เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

งบแสนล้านกำลังหมุนไปอัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากเสริมแกร่งชุมชน

ข่าววันที่ : 26 มี.ค. 2561


Share

tmp_20182603102913_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 26 มี.ค. 2561

          แนวทางสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ตาม "โครงการไทยนิยมยั่งยืน" เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นภายหลังทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจากภาครัฐดาวกระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศเคาะประตูบ้านประชาชน 83,151 หมู่บ้าน เริ่มคิกออฟไปแล้วในระยะแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นทีมขับเคลื่อนจะสร้างการเรียนรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคมในระยะที่ 2 (21 มี.ค.-10 เม.ย. 61) ตลอดจนสร้างการรับรู้และปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ในระยะที่ 3 (11-30 เม.ย. 61) และระยะที่ 4 (1-20 พ.ค. 61) อย่างต่อเนื่อง
          ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ที่จะใช้อัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ด้วยเสียงท่วมท้น 183 เสียง มีผู้งดออกเสียง 3 เสียง


          สมคิดหวังศก.ฐานรากปก
          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่าจะเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ และการรักษาวินัยการคลัง แบ่งเป็น การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงานกว่า 76,000 ล้านบาท และการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเงินคงคลังที่จ่ายไปแล้วกว่า 49,600 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัว 3.6-4.6% ดีขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัว 3.9%

 

          เงินผ่านพร้อมเพย์กันรั่วไหล
          นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้น แม้จะต้องใช้การกู้เงินเพิ่มเติมแต่ไม่เกินกรอบของการก่อหนี้สาธารณะภายในประเทศ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดสรรงบประมาณสู่ฐานรากจะรั่วไหลนั้น ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาคือใช้ระบบ
          "โอนเงินผ่านพร้อมเพย์" หรือโอนเงินตรงไปยังประชาชนและชุมชนโดยไม่ผ่านคนกลาง ขณะที่งบเพื่อชดเชยเงินคงคลังส่วนรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีไม่เพียงพอ และต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกปีนั้น ยืนยันว่าจะปรับระบบพยาบาลหรือจ่ายยาผ่านบัตรประชาชนเพื่อไม่ให้มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการเบิกจ่ายยาได้
          งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้อยู่ วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ได้กู้เงินเพิ่มเพราะรายได้ของเรามีไม่ถึง ซึ่งต้องกู้เงินเพิ่มเติม 4.5 แสนล้านบาท ส่วนการตั้งงบเพิ่มเติม วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีกแสนล้านบาท จะไม่เป็นภาระเท่าไร หากสนช.ผ่านร่างกฎหมายจะทำให้เรามีตัวเลขหนี้สาธารณะที่ 41% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกินอัตราที่ 60%
          "เชื่อว่าปีนี้จีดีพีจะโตกว่า 4% โดยเศรษฐกิจจะไหลลงล่างต้องใช้เวลา รัฐบาลจึงเร่งเอาความร่ำรวย รายได้ให้ไหลไปสู่ข้างล่างโดยเร็วเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น"

 

          แสนล้านช่วยเกษตร-แก้จน
          สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประ มาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท แยกเป็นเพื่อดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล จำนวน 100,358,077,000 บาท มีสาระสำคัญ ดังนี้
          1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ จำนวน 24,300,694,500 บาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอด คล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต
          2.ยุทธ- ศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057,382,500 บาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวน การประชาคม และ 3. เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว 49,641,923,000 บาท

 

          กองทุนหมู่บ้านฯ ไม่ซ้ำซ้อน
          ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ได้อภิปรายสนับสนุนร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2561 ประเด็นที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ตั้ง ข้อสังเกตว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20,000,000,000 บาท 2. กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือที่รู้จักในชื่อของบัตรคนจนจำนวน 13,872,513,200 บาท อยู่ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนเหมือนกันจะทำให้เกิดความทับซ้อนหรือไม่
          นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า งบประมาณกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตและพัฒนาการประกอบอาชีพ ไม่ใช่การเพิ่มทุนเพื่อนำไปสู่การกู้ยืมแต่อย่างใด รัฐบาลชุดนี้ได้ให้งบประมาณช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 และที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งที่ 3 มีลักษณะเดียวกัน คือ การให้งบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องเปิดบัญชีใหม่ ไม่ใช่บัญชีที่ใช้สำหรับการกู้ยืม แต่จะเป็นบัญชีใหม่เพื่อจะทำให้เห็นว่ากิจการที่ลงไปทำนั้นมีรายได้และกำไร โดยรายได้และผลกำไรจะต้องนำไปสู่สวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกกองทุน
          "ขณะนี้กองทุนหมู่บ้านฯมีทั้งหมด 79,595 กองทุนทั่วประเทศ มีกองทุนหมู่บ้านฯที่ด้อยคุณภาพประมาณ 9,000 กองทุน และกำลังดำเนินการฟื้นฟูอีกประมาณ 3,000 กองทุน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ"
          ก่อนหน้านั้นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุถึงการขับเคลื่อนนโยบายไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท โดยงบก้อนใหญ่สุดประมาณ 20,000 ล้านบาท จะให้กับหมู่บ้าน ชุมชนจำนวน 82,000 กว่าแห่ง หมู่บ้านละ 200,000 บาท ส่วนงบอีก 2,500 ล้านบาท จะสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมอบให้กับชุดที่จะตรวจสอบผู้ถือบัตรตามที่ใช้จริง และงบที่เป็นของมหาดไทยโดย ตรงคืองบกว่า 9,000 ล้านบาท คือ งบพัฒนาโครงการโอท็อป
          งบประมาณที่กระทรวงมหาดไทยได้รับ จะทำแผนงานจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งได้สั่งการให้นำภาคเอกชน ประชาสังคม มาร่วมพิจารณาและเบิกจ่ายตรงโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ไม่ผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อความโปร่งใส เพราะคิดว่าเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงมาสอบถามว่า มีการทุจริตตรงไหนบ้าง การให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นการฉีดวัคซีนไว้ก่อน
          ต้องจับตาว่าหลังเม็ดเงินที่กำลังจะลงถึงมือประชาชน ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน11.4 ล้านคน ยังไม่นับรวมผู้ด้อยโอกาส คนชรา และผู้พิการ จะลืมตาอ้าปากได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นนิมิตใหม่ที่ดีที่รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับประชาชนระดับฐานราก
          "เน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้"


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 25 - 28 มี.ค. 2561