เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ชาวนา กล้าคิด กล้าเปลี่ยน

ข่าววันที่ :11 พ.ค. 2560

Share

tmp_20171105140023_1.jpg

          เสริมพงค์ แปงคำมา

          วิบากกรรมชาวนาไทยสายเคมี "ต้นทุนสูง-ราคาต่ำ" ทำให้ตายก็ยังเป็นหนี้.. แล้วจะยังร้องยี้ "วิถีอินทรีย์" อีกหรือ?

          แต่ละปีประเทศไทยผลิตข้าวได้ประมาณ 24-25 ล้านตัน ผลผลิตทั้งหมดแบ่งบริโภคภายในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน และส่งออกอีก 6-10 ล้านตันต่อปี

          แม้ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศผู้ผลิต และผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่หนึ่งในสามของโลก สร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 154,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่สวนทางกัน คือ ชาวนาไทยยังคงเผชิญกับความยากจน ตกอยู่ในวังวนปัญหาหนี้สิน ปัจจัยการผลิตนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าเครื่องจักร ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และสารเคมีเร่งการเจริญเติบโต

          ผลที่ตามมา คือกำไรแทบจะไม่เหลือ เมื่อรายได้แทบไม่เหลือ แต่จำเป็นต้องทำนาครั้งใหม่ ชาวนาก็ต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้ เพื่อหาทุนมาทำนาอีกรอบ จึงเป็นวัฏจักรรายปีที่ไม่มีรู้จักจบสิ้น แล้วชาวนาจะหาทางออกกันอย่างไร?

          ชาวนากลุ่มหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน จนในที่สุดพวกเขาก็พบว่า.. ถ้าไม่ลดต้นทุนการผลิตลง ชาวนาไม่มีทางอยู่ได้

          ชาวนาผู้ "กล้า"

          ปัจจุบันกระแสเกษตรอินทรีย์ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นวิธีการที่ทำให้เกษตรกรไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังยึดติดกับการทำนาแบบเคมี เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว การที่จะให้ชาวนาเปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ที่กว่าจะผลิดอกออกผลต้องใช้เวลาค่อยๆ ทำ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก

          เมื่อชาวนายังยึดติดอยู่กับการทำนาแบบเคมี จึงต้องมี "ผู้กล้า" ที่จะเปลี่ยนแนวคิดจากการทำนาเคมีมาสู่การทำนาอินทรีย์ "อดเปรี้ยวไว้หวาน" ที่ให้ผลอย่างยั่งยืน และที่สำคัญต้องมีตัวอย่างให้เห็น จึงจะมีคนทำตาม

          ดังเช่น คำพา หอมสุดชาชาวนาตำบลดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ที่กล้าจะปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเคมีเป็นการทำนาอินทรีย์ และชักชวนเพื่อนๆ รวมกลุ่มเป็นเครือข่าย จนชาวนาในท้องที่ และพื้นที่ใกล้เคียงหันมาทำตาม

          "มีแต่คนว่าผมบ้า เอาอะไรไปใส่ในนาข้าว มันจะได้เหรอ ดูมันทำ" นี่เป็นคำพูดแรกๆ ที่ชาวนาส่วนใหญ่พูดใส่เขาเมื่อครั้งริเริ่มทำนาอินทรีย์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ขณะที่วันนี้ มีแต่คนมาขอคำปรึกษาว่า ทำอย่างไรให้นาข้าวของตัวเองจึงจะได้ผลผลิตงามเหมือนของเขา

          "การทำนาอินทรีย์ทำได้ไม่ยากแต่ต้องใช้ใจ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำใจ ต้องตั้งจุดหมายไว้ก่อน ของแบบนี้ต้องใช้เวลาแต่มันยั่งยืน" คำพาบอกถึงการหัวใจการเริ่มทำนาอินทรีย์

          อย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนการทำนานั้นจะอยู่ที่ประมาณไร่ละ 5,000-6,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้าง และอื่นๆ ยังไม่รวมค่าแรง

          ตัวเองที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เคยนำมาคิด แต่รู้หรือไม่ว่า การทำนาอินทรีย์มีต้นทุนต่ำกว่านั้นถึงครึ่งหนึ่ง โดยใช้เงินเพียง 2,000-3,000 บาทต่อไร่เท่านั้น เมื่อขายได้ราคาเท่ากัน เช่น เกวียนละ 7,000 บาท หักลบกลบหนี้แล้ว นาเคมีแทบจะไม่เหลือ แต่นาอินทรีย์จะมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

          เปิดสภา กลางนาข้าว

          "เราต้องคุยกันเยอะๆ ถ้าคุยกันก็จะช่วยหาลู่ทางได้ว่าทำกันแบบไหน บางคนนอกจากไม่คุยแล้ว ยังจะแข่งกันอีก เห็นนาเพื่อนต้นข้าวเขียวไปทั้งทุ่ง ส่วนของตัวเองออกสีซีดๆ เหลืองๆ ก็ทนไม่ได้ ต้องหาปุ๋ยเคมีแพงๆ กระสอบละเจ็ดแปดร้อยมาใส่ เพื่อจะให้ต้นข้าวเขียวเท่าเพื่อน" คำพาเล่า และย้ำว่า ถ้าคุยกันมากๆ ก็จะมีความรู้ ว่าต้นข้าวเขียวๆ ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าผลผลิตจะดีเสมอไป

