เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง จังหวัดศรีสะเกษ

ข่าววันที่ : 15 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151506153555_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 มิ.ย. 2558

          ชุมชนบ้านเมืองหลวง” ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมควบคู่ไปกับการทอผ้า เพื่อผลิต “ผ้าไหมเก็บ” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงทั้งด้านความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากผ้าไหมเก็บนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน โดยมีการนำเอาประเพณีและวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานในการผลิต ผ้าไหมแต่ละผืนจึงมีคุณค่าและความหมายเป็นอย่างยิ่ง การผลิตผ้าไหมเก็บของบ้านเมืองหลวง จะทอจากกี่แบบพื้นบ้านแบบทอมือ เป็นการทอลายในตัว มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า ผ้าเหยียบ ซึ่งเป็นการเรียกตามขบวนการผลิตคือ วิธีการทอผ้าให้มีลายจะใช้เท้าเหยียบก้านไม้ด้านล่างกี่ทอผ้าเพื่อดึงตะกอแต่ละอันให้เกิดลาย หรือเรียกว่า ผ้าเก็บ คือการสร้างลายในการทอ หรือผ้าลายลูกแก้ว เป็นชื่อลายผ้าที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเล็กใหญ่ซ้อนกันเป็นจุด ๆ กระจายทั้งผืนผ้า ในส่วนของการตัดเย็บเสื้อผ้าไหมเก็บ นั้นจะใช้วิธีตัดและเย็บด้วยมือ เนื่องจากในชุมชนแห่งนี้ไม่มีการใช้จักรเย็บผ้าหรือเครื่องมือทุ่นแรงอื่น ๆ แต่เดิมผ้าไหมเก็บ นิยมนำมาตัดเย็บตามแบบเสื้อพื้นบ้านของชนเผ่าส่วยเขมร และปักด้วยเส้นไหมสีสันและลวดลายต่าง ๆ ที่ชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า การแซว กรมหม่อนไหม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลงานด้านหม่อนไหมทั้งระบบ รวมถึงด้านการส่งเสริม พัฒนา อนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม ได้เข้าไปมีส่วนส่งเสริม และสนับสนุนทั้งในด้านการทอ การออกแบบ ทำให้การออกแบบตัดเย็บผ้าไหมเก็บในปัจจุบันมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กรมหม่อนไหมยังดำเนินการเพื่อขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง” ซึ่งขณะนี้ยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวงแห่งนี้จะอยู่ที่สีดำเลื่อมมันวาวจากการย้อมมะเกลือและหมักโคลน และตากแดด ซึ่งในขบวนการผลิตนั้นจะต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากต้องทำซ้ำหลายครั้ง จนมีการเรียกกรรมวิธีการทำเช่นนี้ว่า 300 จุ่ม 60 แดด คือทำการย้อมประมาณ 300 ครั้งในการจุ่ม และ 60 แดดในการตากแดด ซึ่งใน 1 วันจะเท่ากับ 1 แดด นอกจากนี้ผ้าไหมเก็บที่ได้ จะมีกลิ่นหอมติดทนนานจากการนำไปอบด้วยสมุนไพรในท้องถิ่น แถมเนื้อผ้ามีความคงทน และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี จากกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนพิถีพิถันดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นผลให้ผ้าไหมเก็บของบ้านเมืองหลวงไม่เพียงแต่เป็นอาภรณ์สำหรับสวมใส่เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดมายังคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของประเทศไทยสืบไป.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 15 มิถุนายน 2558