เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

3 คน 3 คมวิถีผู้นำสร้างคน

ข่าววันที่ : 15 มิ.ย. 2558


Share

tmp_20151506102746_1.jpg

วันที่ ปรับปรุง 15 มิ.ย. 2558

           วรนุช เจียมรจนานนท์

           ในยุคที่ "คน" เป็นใหญ่ สร้างแรงผลักให้ธุรกิจทะยานไปข้างหน้า  การเล่าเรื่องคนจากปากคำของผู้นำ เป็นอีกประเด็นท็อปฮิต ที่ฟังเท่าไหร่ก็ไม่รู้เบื่อ

           3 คน 3 คม จากประสบการณ์ตรงของ 3 ผู้นำในแวดวงธุรกิจอาหาร ปักธงกันที่ "สถาบันผู้นำเครือซีพี" กับภารกิจสร้างคน 3.5 แสนคน ด้วยคำ 2 คำ เพื่อสร้างให้เครือ ซีพีทวีความแข็งแกร่งในอนาคต ขณะที่  "มันฝรั่งเลย์" บอกเสียงดังฟังชัด สำคัญที่สุดของการแข่งขันยุคนี้คือคน ปิดท้ายที่วรรคทองของ "ซานตาเฟ่" เมื่อขึ้นมา เป็นผู้นำ ต้องมีเรื่องคนอยู่ในสายเลือด

           สุเมธ เหล่าโมราพร ผู้อำนวยการ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า การจัดตั้งสถาบันผู้นำเครือซีพี เป็นสิ่ง ที่เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ หมายตาเอาไว้นานแล้ว เพื่อตอบโจทย์การยกระดับ ความสามารถของคนซีพี 3.5 แสนคนทั่วโลก เอาไปขับเคลื่อนให้เครือซีพีเดินหน้าเติบโตต่อไปได้ในอนาคต โดยเบ้าหลอมการพัฒนาคนไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงไก่ไข่ซีพีในระบบปิด คือมุ่งสร้างคนให้ได้ผลลัพธ์ใน 2 แกนหลักคือ 1. สร้างคนให้มีสมรรถนะสูง (high performing) และ 2. สร้างคนให้มีภาวะผู้นำ (leadership) "โลกธุรกิจยุคใหม่ การบริหารคน ไม่ได้อยู่ในส่วนงาน HR อีกต่อไป  แต่เป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องสอนงาน ทำตัวเป็นโค้ช เป็นเพื่อนร่วมงาน และคอยให้คำแนะนำ วันนี้ผู้นำที่เก่งจะต้องบริหารคนเป็น โดยเฉพาะกลุ่มดาวรุ่ง"

           สถาบันผู้นำเครือซีพี ตั้งอยู่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และเปิดดำเนินการมา 7 ปี จากแรงบันดาลใจของเจ้าสัวธนินท์ ที่ครั้งหนึ่งเคยไปเยือนศูนย์ฝึกอบรมชั้นนำของโลกอย่าง จีอี และซัมซุง จึงอยากกลับมาพัฒนาองค์กรไทยๆ ให้มีศักยภาพทัดเทียมองค์กรระดับโลก โดยซีพีเลือกที่จะยึดจีอีเป็น ต้นแบบ ด้วยจำนวนพนักงานที่ใกล้เคียงกัน โดยจีอีมีคนทั้งหมด 4 แสนคน เน้นหลักสูตรการเรียนการสอนแบบผู้นำสอนผู้นำ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง (action learning) ซีพีมองว่าการไปดึงเอาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง อย่าง ฮาร์เวิร์ด โคลัมเบีย และ วาร์ตัน มาสอนหลักการธุรกิจ สุดท้ายก็ไม่เวิร์กเท่ากับให้คนทำธุรกิจสอนกันเอง

           สุเมธเป็นคนที่ 2 ที่เข้ามารับไม้ต่อ สร้างผู้นำยกแผง เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ฉลาดลุ่มลึก และมีผลงานการันตีความสำเร็จยาวเหยียด เขาบอกว่า การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ 70% อยู่ที่การลงมือทำ ฝึกฝน

          เรียนรู้ เหมือนกับการทำซอฟต์แวร์มนุษย์ ที่จำเป็นต้องพัฒนาแล้วพัฒนาอีก  ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ เป็นการมองไปข้างหน้า โดยไม่ต้องรอ ให้เป็นซีอีโอเสียก่อน ถึงค่อยมีวิสัยทัศน์ ขณะเดียวกัน การเป็นผู้นำที่หมั่นเติมแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ถือเป็นเครื่องปรุงรส ชั้นดีที่ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ

           "ผู้นำที่เก่งคือ รู้จักสร้างบันดาลใจ ให้ตัวเอง และขั้นที่เหนือไปกว่านั้นคือ  การสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น คนที่ทำงาน HR ก็เหมือนกัน ถ้าใช้เวลาส่วนใหญ่หมด ไปกับงานเอกสาร แปลว่า ยังไม่ใช่ HR  ที่ดี เพราะงาน HR ต้องสัมผัสกับคนเยอะๆ ไม่ใช่จมอยู่กับกระดาษ A4"  มุกดา ไพรัชเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายมันฝรั่ง "เลย์" บอก

