เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

บาทอ่อนคลายกดดัน นโยบายการเงิน

ข่าววันที่ : 20 ส.ค. 2561


Share

tmp_20182008133517_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 20 ส.ค. 2561

          ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

          ตลาดเงินตลาดทุนไทยเผชิญ ความผันผวนอย่างหนักหน่วงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ จุดชนวนสงครามการค้ากับจีนด้วยการประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าสำคัญ สะเทือนประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยไปแล้ว 1 รอบ ทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น


          ล่าสุดปัญหาวิกฤตการเงินตุรกี ซึ่งมาจากนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐที่ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากตุรกี ประจวบกับตุรกีมีพื้นฐานเปราะบาง เงินเฟ้อสูง 16% หนี้ต่างประเทศถึง 50% ต่อจีดีพี ทำค่าเงินลีราร่วงไปถึง 40%


          ตลาดเงินตลาดทุนไทยซึมซับทุกปัญหา เพราะตลาดมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็ล้วนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ขณะที่ตุรกีก็เป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนั้น จึงถูกเหมารวมไปก่อนว่ามีความเสี่ยง


          สถานการณ์ต่างๆ กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งที่ในไตรมาสแรกภาพเงินบาทออกไปในโทนแข็งค่าไปราว 4.23% แต่นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูกาลจ่ายเงินปันผลต่อเนื่องมายังปัญหากีดกันทางการค้า ณ วันที่ 18 ส.ค. 2561 เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 6.1% โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลง 2.51% เงินบาทเคลื่อนไหวระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ


          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีสัญญาณว่าเข้าไปดูแลค่าเงินบาทเป็นระยะ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนกระทบกับผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้ฝืนทิศทางตลาด โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค
          ทางด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายของต่างชาติในตลาดหุ้นค่อนข้างชัดเจนว่าไหลออก เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตรที่มีสถานะต่างชาติขายสุทธิ แต่ในรายละเอียดจะพบว่าต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิพันธบัตรระยะยาว 1.3 หมื่นล้านบาท

          กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ประเทศที่เงินเฟ้อต่ำนักลงทุนจะไม่ชอบตลาดหุ้น เพราะสะท้อนแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตช้า แต่ชอบตลาดพันธบัตรที่มีโอกาสเก็งผลตอบแทนระยะยาวได้ อย่างไรก็ตามการที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำก็ไม่จูงใจให้นักลงทุนอยู่ในพันธบัตรระยะสั้น เพราะประเทศที่เครดิตเรตติ้งดีกว่า ดอกเบี้ยกลับสูงกว่า เงินระยะสั้นย่อมไหลออกไปหาประเทศนั้น


          ทั้งนี้ หากพิจารณาความเคลื่อนไหวตลาดที่เกิดขึ้น กลายเป็นอานิสงส์ทางบวกต่อประเทศไทยที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ไม่ต้องมีแรงกดดันให้ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามตลาด


          ข้อแรก เงินไหลออก ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เป็นผลดีกับรายได้ของผู้ส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ในภาวะที่ภาคการส่งออกกำลังเฟื่องฟู ตุนพลังก่อนที่จะไปปรับตัวรองรับปัญหากีดกันทางการค้า และยังคาดหวังว่าสหรัฐกับจีนทะเลาะกัน สองประเทศนั้นจะหันมาซื้อของไทยแทน โดยการส่งออกเป็นฟันเฟืองหลักที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้


          ข้อสอง เงินที่ไหลออกเป็นเงินร้อนเพื่อเก็งกำไร ผลตอบแทนที่เป็นตัวสร้างความผันผวนของตลาด ก่อนหน้านี้ที่เงินบาทแข็งค่าจากเงินกระหน่ำไหลเข้า ธปท. ต้องออกมาตรการลดการออกพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งเหตุการณ์คลี่คลายและการออกพันธบัตรกลับสู่ภาวะปกติ


          ข้อสาม ตัวเลขการขาดทุนทางบัญชีของ ธปท. ที่เคยถูกตีข่าวไปไกล เมื่อเงินบาทอ่อนค่า บัญชีของ ธปท.ก็ดีขึ้น ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงมากนัก เพียงแค่ดูแลให้มีความเหมาะสมเท่านั้น


