เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

รัฐต้องหาทางออก รับมือศึกค้าโลก

ข่าววันที่ : 26 มี.ค. 2561


Share

tmp_20182603113513_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 26 มี.ค. 2561

          วารุณี อินวันนา
          รัฐต้องหาทางออกรับมือศึกค้าโลก

         
          การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามบันทึกตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครอบคลุมสินค้ากว่า 1,300 รายการ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกากำลังละเลยกรอบปฏิบัติขององค์กรกลางระหว่างประเทศอย่างองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้ภาษีมากีดกันการค้า
          น่าแปลกใจที่วันนี้ยังไม่เห็นดับเบิ้ลยู ทีโอออกมาแสดงท่าทีอะไรกับการ กระทำของสหรัฐอเมริกา
          ในขณะที่จีนมีการตอบโต้ทันควันด้วยการจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยมูลค่ารวมเพียง 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 5% น้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าภาษีรวมที่จะต้องเสียให้กับสหรัฐอเมริกา 6 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าจีนไม่ต้องการตอบโต้รุนแรง
          ทว่า การตอบโต้ของจีนมีนัยสำคัญทางการเมืองซ่อนอยู่ เพราะคาดการณ์กันว่าสินค้าที่จีนจะขึ้นภาษี นำเข้าจากสหรัฐ 15% นั้น จะมุ่งไปที่สินค้าเกษตรที่มาจาก 12 มลรัฐ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกรายใหญ่มาที่จีน โดยมีถึง 10 มลรัฐที่โหวตเสียงให้ทรัมป์ต้องติดตามดูว่านักการเมือง ท้องถิ่นใน 10 รัฐ จะกดดันให้ทรัมป์ผ่อนปรนการขึ้นภาษีได้หรือไม่
          แม้ว่าจีนจะตอบโต้แบบเบาๆ แต่บรรยากาศการค้าโลกเริ่มตึงเครียด เพราะทั้งคู่ต่างเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลกและเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันคิดเป็น 40% ของจีดีพีโลก ความขัดแย้งกันย่อมส่งผลไป ทั่วโลก ในยุคการค้าไร้พรมแดนที่ประเทศต่างๆ พึ่งพาสินค้าซึ่งกันและกัน
          นักลงทุนเริ่มกังวลว่าสงครามการค้า
          ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ตลาดเกิดอาการตื่นตกใจถึงกับเทขายหุ้นในตลาดทุนขนาดใหญ่ของโลกออกมาถ้วนหน้า เพื่อเก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัย
          ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยังไม่สามารถประเมินผล กระทบจากการที่สหรัฐจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในสินค้า 1,300 รายการ ว่าจะมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่ชัดคือสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับไทยรอบด้านอย่างแน่นอน
          เหตุการณ์ครั้งนี้จะนำความ ปั่นป่วนต่อโลกมากน้อยแค่ไหนต้องติดตาม เพราะเป็นห่วงว่าทรัมป์กำลังพาโลกไปสู่อันตราย เนื่องจากยัง ไม่เคยมีประเทศมหาอำนาจใดที่ใช้มาตรการภาษีมากีดกันการค้านับ ตั้งแต่ปี 1930 หรือปี 2473
          ในช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันการค้าจนก่อให้เกิดความตึงเครียดไปทั่วโลก มีการลด ค่าเงินเพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการ ส่งออก จนนำมาซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ดับเบิ้ลยูทีโอ และธนาคารโลก เพื่อใช้เป็นทางออกไม่ให้ มีประเทศใดใช้ภาษีมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า
          แต่ขณะนี้ทรัมป์กำลังจะละเลยกฎเกณฑ์นั้น
          หากทรัมป์ยังเดินหน้าใช้มาตรการดังกล่าว รัฐบาลไทยจะต้องเร่งหาทางออก เพื่อลดผลกระทบรอบด้าน ทั้งการส่งออก การนำเข้า การค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
          ผลกระทบด้านการส่งออก ไทยส่งออกไปจีนประมาณ 11-12% ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา 10% รวมเป็น 20% แล้ว ที่น่ากลัวกว่านั้น คือ ทั้งโลก
