เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เพิ่มผลิตภาพในการทำงานด้วยการจัดวางออฟฟิศ

ข่าววันที่ : 26 มี.ค. 2561


Share

tmp_20182603104436_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 26 มี.ค. 2561

          ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
          www.econ.nida.ac.th;piriya.pholphirul.blogspot.com


          วันนี้ผมมีโอกาสได้เข้าเมือง (ต่าง จากปกติที่มักอยู่แถวทุ่งบางกะปิ) มาบรรยายที่บริษัท Deloitte (Thailand) ตรงถนนสาทร ทำให้มีโอกาสได้เปิดหูเปิดตาและตื่นตาตื่นใจไปกับการจัด วางออฟฟิสสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่าง จากออฟฟิสในแบบเดิมๆ โดยเฉพาะกับแบบราชการที่ผมคุ้นเคยเป็นอย่างมาก การจัดวางออฟฟิศเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งต่อการเพิ่ม (หรือลด) ผลิตภาพในการทำงาน เนื่องจากพนักงานมักถูกคาดหวังว่าต้องทุ่มเทกับการทำงาน พนักงานส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องใช้เวลาที่ออฟฟิศมากกว่าที่บ้าน ดังนั้นการจัดวางออฟฟิศให้น่าอยู่ และน่าทำงานจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
          ทั้งนี้ ในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม การจัดวางออฟฟิศส่วนใหญ่จะจัดในลักษณะของแบบคอกปิด (Closed Cubical) ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของการใช้พื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพนักงาน
          อย่างไรก็ตาม ด้วยการทำงานในปัจจุบันที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ รวมถึงการทำงานเป็นทีม การจัดออฟฟิศสมัยใหม่จึงเป็นลักษณะของการเปิดพื้นที่มากขึ้น (Open Plan) โดยการมีโต๊ะประชุมใหญ่ๆ เป็นหลัก มีมุมพักผ่อนและมุมที่พนักงานจะสังสรรค์กันเพิ่มขึ้น มีไว-ไฟความเร็วสูง (มาก)
          นอกจากนี้ ยังเลือกที่จะใช้สีสันในการตกแต่งมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งสีแต่ละสีเองก็ส่งผลทางด้านจิตวิทยาที่แตกต่างกัน (เช่น สีฟ้าช่วยเพิ่มความสงบใจ สีเขียวเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ สีแดงเพิ่มพลังในการทำงาน สีน้ำตาลเพิ่มความขี้เกียจ หรือสีชมพูช่วยลดความก้าวร้าว เป็นต้น) ในขณะที่หัวหน้างานก็จะเลือกจัดออฟฟิศแบบเข้าถึงง่าย เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานการทำงาน ในขณะที่หัวหน้างานเองก็ง่ายต่อการสอดส่องดูแลพนักงาน
          จริงๆ แล้วการจัดแบบ Open Plan นี้ก็มีข้อเสียเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่มีความเป็นส่วนตัว การไม่มีสมาธิในการทำงานบางประเภท (ที่ต้องการสมาธิเป็นหลัก) รวมไปถึงปัญหาในด้านการรักษาความลับทางการค้าและสัญญาการค้าต่างๆ เป็นต้น
          จากการสำรวจของบริษัท Dale Office Inter พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า การจัดวางออฟฟิศที่มีส่วนผสมของทั้งสถานที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนจะมีส่วนสำคัญต่อการลดความเครียดจากงานสร้างความยืดหยุ่นจากการทำงานในแต่ละประเภท และยังช่วยเพิ่มผลิตภาพในการทำงาน
          นอกจากนี้ ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ส่งผลให้ลักษณะของงานเกิดการเปลี่ยนแปลง อันทำให้เกิดลักษณะของออฟฟิศสำหรับอนาคต (Office in the Future) ขึ้นโดยมีลักษณะดังนี้
          1.การทำงานระยะไกลจะมีโอกาสเกิดมากขึ้น โดยจากการศึกษาของ Fuze Research พบว่าประมาณ ร้อยละ 83 ของคนงาน ไม่คิดว่าพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานอยู่ที่ออฟฟิศตลอดเวลา ในขณะที่ประมาณร้อยละ 38 ระบุว่า เขาเหล่านั้นชอบในการทำงานระยะไกล (Remote Work) มากกว่า
          2.ด้วยแนวโน้มของงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ออฟฟิศในลักษะทางกายภาพมีแนวโน้มลดลง และถูกเปลี่ยนเป็นแบบการใช้ออฟฟิศร่วมกัน (Collaborative Office Space) มากขึ้น
          3.การทำงานในโต๊ะประจำ เดิมๆ จะเริ่มหมดไป ในขณะที่การทำงานในลักษณะของโต๊ะประชุมหรือการทำงานในร้านกาแฟจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาก
          4.ชั่วโมงการทำงานแบบจาก 9 โมงถึง 5 โมงเย็น จะเริ่มหายไป แต่จะเป็นการทำงานในลักษณะของ 7 วัน 24 ชั่วโมง หรือเป็นลักษณะของงานที่จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
          ดังนั้น การจัดวางออฟฟิศที่ เหมาะสมจึงควรเน้นไปที่ "ความหลากหลาย" สำหรับพนักงานที่ทำงานในแต่ละประเภท และที่มีสไตล์การทำงานที่หลากหลาย เช่น อาจมีทั้งแบบคอกสำหรับพนักงานที่ต้องการความสงบ มีแบบโต๊ะใหญ่เปิดสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานเป็นทีม มีแบบห้องสำหรับงานที่ต้องการประชุม มีแบบนอนทำงานสำหรับงานที่ต้องการไอเดียใหม่ๆ เป็นต้น
          โดยไม่จำเป็นที่พนักงานจะต้องนั่งทำงานที่โต๊ะเดิมๆ ของตัวเอง แต่สามารถปรับเปลี่ยนโต๊ะทำงานได้ตามความต้องการ รวมไปถึงมีมุมตรงกลางที่จะให้พนักงานได้พักผ่อน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเครียดจากการทำงาน ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ลดความน่าเบื่อจากการทำงาน พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ลดอัตราการลาออกจากงานได้


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  26 มีนาคม 2561