          ถ้าสังเกตอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.5% ส่วนสหรัฐอยู่ที่ 1.75% ไทยต่ำกว่าสหรัฐทั้งที่เครดิตต่ำกว่า แต่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นอย่างที่เรียนมา ที่เงินจะไหลออกไปมากๆ เงินบาทอ่อนค่าแรง เป็นตัวเร่งให้ประเทศที่เครดิตต่ำต้องขึ้นดอกเบี้ยที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะพื้นฐานประเทศไทยที่พึ่งพาหนี้ต่างประเทศน้อย พึ่งพาเงินทุนต่างชาติสัดส่วนไม่ถึง 10% และทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ และยังดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง แม้เงินไหลออกไปบ้าง ไทยเราก็มีกันชนรองรับได้

          คำถามถัดมาคือ ไทยจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ เมื่อทุนเคลื่อนย้ายเบาใจไปได้จากพื้นฐานที่ดี น้ำหนักที่ให้จึงเป็นการขยายตัวเศรษฐกิจที่ "กระจายตัว" อย่าง "มั่นคง" ไปถึงฐานราก ไม่ใช่แค่ตัวเลขจีดีพีสูงๆ และอัตราเงินเฟ้อ "เข้ากรอบ" อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งแม้เงินเฟ้อถึงกรอบล่าง 1% แล้วก็ตาม แต่ก็มาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเสียเป็นส่วนใหญ่

          ตราบใดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่มั่นใจกับตัวเลขที่เห็น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะต้องคงที่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปสักระยะ ซึ่งสำนักวิจัยบางแห่งมองว่ากว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในรอบ 2 ปี คงไปเห็นต้นปีหน้า บางแห่งมองว่าอาจจะเห็นขึ้นปลายปีนี้ 1 ครั้ง และบางแห่งเชื่อว่าจะขึ้น 2 ครั้งในปีนี้

          โดยตัวแปรที่ทำให้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้คือสภาพคล่องลดลง   ขณะนี้สภาพคล่องไทยท่วมท้นอยู่ก็จริง แต่เริ่มเห็นสัญญาณการดึง สภาพคล่องกลับสหรัฐไปแล้ว และถ้าเป็นไปตามดอตพล็อตของคณะ

          กรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) ช่วงที่เหลือของปี สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ไปจบที่ 2.25% ซึ่งความต่างดอกเบี้ยเกือบ 1% มีผลแน่นอน


          ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ระบุชัดว่า จะเลิกการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ในปลายปีนี้ และเตรียมขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สภาพคล่องหายไป

          ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 4 เป็นไฮซีซั่นของประเทศไทยทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว เงินต่างชาติจะไหลเข้ามามากเป็นพิเศษ สังเกตจากดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลมากในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาสแรกของทุกปี ต่อให้เงินไหลออกจากนักลงทุน แต่ก็มีเงินจากผู้ส่งออกและนักท่องเที่ยวเข้ามาชดเชย

          ค่าเงินบาทที่เหมือนจะอ่อนค่าลง จึงมีโอกาสที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าได้จากปัจจัยฤดูกาลนี้เอง เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจัยเสี่ยงต่อเงินทุนไหลเข้าออกถูกพูดถึงกันมามากแล้ว ทั้งสงครามการค้า ดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้น นโยบายการเงินโลกต่างๆ นานา ดังนั้นมุมมองตลาดจึงเบื่อและกลับมามองปัจจัยพื้นฐานอีกครั้ง

          ดังนั้น ในช่วงปลายปีเป็นช่วง วัดใจเหมือนกันว่าเงินทุนต่างชาติที่มีทิศทางไหลออกนั้น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ว่ากันว่าแข็งแกร่งดังหินผาจะรับมือได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยน่าจะเบาแรงกระแทกได้บ้าง เพื่อประคองให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายได้ต่อไป เพื่อรอเศรษฐกิจในประเทศ ฟื้นตัวอย่างแท้จริง

          สิ่งที่ต้องย้ำเสมอคือ ค่าเงินบาทไม่สามารถคาดเดาได้แน่นอนว่าจะไปทิศใด เคยมองอ่อนก็กลับแข็ง ที่คิดว่าจะแข็งตั้งแต่ต้นปี ก็อ่อนค่ามาให้เห็นแล้ว ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เปราะบางกว่ารายใหญ่ ยิ่งต้องปิดความเสี่ยงค่าเงิน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์   20 สิงหาคม 2561