          ว่า การทำธุรกิจวันนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในประเทศหรือข้ามชาติ การแข่งขันที่สำคัญของยุคสมัยก็คือคน ความสามารถของคนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการแข่งขัน สมัยก่อนเลย์วัดความสำเร็จของธุรกิจอยู่ที่ผลของงาน แต่ตอนนี้แบ่งครึ่งๆ ระหว่างคนกับธุรกิจ ถ้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารแล้วเก่งแต่ธุรกิจ ไม่เก่งคนก็เอาตัวไม่รอด เพราะการขึ้นเป็นผู้นำคือ การพัฒนาตัวเองและทีมงาน ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสำเร็จ "สมัยก่อนคนที่ยืนข้างซีอีโอก็คือ ฝ่ายผลิต อีก 10 ปีต่อมาคนข้างกายซีอีโอ เปลี่ยนมาเป็น ฝ่ายการตลาด ถัดมาอีก 10 ปีคนที่ไม่เคยห่างซีอีโอก็คือ การเงิน แต่ตอนนี้คนที่เป็นเงาของซีอีโอก็คือ HR และจากนี้ไปอีก 10 ปีถือเป็นปีทองของ HR เพราะหลายครั้งของปัญหาธุรกิจ ถูกแก้โดย HR ดังนั้น องค์กรที่ประสบความสำเร็จได้ HR จะต้องแข็งมากๆ"

           ต้องยอมรับว่า วันนี้คุณภาพคนไทยอ่อนด้อยลงมากๆ จนหลายบริษัทชั้นนำต้องขนคนต่างชาติเข้ามาเสียบปลั๊กแทน ยิ่งเกิดกระแสบริษัทชั้นนำของโลกทะยอยกันปลดคนงานนับพันคน กลุ่มคนเหล่านี้จะไหลไปไหน ก็ต้องไหลมายังประเทศแถบเอเชีย  ที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจยังดีอยู่  โดยเฉพาะแห่กันมาไทย ประเทศที่ระบบ การศึกษาพัฒนาไม่ทัน และคุณภาพการทำงานรวมทั้งภาษา ก็แพ้ต่างชาติหลุดลุ่ย "อัตราค่าจ้างคนไทยแพงมาก แต่คุณภาพไม่ได้อย่างที่ตกลงกันไว้ ถ้าเป็นผู้บริหารต่างชาติที่มาทำงานในไทย หลายคน

          ทำได้ดี ทำให้ตัวเลขโตไว แต่พอไปแล้ว บางคนก็ชอบทิ้งภาระเอาไว้ หน้าที่ของเราที่เป็นคนไทย เราต้องสร้างความสำเร็จให้เศรษฐกิจไทยระยะยาว แต่ก็ติดปัญหาคอขวดคือ คนไทยเราไม่เคยพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก" สุรชัย ชาญอนุเดช กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหาร "ซานตาเฟ่" บอกว่า  รอยยิ้มสำคัญในธุรกิจบริการ ดังนั้นเรา ไม่สามารถสร้างหุ่นยนต์ให้ยิ้มได้ และผู้นำก็ไม่ใช่แค่สร้างคนให้ยิ้มเป็น ไหนๆ จะสร้างทั้งทีต้องสร้างคนให้เก่งไปเลย เพราะความเก่งสามารถเอาไปพลิกฟื้นวิกฤติได้ทุกเรื่อง

           "คนยุคนี้เป็นพวกสุขนิยม สมัย 30 ปี ที่แล้วห้วหน้าสั่งไปไหนเป็นต้องไปแต่สมัยนี้มาทำงานแค่ 1 เดือน เดินมาขอขึ้นตำแหน่งแล้ว เป็นยุคของเด็ก Gen Me ที่ชอบ ถ่ายเซลฟี่ เลยชอบโฟกัสแต่ตัวเอง หลักการสร้างคนของซานตาเฟ่ จึงยึดแนวคิด  happiness well done สุขกับการทำงานแบบพอดีๆ สุขกันทั่วหน้าและทั่วถึง"

           การเป็นผู้นำไม่ใช่ของง่าย กว่าจะมาแต่ละจุดได้ ล้วนแล้วแต่ต้องผิดพลาดมาก่อนเสมอ และการฟอร์มทีมให้สำเร็จไปด้วยกันได้ "คุณจะต้องมีเรื่องของคนอยู่ในสายเลือด" สุรชัยว่าอย่างนั้น 30 ปีของชีวิตการทำงาน เขาบอกว่า ความผิดพลาดจากการล้มเหลวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการล้มเหลวคือกระบวนการหนึ่งที่ช่วยถีบตัวเองไปสู่ความสำเร็จ   "การลงมือทำยังไงก็ต้องล้มเหลวมาบ้าง ผิดพลาดกันบ้าง แล้วค่อยกลับมาแก้ไข ให้ดีขึ้น จะสร้างผู้บริหารหรือคนเก่งให้ได้ สักคน มันต้องล้มเหลวมาก่อนกันทั้งนั้น  แต่คนเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ถ้าเราสร้างไม่ให้อะไรฆ่าเขาได้ เขาจะเก่งขึ้น"

           สุรชัยย้ำคำว่า การให้ความสำคัญกับคน ต้องมาจากข้างในจิตใจ อย่ามัวแต่ fake  กันอยู่เลย และที่สำคัญอย่าตัดสินเนื้อหา จากปก อย่าดูคนแค่รูปลักษณ์ภายนอก ให้เวลาศึกษากันสักนิด แล้วความสุขแบบ happiness well done จะบังเกิด ในยุคที่ "คน" เป็นใหญ่ สร้าง แรงผลักให้ธุรกิจทะยานไปข้างหน้า  การเล่าเรื่องคนจากปากคำของผู้นำ  เป็นอีกประเด็นท็อปฮิต ที่ฟังยังไงๆ  ก็สนุกไม่รู้เบื่อ

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  9 มิ.ย. 58