เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

กอบศักดิ์ ชงยกเครื่องการคลัง ระบบภาษี กลไกสำคัญ ลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าววันที่ : 15 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151506152921_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 มิ.ย. 2558

          งบประมาณรายรับรายจ่ายของประเทศเปรียบเสมือนน้ำมันที่ช่วยหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนสังคมให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ แต่ในหลายปีที่ผ่านมา นโยบาย ลด แลก แจก แถม จากแต่ละพรรคการเมืองที่งัดมาแข่งขันเพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงกันอย่างดุเดือดนั้น ได้กลับกลายเป็นกับดักที่กัดกินตัวเอง จนทำให้ประเทศต้องติดหล่มอยู่กับสารพัดโครงการประชานิยมอย่างดิ้นไม่หลุด

          ที่สำคัญที่สุดงบประมาณที่นำไปถมกับโครงการประชานิยมเหล่านี้ ทำให้รัฐไม่เหลือรายได้เพียงพอจะนำไปลงทุนในสิ่งที่จำเป็น ทั้งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคเพื่อสร้างความเชื่อมั่น หรือดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุน เพื่อยกระดับประเทศ ซึ่งนั่นยิ่งมีแต่จะทำให้ความ “เหลื่อมล้ำ” ซึ่งถือเป็นรากเหง้าของวิกฤติการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไข นับวันมีแต่จะทำรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยห่างจากการมันขึ้นทุกที

          นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง และภาษีอากร ที่สุดท้ายหลังจากผ่านกระบวนการวิเคราะห์ กลั่นกรอง จนตกผลึกออกมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่จะเป็นคำตอบให้สังคมในอนาคต ซึ่งหลายเรื่องเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และถูกบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญในหมวดปฏิรูป

          ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะตอบโจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ การปิดช่องโหว่เรื่องวินัยทางการคลัง การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ ผ่านการปฏิรูปด้านการเงินการคลังและภาษีอากร การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ มหภาค และการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ รายภาค

          ในประเด็นแรก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ยกเครื่องการคลังของประเทศครั้งสำคัญ ที่จะวางกรอบใหม่ในการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ปิดช่องรั่วไหล ปิดช่องโหว่ด้านประชานิยมที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเงินภาษีของประชาชน โดยระบุในรัฐธรรมนูญให้มีการจัดทำงบประมาณแบบสองขา โดยเพิ่มการจัดทำงบประมาณรายรับเพิ่มเติม จากเดิมที่ทำเฉพาะงบประมาณรายจ่ายเพื่อให้เกิดวินัยในการใช้เงิน ให้อยู่ในกำลังที่จะหามาได้ โดยจัดสรรทั้งตามภารกิจและตามพื้นที่ การกำหนดให้เงินกู้เป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้การกู้ยืมมาใช้จ่ายลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญในอดีต ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณและกระบวนการตรวจสอบอย่างเหมาะสม อีกทั้งเมื่อมีการแปรญัตติเพื่อลดหรือตัดทอนโครงการในร่างงบประมาณประจำปี เงินที่ลดได้จะไม่สามารถนำไปจัดสรรใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล และไม่ให้นำไปสู่การใช้จ่ายที่ขาดประสิทธิภาพที่สำคัญ

          ท้ายสุด กรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถฟ้องต่อศาลปกครอง แผนกวินัยการคลังและการงบประมาณได้

          อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การปฏิรูประบบภาษีของประเทศ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกมาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่องโหว่สำคัญในการหารายได้ของรัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลจะพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการยื่นแบบเสียภาษีที่ต่ำกว่าความเป็นจริง คือมีจำนวนผู้มายืนแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น จากประชากรทั้งสิ้น 66 ล้านคน ซึ่งเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งในการหารายได้ของภาครัฐ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงควรที่มีการบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องเสียภาษีตามกฏหมาย เพื่อให้ผู้มีรายได้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่รัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ

          นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการจัดเก็บภาษีในระดับท้องถิ่น เพิ่มเติมจากภาษีในระดับชาติ เพื่อเอื้อต่อการกระจายอำนาจ โดยกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังได้พิจารณาแนวคิดสำคัญ ในการจัดระบบภาษีของประเทศ คือ การใช้โครงสร้างภาษีเพื่อเอื้อต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจรัฐได้มากขึ้น โดยจัดระบบภาษีเป็นสองระดับ คือ ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ตลอดจนการกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีมากพอสมควรเพื่อการใช้จ่ายของท้องถิ่น โดยจากปัจจุบันที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บรายได้เพียงร้อยละ 10 ของรายจ่ายแต่ละปี ให้เพิ่มขึ้นต่อไป เช่น ผ่านการเพิ่มส่วนแบ่งของภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐจัดเก็บได้ในแต่ละท้องถิ่น จากปัจจุบันที่แบ่งให้กับท้องถิ่นที่ 0.7% (จากที่เก็บได้ทั้งหมด 7.0% ของมูลค่าซื้อขาย) เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 2.0-3.0% ตามลำดับ และเพิ่มช่องทางในการหารายได้อื่นๆ ให้กับท้องถิ่นด้วยภาษีอื่นๆ อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

          ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า โจทย์ใหญ่ที่สองคือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมของโอกาส ปัญหาช่องว่างของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย ระหว่างเมืองและชนบท เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และเป็นประเด็นที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และผู้รู้หลายท่าน กล่าวไว้ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญและการปฏิรูปของ สปช. ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะถือว่าการปฏิรูปครั้งนี้ไม่สำเร็จ

          สำหรับ แนวทางการขจัดความเหลื่อมล้ำได้แก่ กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางในภาครัฐ เพื่อรับผิดชอบกำหนดยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนกลไกภาครัฐในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อย่างมีเอกภาพ กำหนดให้มีการดำเนินการให้ประชาชนได้รับความเท่าเทียมในเชิงโอกาส ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค และการเข้าถึงแหล่งเงิน โดยผ่านกองทุนการออมชุมชน สหกรณ์ชุมชน และจัดให้มีการปฏิรูประบบสหกรณ์เพื่อยกระดับมาตรฐาน และความมั่นคง

          ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ด้านสุดท้ายคือการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ วางรากฐานของการพัฒนาประเทศ และสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณอันตราย ที่ชี้ว่าเราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ การแก้ไขจึงต้องกำหนดให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ทั้ง ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อป้องกัน ลด จำกัด หรือขจัดการผูกขาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดตลอดจน การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเปลี่ยนจากการเป็นภาระแก่รัฐ กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้มีองค์กรที่มีความเป็นอิสระรับผิดชอบในการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนหรือขาดประสิทธิภาพ

          “ทั้งหมดนี้ เมื่อมาประกอบกับวาระปฏิรูปที่ทาง สปช. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะได้ร่างต่อไป จะช่วยปิดช่องโหว่ทางการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่เป็นธรรม สร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเราทุกคน” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว