เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ฟื้นเทศกาลข้าวใหม่ ในยุคใหม่

ข่าววันที่ : 12 ธ.ค. 2560


Share

tmp_20171312110913_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 13 ธ.ค. 2560

          ศ.ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว ให้ข้อมูลว่า ในฝั่งคนไทยมีความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญดี ขวัญเข้มแข็ง ในช่วงปีใหม่หรืองานมงคลเราจึงมอบ "ของขวัญ" อันมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าคำว่า gift ของฝรั่ง ซึ่งมีที่มาจากคำว่า "ให้" ความหมายของไทย คือ การเพิ่มพูนมิ่งขวัญ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ เป็นพื้นฐานของชีวิตคนไทย เราจึงเชื่อว่า "ข้าวมีขวัญ" มีความเป็นสิริมงคลในตัวเอง เห็นได้ว่าชาวนาไทยทำขวัญข้าวฤดูกาลละหลายๆ รอบ เช่น ตอนเริ่มปลูก ตอนข้าวตั้งท้อง ออกรวง ฯลฯ ข้าวจึงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว หลังฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนจะเฉลิมฉลองข้าวใหม่ซึ่งมีความหอมหวานอร่อยมากที่สุด เราต้องถวายข้าวใหม่ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระสงฆ์ก่อน นับว่าเป็นการเริ่มเทศกาลข้าวใหม่ แล้วจึงกินข้าวใหม่ในครอบครัวหรือชุมชน และมักจะหาฤกษ์งามยามดีและให้ผู้อาวุโสรับประทานก่อน 
          วิถีชีวิตผู้คนในสังคมเกษตรคือ ทำงานหนักมากในฤดูเพาะปลูก จับปลาหาผักหญ้า เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ เพื่อหาอยู่หากิน เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวก็จะถือเป็นฤดูแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งมักจะเกิดตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ยาวไปถึงปีใหม่ ทุกสังคมทั่วโลกจึงมีเทศกาลเก็บเกี่ยว (Harvesting Festival) เทศกาลข้าวใหม่หรือผลผลิตใหม่ (New Corps Festival) เทศกาลขอบคุณพระเจ้า
          “งานเทศกาลข้าวใหม่มีกิจกรรมสำคัญ 3 อย่าง คือ กินข้าวใหม่ด้วยตัวเอง กินกับเพื่อนมิตร หรือญาติ หรือครอบครัว ตักบาตรข้าวใหม่ 5 ธ.ค. หรือวันปีใหม่ และมอบของขวัญปีใหม่ด้วยข้าวใหม่”
          ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งการเกษตรให้ความสำคัญในเรื่องการทำเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตคนไทย เพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในช่วงวาระแห่งการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยว จึงถือเป็นโอกาสที่จะร่วมทำบุญตักบาตรด้วยข้าวใหม่ เพื่อเพิ่มพระกุศลบารมีของพระองค์และรำลึกถึงกษัตริย์แห่งการเกษตร พระผู้ยังคุณประเสริฐแก่ชาวไร่ชาวนาและพสกนิกรเกษตรกรไทย
          การทำบุญตักบาตรข้าวใหม่ เป็นหนึ่งในกิจกรรมเทศกาลข้าวและการรื้อฟื้นวัฒนธรรมข้าวใหม่ เพราะคนไทยมีความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญข้าวที่มีความศักดิ์สิทธิ์ หลังฤดูเก็บเกี่ยวก่อนเฉลิมฉลองข้าวใหม่ ซึ่งมีความหอมหวานอร่อยมากที่สุด โดยวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีนำประชาชนร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ โดยพร้อมใจนำอาหารแห้งและข้าวใหม่ที่สิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาร่วมตักบาตร ถวายแด่พระภิกษุเพื่อความมงคล
          “ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือช่วงเทศกาลข้าวใหม่ ประชาชนจึงต่างคัดสรรข้าวใหม่ที่มีคุณภาพอย่างข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ กข.105 จากแปลงเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาตักบาตรพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นการสร้างสิริมงคลแห่งชีวิต ในวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีความหมายถึงการเริ่มต้นสิ่งดี สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต” อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ กล่าว
          ศ.ธีรยุทธ ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศกาลข้าวใหม่เปรียบเสมือนเทศกาลต้อนรับสิ่งใหม่ นำมาซึ่งความปีติ ความหวังใหม่ ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม ในเชิงเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาซึ่งอยู่ในส่วนการผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผลิตระบบอินทรีย์ การรื้อฟื้นสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นเฉพาะ จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยตรง ทั้งนี้ผลจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อเทศกาลนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          “คนไทยมีการฉลองข้าวใหม่เอามาทำเป็นข้าวหลาม ข้าวจี่ และข้าวสารนำไปถวายวัด เรียกว่า บุญข้าวใหม่ ทานข้าวใหม่ ทางอีสานเรียก วันกุ้มข้าวใหญ่ คือเอาข้าวไปกองรวมกันเพื่อถวายวัด ไว้ช่วยคนจนหรือเป็นค่าใช้จ่ายวัด ฯ ประเพณีหลายอย่างยังทำกันอยู่ ข้าวใหม่เป็นสัญลักษณ์ที่สืบถึงความเป็นมิ่งขวัญ สิริมงคล ความอร่อย ความใหม่ที่สดชื่น เบิกบาน (เด็กท้องนาสมัยก่อนจะรอคอยฤดูกาลข้าวใหม่ด้วยใจจดจ่อ) และงานที่เกี่ยวข้องกับข้าวใหม่ ก็เสริมความสัมพันธ์ของชุมชน คนหนุ่มสาว ค่านิยมที่เคารพนับถือ พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ และการแบ่งปันซึ่งกันและกัน