          ในอดีตชาวนาไทยจะพึ่งพาอาศัยเอาแรงกันในการช่วยไถ ช่วยหว่าน ช่วยเกี่ยว ครบวงจรการผลิต จะเป็นไปลักษณะพึ่งพาอาศัยและใกล้ชิดกัน มีเวลาก็จะมานั่งพูดคุยปรึกษาหารือกัน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำนาอยู่เสมอ แต่ปัจจุบันกลับเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ต่างทำ ถึงขั้นบางครั้งที่นาติดกันยังอาจจะไม่รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ

          การส่งเสริมการรวมกลุ่ม หรือเวทีสนทนาให้ชาวนาได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ ไปปรับใช้ในที่นาของตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเช่น โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เปิดโอกาสให้ชาวจาก 10 ตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำทุกเดือน เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่มากมายเป็นโครงข่ายให้เพื่อนเกษตรกร

          เชิด พันธุ์เพ็ง แกนนำคนสำคัญและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการ คือ การหนุนเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการลดต้นทุนการผลิต และการสร้างความสามัคคีในชุมชน เพราะบางพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้เขตเมือง แทบไม่รู้จักกัน โดยจะรื้อฟื้นสภากาแฟของหมู่บ้านให้กลับมาเหมือนในอดีต

          ใครมีอะไรก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือการหานวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการสร้างความรู้เป็นหลัก โดยมีแกนนำเกษตรกรของแต่ละตำบลเป็นหัวหอกในการเผยแพร่ ซึ่งต่อไปจะต้องมาเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายสมาชิกและแกนนำจาก 10 คนเป็น 20 คนในปีต่อไป

          "ชาวบ้านมีองค์ความรู้เยอะ แต่ไม่มีเวทีให้เขามาแสดงมาพูด แต่เมื่อเปิดเวทีให้เราได้เห็นภูมิปัญญามากมายหลากหลาย และสามารถทำได้จริง แต่ไม่ถูกนำมาใช้โดยตรง เพราะภาวะบีบคั้นต่างๆ ซึ่งไม่เอื้อ เลยไม่ได้เอาออกมาใช้ ดังนั้นโครงการนี้เราจึงได้เห็นภูมิปัญญาคนไทยว่ามีเยอะมากและช่วยเหลือชาวบ้านได้จริง" เชิด เล่า

          ปัดฝุ่นภูมิปัญญา ฟื้นวิถีชีวภาพ

          หากชาวนายังทำแบบเดิมๆ ค่าใช้จ่ายก็ไม่ลดซึ่งสวนทางกับรายได้ ฉะนั้นการรื้อฟื้นภูมิปัญญาของชาวนาและวิถีดั้งเดิมในยุคที่พึ่งพาธรรมชาติ เช่น การบำรุงดินก่อนทำโดยการใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน อาทิ เมล็ดถั่วเขียว แค่ 5 กิโลกรัม หว่านลงไปในนาหลังเก็บเกี่ยว เมื่อโตเต็มที่ก็ไถกลบ จะให้ปุ๋ยพืชสดถึง 2 ตัน หรือปอเทือง จะให้ปุ๋ยสดถึง 5 ตัน

          "เมื่อดินดี ข้าวก็ดี ก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ และดินดีต่อเนื่องทุกปีๆ ผลผลิตก็จะสูงขึ้นตาม" ธีระไทย ใบทับทิม ชาวนาตำบลดอนหญ้านางอีกคนหนึ่ง ยืนยัน เพราะได้ปฏิบัติเช่นนี้มาทุกๆ ปี

          ธีระไทย หันมาทำนาอินทรีย์นานกว่า 10 ปีแล้ว เขาบอกว่า สารเคมีไม่จำเป็นอย่าใช้ เพราะการใช้สารเคมีแต่ละครั้งจะมีสารเคมีตกค้างถึง 40 ปี นั่นหมายความว่า ดินจะยิ่งเสื่อมลงทุกปีๆ ผลผลิตก็จะน้อยตามเพราะดินไม่มีคุณภาพ ทางที่ดีควรจะนำดินไปให้สำนักงานพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน หรือหมอดินในชุมชน ตรวจวิเคราะห์ว่ามีแร่ธาตุอะไรอยู่บ้าง และควรเติมอะไรไปบ้าง

          "ไม่ใช่พอเห็นข้าวไม่งาม ก็อัดปุ๋ยเพียงอย่างเดียวจนเกินปริมาณ ถ้าแบบนี้ ดินจะเสื่อมลงเรื่อยๆ" ธีระไทย บอก

