง พื้นฐานสารพัดโครงการ โดยวางเม็ดเงินลงทุนในปีงบประมาณ 2561 ไว้ถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งคงจะพอช่วยประคองเศรษฐกิจไปได้บ้าง เมื่อการส่งออกลดลง โดยเฉพาะเมื่อบวกกับงบประมาณปี 2562 นอกจากนี้ยังมีการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ทั้งการรถไฟ (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ฯลฯ ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนอีกหลายแสนล้านบาทถึงจะมีข่าวว่า ปลายปีงบประมาณ 2561 รัฐวิสาหกิจเหล่านี้เบิกจ่ายจริงได้เพียง 50% ก็ตาม ประกอบกับยังมีการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วย จึงต้องกลับมาฝากความหวังไว้กับการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนอีกครั้งหนึ่ง
          ผู้เขียนหวังว่าคราวนี้คงจะไม่ผิดหวังอีก ที่สำคัญคือขอให้เม็ดเงินได้ลงสู้เศรษฐกิจจริงๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าไปลงในกระเป๋าใครต่อใครที่คนของรัฐบาลนี้ถือว่าเป็นพรรคเป็นพวกและไม่ยอมแตะต้องก็แล้วกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เห็นจะเป็นกรรมของประเทศ และประชาชนคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 17 ตุลาคม 2561