          แต่หลายอย่างเลือนหายไป เศรษฐกิจแบบพาณิชยกรรมทำลายความสำคัญของข้าวใหม่ไปหมด คนไทยรู้จักและได้กินแต่ข้าวเก่าไม่กี่สายพันธุ์ โดยทิ้งมรดกพันธุกรรมข้าวที่มีคุณค่าด้านโภชนาการ คุณภาพ ฯ หลายร้อยพันธุ์ทิ้งไป (ซึ่งแต่ก่อนคนไทยจะเลือกปลูกเลือกกินตามที่แต่ละคนชอบ หรือเลือกข้าวบางชนิดไว้ทำอาหารพิเศษ เช่น ขนมจีน ข้าวแช่ ฯ) อาทิ ข้าวที่มีความหอม อร่อย เช่น ข้าวพญาลืมแกง ข้าวพม่าแหกคุก ข้าวหอมทุ่ง ข้าวหอมดง ข้าวมงคล เช่น ข้าวก่ำใหญ่ ข้าวนางคง ฯลฯ ถ้าสังคมไทยปัจจุบันจะร่วมกันจัดเทศกาลข้าวใหม่ ก็จะถือได้ว่าเป็นการช่วงชิงเอาสิ่งมีค่าที่กำลังเลือนหายไปให้กลับมาเพิ่มพูนชีวิตให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้นได้”
          ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ทัศนะว่า งานเทศกาลข้าวใหม่ เป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการทำนาปลูกข้าวมิให้เลือนหายจากสังคมการเกษตร รวมถึงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองโบราณของไทยมิให้สูญหายไปตามกาลเวลา คณะกรรมการเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวจึงริเริ่มการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรทางศาสนา ภาคประชาชน ในการดำเนินกิจกรรมเทศกาลข้าวใหม่ โดยในกิจกรรมจะมีงานในลักษณะต่างๆ เช่น ตักบาตรข้าวใหม่ เทศกาลกินข้าวใหม่ สัปดาห์บุญข้าวใหม่ ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ของเกษตรกร เป็นต้น
          ตัวแทนชาวนาได้กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวใหม่ วรรณทิภา ปัญญากร หรือแม่ครูดี เกษตรกรจังหวัดลำพูน อายุ 67 ปี พูดถึงวิถีครอบครัวของตนเองว่า รู้สึกตื้นตัน สุขใจ มีความสุขมาก ข้าวใหม่บาตรแรกเมื่อได้มาก็จะหุงให้บิดามารดาได้รับประทานก่อน จากนั้นจะหุงถวายพระ และให้วัด 1 กระสอบ อันเป็นวิถีของครอบครัว และอยากรณรงค์ให้คนหันมากินข้าวใหม่มากขึ้น เพื่อชาวนาสามารถขายข้าวได้เร็ว ไม่ค้างปี ซึ่งต้องอาศัยผู้บริโภคร่วมด้วยช่วยกัน
          อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวนา คนรุ่นใหม่ ได้ช่วยกันรื้อฟื้นข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายพันธุ์ขึ้นมา โลกทางโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้การรื้อฟื้นการกินข้าวใหม่เป็นไปได้ที่เครือข่ายวัฒนธรรมข้าวได้ใช้คำเทศกาลก็มีความสำคัญ เพราะเทศกาลหมายถึงวาระที่ทุกคนตั้งใจ มีความหวัง มีความเปิดกว้างรอคอย แต่บางครั้งถ้าไม่มีเป้าหมายที่ดีก็จะเป็นเทศกาลที่เหลือแต่การสนุกสนานเฮฮา การกินดื่ม
          เทศกาลนี้ผูกกับข้าวใหม่น่าจะเป็นประโยชน์หลายทางคือ ประโยชน์ทางจิตใจ ได้ร่วมกันอนุรักษ์มรดกพันธุกรรมข้าวของประเทศ เป็นการร่วมยินดีซึ่งกันและกันกับชาวนา และประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชาวนาในระดับหนึ่ง ประโยชน์แก่ประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว ฯ การกินข้าวใหม่เสริมคุณค่าด้านต่างๆ ให้กับตัวเราเอง และเพิ่มความผูกพันที่ดีกับเพื่อน ญาติมิตร ครอบครัว เช่น การกินข้าวใหม่กับครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ และข้าวเป็นพืชชนิดเดียวที่ผ่านพิธีทำขวัญ จึงมีความเป็นสิริมงคลเพราะจะเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ (คือมอบความเป็นมิ่งขวัญ สิริมงคล ส่วนคำ gift ของฝรั่งหมายถึงการให้อย่างเดียว)
          “การรณรงค์กินข้าวใหม่ ตักบาตรข้าวใหม่ ให้ของขวัญข้าวใหม่ ในเทศกาลข้าวใหม่เป็นเสมือนการค้นหาสิ่งดีในอดีตที่ยังเหลือรากเหง้าหรือยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน มาให้สังคมได้หยิบฉวยเป็นสมบัติหรืออัตลักษณ์ที่มีค่าของตนเทศกาลข้าวใหม่เกิดขึ้นได้ถ้าคนไทยเห็นข้าวใหม่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเป็นคนไทย และมองเห็นเทศกาลเป็นช่วงเวลาที่สังคมจะได้สร้างสรรค์ สร้างความหวัง ความมั่นใจให้ตัวเอง” ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว ปิดท้าย


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  https://www.posttoday.com/life/life/529929