          นอกจากการดูแลดินแล้ว การดูแลศัตรูของข้าวก็มีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วยเช่นกัน ซึ่งธีระไทย บอกว่า การปล่อยให้เป็นไปตามระบบนิเวศน์ เช่น วงจรธรรมชาติจัดการ เป็นวิธีที่ช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงได้อีกทางหนึ่ง เพราะในนาข้าวจะมีทั้งแมลงที่เป็นคุณและเป็นโทษ แต่ถ้าไปใช้ยาฆ่า แมลงทั้งดีและร้ายก็จะตายหมด ทำให้ไม่มีวงจรธรรมชาติคอยดูแลต้นข้าว

          รู้ทั้งรู้ว่า ปุ๋ยและยา คือปัจจัยที่ทำให้การทำนามีต้นทุนสูง ดังนั้นหากจะลดต้นทุน ลดรายจ่ายในส่วนนี้ก็จะต้องมีตัวทดแทน นั่นคือการส่งเสริมให้ชาวนาหันมาใช้ "สารชีวภาพ" ซึ่งอาจจะยุ่งยาก แต่ต้นทุนต่ำ และพิสูจน์แล้วเห็นผลจริง

          ยืนยันโดย ประเสริฐ พุ่มพวงชาวนาตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่หันมาศึกษาและทำน้ำหมักชีวภาพอย่างจริงมานานกว่า 8 ปี จนได้สูตรน้ำหมักชีวภาพหลายชนิด เช่น สมุนไพรไล่แมลง จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีสังเคราะห์แสง ซูเปอร์ฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำใช้ในแปลงนาได้ครบวงจร ทั้งบำรุงดิน บำรุงต้นข้าว ไล่แมลงศัตรูข้าว

          ประเสริฐ บอกว่า น้ำหมักมีต้นทุนไม่แพงนักประมาณ 100-200 บาท แต่การทำน้ำหมักชีวภาพต้องใช้เวลาหมัก 15-30 วัน กว่าจะนำใช้ได้ และยุ่งยากในการเตรียมของ แต่เมื่อทำแล้ว ก็ได้ปริมาณมากหลายสิบลิตร แต่ถ้าไปซื้อยาเคมี 300 บาทได้เพียงลิตรเดียวเท่านั้น

          ขณะที่ ขวัญชัย เอี่ยมสะอาด ชาวนาตำบลลาดชะโดอีกรายหนึ่ง และยังเป็นหมอดินอาสา ได้คิดค้นปุ๋ยหมัก และน้ำหมักหัวปลามาใช้ในแปลงนาของตัวเองและแบ่งบันเพื่อนชาวนาด้วยกัน

          "ปุ๋ยหมักทำจากมูลสัตว์ 4 ชนิด ได้แก่ สุกร นกกระทา วัว และไส้เดือน ซึ่งมูลสัตว์แต่ละชนิดจะมีแร่ธาตุสำคัญในการบำรุงดิน บำรุงต้นข้าวทั้งสิ้น เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เป็นต้น ดังนั้นทุกวันนี้เครือข่ายเราใช้ปุ๋ยหมักให้ผลดีเท่ากับปุ๋ยเคมี แต่ต้นทุนเราถูกกว่ามาก อย่างเช่นปุ๋ยเคมีตอนนี้กระสอบละประมาณ 500-600 บาท แล้ว แต่ปุ๋ยหมักเราใช้ต้นทุนเพียงร้อยกว่าบาท" ขวัญชัย เล่าและว่า ผลผลิตไม่ต้องถึงไร่ละเกวียนก็ได้ แค่ 70-80 ถังต่อไร่ก็พอแล้ว เพราะต้นทุนถูกกว่าเห็นๆ

          เมื่อต้นทุนต่ำ ชาวนาก็ขายข้าวมีกำไร รายได้ก็จะสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ก็เป็นสิ่งจำเป็น ชาวนาอย่าง ขวัญชัย ให้ความเห็นว่า ชาวนาต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผนการปลูก ว่า ปลูกข้าวอะไร จะขายให้ใคร ไม่ใช่ปลูกเพื่อขายให้พ่อค้า ฉะนั้นชาวนาจะต้องปลูกข้าวที่คนกิน ต้องย้อนมาดูว่า คนในชุมชนกินข้าวอะไรกัน เพื่อที่จะปลูกให้คนกิน แปรรูปขายในราคาที่ไม่ต้องแพงนัก

          ชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยากลุ่มนี้ จึงเชื่ออย่างหนักแน่นว่า การเลิกใช้สารเคมีในนาข้าว นอกจากจะได้ข้าวที่มีคุณภาพ ไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเอง และผู้บริโภคแล้ว ยังลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้

          พิสูจน์ในหลายๆ พื้นที่แล้วว่า ได้ผลจริง และนี่อาจจะตอบโจทย์ "ทางรอดของชาวนาไทย" ได้บ้าง


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 11 พฤษภาคม 2560