เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ดีลอยท์ ชี้เทรนด์ HR รับเทรนด์อนาคต

ข่าววันที่ : 15 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151506104100_1.png

วันที่ ปรับปรุง 15 มิ.ย. 2558

           Story  : พัฐกานต์ เชียงน้อย

           เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ กำลังเข้ามามีบทบาทกับเรื่องของบุคลากรในองค์กร ซึ่งผู้นำ และฝ่าย HR ไม่สามารถมองข้ามได้ บริษัทประกันที่อเมริกา เริ่มไม่ต้องใช้พนักงานไปเคลมประกัน แต่ผู้ประสบอุบัติเหตุ สามารถถ่ายและส่งภาพไปให้แอพพลิเคชันของบริษัทประกัน ให้ประเมินความเสียหายได้เลยทันที เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทกับการทำงาน และรูปแบบของการทำงานที่จะต้องเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับกลุ่มคนทำงานที่เปลี่ยนแปลง จากปัจจุบันที่มีแรงงานคน Gen Y 50% จะเพิ่มเป็น 75% ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า พฤติกรรมของคนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ฝ่าย HR และผู้บริหารต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ความต้องการของคนทำงานเก่าๆ ก็ต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะต้องการเวลาเพื่อไปดูแลครอบครัว

          "เกสรา ศักดิ์มณีวงศา" หุ้นส่วนที่ปรึกษาด้านธุรกิจ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจแนวโน้มการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลทั่วโลก ปี 2015 ของ "ดีลอยท์" ที่ทำการสำรวจความคิดของผู้บริหารระดับสูง และสายงานทรัพยากรมนุษย์หรือ HR จำนวนกว่า 3,300 คน ใน 106 ประเทศทั่วโลก พบว่ามี 10 แนวโน้มทางด้านบุคลากร และการทำงานขององค์กรที่นาสนใจ คือ

          1. วัฒนธรรมองค์กรและความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร ถ้าองค์กรไม่สามารถสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรและพนักงานได้ ก็จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรนั้นๆ ในการก้าวไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายทางธุรกิจ เรื่องนี้จึงเป็นความสำคัญอันดับ 1 ที่เป็นความท้าทายของผู้บริหารและฝ่าย HR เพราะคน Gen Y และคนรุ่นเก่าที่ทำงานอยู่ ล้วนต้องการเวลาและความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น หากไม่สามารถสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับพนักงานได้ องค์กรนั้นก็จะต้องเปลี่ยนพนักงานไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการสร้างคนในองค์กรให้เติบโตขึ้น

          2. เรื่องของผู้นำ องค์กรปัจจุบันขาดแคลนผู้นำและไม่มีการเตรียมพร้อม ในการพัฒนาภาวะผู้นำที่แท้จริง ซึ่งการพัฒนาภาวะผู้นำที่ดี ต้องพัฒนาในทุกระดับชั้น ไม่ใช่เพียงแค่เบอร์ต้นๆ ขององค์กรเท่านั้น

          3. การอบรมและพัฒนาบุคลากร เรื่องนี้ได้รับความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ เพราะหากพนักงานขององค์กรขาดความรู้ความสามารถ ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ 

          4. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารผลงาน จากเดิมที่เน้นการวัดเกรด ในลักษณะ Top-Down แต่คน Gen Y ต้องการคนที่สามารถพัฒนาและให้ความรู้เขาได้ เพราะเขาต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และต้องการเติบโต ดังนั้นหากต้องการเห็นผลงานของคนพวกนี้ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการโค้ช และการให้คำแนะนำกับสิ่งที่พวกเขาทำ ให้คำติชม ว่าผลงานของเขาเป็นอย่างไร และต้องมีการมอบหมายงานให้เขาได้แสดงฝีมือ

          5. รูปแบบของพนักงานองค์กรที่เปลี่ยนไป องค์กรจะเตรียมรับมืออย่างไร เมื่อคน Gen Y ไม่อยากผูกติดตัวเองกับองค์กร และคนรุ่นเก่า หรือสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้พนักงานต้องการเวลาในการกลับไปดูแลครอบครัว รูปแบบของพนักงานจะเป็นพาร์ตไทม์มากขึ้น พนักงานประจำจะลดลง ฝ่าย HR จะปรับกลยุทธ์อย่างไร เพื่อทำให้คนเหล่านี้เกิดความผูกพันกับองค์กร นโยบายการว่าจ้างขององค์กรก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ตรงนี้องค์กรจะปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไร ซึ่งแนวโน้มนี้เริ่มเกิดขึ้นแล้วที่อเมริกา และคาดว่าจะมาถึงเมืองไทยในเวลาอีกไม่นาน

          6. การพัฒนาศักยภาพของฝ่าย HR ต้องสามารถรองรับการความซับซ้อน และการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น 7.HR จะนำข้อมูล หรือ Big Data จากโลกยุคดิจิตอล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร 8. จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ คนเชื่อมต่อกับข่าวสารตลอดเวลา ทุกอย่างสะดวก และอยู่ในสมาร์ทโฟน แล้วองค์กรจะรับมืออย่างไร เพราะคนเหล่านี้จะต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นและง่ายขึ้นเช่นกัน 9. ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรกับการบริหารองค์กร การบริหารคน และ 10. นวัตกรรมเทคโนโลยีกำลังเข้ามาทดแทนกำลังคน  HR จะเตรียมรับมือตรงนี้อย่างไร

          "เกสรา" บอกว่า ดีลอยท์ได้สรุปเป็น 4 กลยุทธ์ในการรับมือกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ 1. Leading หาวิธีสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำในองค์กร ด้วยการออกแบบให้ทุกอย่างไม่เป็นเรื่องนาเบื่อ และสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้านั่งอบรมในออฟฟิศ 2. Engaging อย่างที่บอกไปแล้วว่า ต้นทุนการพัฒนาคนเก่าต่ำกว่าการไปรับคนใหม่ ดังนั้นการสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรและพนักงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ 3. Reinventing ฝ่าย HR ต้องพัฒนาตัวเองให้ตรงกับความคาดหวังขององค์กร ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการด้านบุคลากร แต่ต้องเป็นทั้งที่ปรึกษา และพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจขององค์กร 4. Reimaging คือต้องมองใหม่ ต้องจินตนาการให้ออกในแง่ของนวัตกรรมในอนาคต และการพัฒนาศักยภาพที่ต้องเปลี่ยนไปในอนาคต

          86% ของผลสำรวจ บอกว่า การพัฒนาภาวะผู้นำ ต้องทำในทุกระดับชั้น เพราะถ้าทำได้ดี ก็เป็นการดึงคนให้ทำงานอยู่กับองค์กรได้ และ 84% มองว่าเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับองค์กรที่ไม่สามารถพัฒนาคนได้ทัน จะเป็นอุปสรรคสำคัญของการเติบโตของธุรกิจตามแผนที่ตัวเองวางไว้  ส่วนเรื่องของการสร้างความผูกพันกับองค์กร ซึ่งได้รับความสำคัญเป็นอันดับ 1  เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่าย HR อย่างเดียวแล้ว แต่ในทางธุรกิจต้องทำให้สอดคล้องและทำให้พนักงานเกิดความผูกพันกับองค์กรด้วย ต้องเซตเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายขององค์กรกันเลยทีเดียว


 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 13 มิ.ย. 2558