          มีการเชื่อมโยงกันด้วยห่วงโซ่การ ผลิตไทยก็เป็นหนึ่งในห่วงโซ่นั้น
          จากการประเมินของ เมอร์รินลินซ์ ได้นำตัวเลขแบงก์ออฟอเมริกา และดับเบิ้ลยูทีโอนำมาประเมินซัพพลายเชนของจีน ไทยติดอันดับ 6 โดยมีไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับต้นๆ
          ในมุมของห่วงโซ่ของการผลิตโลกคำนวณจากดับเบิ้ลยูทีโออันดับ 1 คือ ไต้หวัน รองลงมา คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย โปแลนด์ และไทย อยู่อันดับ 6 เช่นกัน โดยไทยมีห่วงโซ่การผลิตของการส่งออกสินค้าที่ประเทศต่างๆ นำไปประกอบต่อ คิดเป็นประมาณ 15%
          อย่าคิดว่าส่งออกไปจีนไม่ได้ก็หนีส่งออกไปประเทศอื่นแทนแล้วจะรอดพ้นจากผลกระทบ เพราะจีนมี การพึ่งพาสินค้าจากฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ถ้าประเทศ เหล่านี้ส่งออกไปจีนไม่ได้ ไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกอีกระลอก
          ผลกระทบด้านการนำเข้า ไทย มีนำเข้าสินค้าที่นำมาผลิตต่อประมาณ 39% ส่วนที่เหลือไทยใช้วัตถุดิบ ภายในประเทศ
          ผลกระทบกับตลาดเงิน ตลาดทุน การที่ไทยติดอันดับ 6 ของซัพพลายเชนโลก หากส่งออกไม่ได้ การผลิตภายในไม่เกิด จะทำให้เงินไม่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งทางตรงและผ่านตลาดทุน อีกทั้งยังจะสร้างความ
          ปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน ตลาดเงิน ทั้งภูมิภาคเอเชีย เพราะ 15 ประเทศแรกที่เป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลกนั้น มีประเทศในเอเชียถึง 11 ประเทศ
          ซ้ำเติมปัจจัยเสี่ยงตลาดเงินตลาดทุนเพิ่มจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปีนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งไปอยู่ที่ 2-2.25% จาก 1.75%
          และปี 2562 จะขึ้นอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 3% และปี 2563 จะไปอยู่ที่ 3.5% ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง
          มูลค่าสินทรัพย์ก็จะปรับตัวลดลงเช่นกัน
          ปัจจุบันรัฐบาลไทยและหน่วยงานต่างๆ ล้วนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่กำลังฟื้นตัวแบบครอบคลุมทุกด้าน แต่เริ่มมีสัญญาณที่ต้องระวัง อาทิ การจ้างงานลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรราคาลดลง ขณะที่การส่งออกดีขึ้นแต่ไม่มีการขยายการจ้างงานมาถึงปัจจุบัน เงินเดือนลดลง คนที่เคยมีงานทำมาก่อนว่างงานร่วม 8 หมื่นตำแหน่ง
          แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มาจากการส่งออกนั้น ยังกระจายลงไปไม่ถึงชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานที่เป็นฐานรากของประเทศ
          ภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจริง แต่เป็นแบบกระท่อนกระแท่น และสัญญาณการฟื้นตัวเริ่มแผ่วมาตั้งแต่ไตรมาส 4 การเติบโตของจีดีพีประเทศสหรัฐอเมริกาในไตรมาสแรกปี 2561 อาจไม่ถึง 2% จากที่คาดการณ์ว่าจะโต 2.4-2.7%
          ต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 2 มายืนยันอีกครั้งหากเศรษฐกิจโลกไม่โต จะส่งผลให้การส่งออกของไทยต่ำ ซึ่งเดือน ก.พ.ปีนี้ การส่งออกของไทยเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. และมูลค่าการส่งออกของไทยที่เป็น เงินบาทติดลบ
          วันนี้ รัฐบาลไทยต้องเร่งหาวิธีรับมือสงครามการค้าโลกที่จะสร้างความปั่นป่วนอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะในช่วงนี้พื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศกำลังฟื้นตัวและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐกำลังเดินหน้า อย่าให้ผลกระทบของสงครามการค้าเข้ามาบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้หยุดชะงัก


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  26 มีนาคม 2561