เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ความเป็นผู้นำ

ข่าววันที่ : 9 ก.ค. 2561


Share

tmp_20180907101231_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 9 ก.ค. 2561

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP


          ไม่มีใครในประเทศไทยที่จะไม่ทราบเรื่องของ สิบสามนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอคาเดมี จังหวัดเชียงราย มี เรื่องเล่ามากมาย และมีผู้วิจารณ์ไปแล้วมากมาย ซึ่งดิฉันจะขอกล่าวถึงเพียงส่วนเดียว ส่วนนั้นคือเรื่องเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ ซึ่งส่วนหนึ่งของ บทความนี้ ดิฉันขอให้เครดิตกับ คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
          ดิฉันเคยเขียนเรื่องคุณสมบัติที่พึงประสงค์ 5 ประการ และ ไม่พึงประสงค์ 5 ประการของผู้นำไว้ในคอลัมน์ Money Pro ตั้งแต่ปี 2552 โดย ดร. วี เชา ฮุย โดยสรุปย่อคุณสมบัติที่พึงประสงค์ คือ มีความฉลาดลุ่มลึก มีความน่าเชื่อถือ มีจิตใจดี มีความกล้าหาญ และมีวินัย  ส่วนคุณสมบัติที่ไม่พึงประสงค์ คือ ความประมาทเลินเล่อ ความขี้ขลาด ใจเร็ว อารมณ์ร้อน การถือเรื่องศักดิ์ศรีมากเกินไป และ ใจอ่อนมากเกินไป  ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามค้นหาอ่านได้นะคะ
          สำหรับคุณสมบัติที่ผู้นำในยุคดิจิทัลควรจะมีที่ดิฉันเห็นตัวอย่างจากท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ คือ การเปิดรับ เปิดรับฟังข้อมูล เปิดรับ ความคิดเห็น และไอเดียใหม่ๆ การเปิดรับนี้ ทำให้มีข้อมูลมากขึ้น เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ การมีข้อมูลมากจะช่วยให้การตัดสินใจ รอบคอบขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องแลกกับเวลาด้วยค่ะ ใช้เวลารอข้อมูลมาก จนโอกาสหายไป หรือตัดสินใจไม่ทัน ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง
          สอง มีความน่าเชื่อถือ  หากไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้มาถูกต้อง หรือไม่ ต้องไม่กระจายข้อมูลหรือข่าวออกไป แต่จะพูด หรืออ้างถึง เมื่อได้ตรวจสอบจนแน่ใจแล้ว เมื่อทำอย่างนี้จนเป็นกิจวัตร ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง  ผู้นำต้องมีความน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้ คนรับฟัง และมีศรัทธาในสิ่งที่ตนพูด
          สาม วางแผนอย่างมีระบบ เรื่องนี้คนที่เป็นวิศวกรมักจะมี ความถนัดเป็นพิเศษ เพราะในการเรียน และในวิชาชีพ ต้องมีการ วางแผนตลอดเวลา เนื่องจากหากมีความผิดพลาด อาจหมายถึง อันตรายถึงชีวิต
          ดิฉันเห็นว่าทุกหน่วยงานการศึกษา ต้องสอนให้เยาวชน รู้จัก การคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ  แผนอาจจะไม่ต้องละเอียด คิดไป ทำไป ปรับแก้ไขไปได้ แต่ต้องมีภาพรวม ต้องมีแผนหลัก มิฉะนั้น การทำกิจกรรมใดๆ โดยเฉพาะที่มีความซับซ้อน มีความเสี่ยง จะสำเร็จได้ยากค่ะ
          ที่เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่ง คือ การวางแผนข้ามช็อต  คือ ต้องมองล่วงหน้าไปอีกว่า เมื่อเป้าหมายแรกบรรลุแล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไรให้บรรลุเป้าหมายที่สอง เพราะเท่าที่ดิฉันสังเกต ไม่ว่า จะเป็นการทำงาน หรือการแข่งขันต่างๆ คนไทยเราจะมัวดีใจเมื่อ บรรลุเป้าหมายแต่ละเป้า และใช้เวลาดีใจนานเกินไป จนไม่มีเวลา เตรียมตัวบรรลุเป้าหมายต่อไป  ทำให้ไปถึงเส้นชัยช้ากว่าคนอื่น หรืออาจไปไม่ถึงเส้นชัย เป็นที่น่าเสียดาย
          สี่ ใช้ประโยชน์จากความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญ  ผู้นำไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง  ผู้นำที่ดี ต้องสามารถหาผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาช่วยในงานแต่ละด้าน โดยสามารถประสานงานให้ทุกอย่างออกมา ได้ดีที่สุด ภายใต้สถานการณ์นั้นๆ
          ห้า ผู้นำต้องเด็ดขาด เมื่อได้ข้อมูลแม้อาจจะไม่ครบถ้วน แต่เพียงพอที่จะปฏิบัติงาน และเมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจก็ต้อง ตัดสินใจ ไม่ลังเล และพร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อผลที่ได้รับ
          ทั้งหมดนี้เป็นห้าข้อหลักๆ ที่อยากจะฝากผู้นำองค์กรไม่ว่า จะเป็นภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ เอาไว้ค่ะ
          ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีหน่วยงานดูแล เรื่องการจัดการภัยพิบัติ หรืออุบัติภัยแบบรวมศูนย์ เพื่อนของดิฉัน ที่อยู่ต่างประเทศมานาน เคยให้ข้อสังเกตนี้ ตั้งแต่คราวที่เกิด สึนามิ ในปี 2547 ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีหน่วยงานสาธารณกุศล คอยดูแลเรื่องอุบัติภัยหลายหน่วยงาน แต่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานบรรเทาทุกข์ คือเกิดเหตุแล้วเข้าไปดูแล  เรายังไม่มีหน่วยงานกลาง ที่จะเป็นจุดศูนย์รวมในการจัดการกับภัยพิบัติหรืออุบัติภัย โดย การประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ
          นอกจากนี้ เรายังขาดข้อมูลการจัดการด้วยค่ะ ว่าใครมี ทรัพยากรอะไร มีความชำนาญอะไร ทำอะไรไปถึงไหน ข้อมูลของเรา ก็กระจัดกระจาย ตอนเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 เราก็พบว่า ข้อมูลการจัดการน้ำของเราก็กระจายอยู่หลายหน่วยงานมาก ทำให้ ผู้เกี่ยวข้อง ตัดสินใจบนข้อมูลบางส่วน และขาดภาพรวมทั้งหมด หลายประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา เริ่มมีหน่วยงานนี้แล้ว
          ถึงเวลาแล้วที่จะจัดตั้งหน่วยงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติที่จะช่วยผู้นำท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้บัญชาการในการจัดการกับภัยพิบัติ หรืออุบัติภัย โดยเป็นหน่วยรวม ข้อมูลทุกอย่าง รวมถึงรายชื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งของในและต่างประเทศ  และถ้าตั้งขึ้นมาแล้ว จะหาหัวหน้าหน่วยงานคนแรก ดิฉันขอเสนอท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ค่ะ


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 9 กรกฎาคม 2561