เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

แผนเพิ่มศักยภาพเก็บกักน้ำ ‘ห้วยหลวง’ จ.อุดรธานี

ข่าววันที่ :5 ต.ค. 2558

Share

tmp_20150510111320_1.jpg

          ปัจจุบันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ นับวันที่จะเกิดขึ้นได้ยากแม้แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่า “...ทุกวันนี้ไทยไม่สามารถสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ได้อีกแล้ว เพราะติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาพื้นที่ป่าสงวน และบ้านเรือนประชาชน....” ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม กลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งของทุก ๆ ปี หากไม่เร่งพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำให้มีความมั่นคง กรมชลประทานจึงวางแผนเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำตามยุทธศาสตร์ การบริการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะเพิ่มปริมาณเก็บกักให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 8.7 ล้านไร่ภายในปี 2569 ด้วยการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทที่มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเพิ่มปริมาณการเก็บกักจาก 32 ล้าน ลบ.ม. เป็น 41 ล้าน ลบ.ม. มาขยายผลสู่การพัฒนาในโครงการอื่น ๆ เช่นโครงการอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้เพิ่มการเก็บกักจาก 1,430 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,980 ล้าน ลบ.ม.โครงการ อ่างเก็บน้ำบางวาด อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จากเดิม 7.3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 10.2 ล้าน ลบ.ม. และจะขยายผลต่อไปสู่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี นายวีระพงษ์ แต่งเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง กรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ที่บ้านโคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดร ธานี เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 13.5 เมตร ยาว 4,900 เมตร ระดับกักเก็บสูงสุด 135.57 ล้าน ลบ.ม. มีระบบส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูฝนได้ 87,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 26,000 ไร่ และเพื่อผลิตน้ำประปาในเขตจ.อุดรธานี ได้แก่ อ.เมือง อ.กุดจับ อ.หนองวัวซอ และหมู่บ้านต่าง ๆ รวมประมาณ 22.66 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี อีกทั้งยังส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมประมาณ 46 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมทั้งยังช่วยป้องกันอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย “ในอนาคตเกษตรกรจะขยายพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้นจาก 26,000 ไร่ เป็น 47,000 ไร่ ซึ่งจะต้องใช้น้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ปลูกพืชฤดูฝน 87,000 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 72 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นน้ำจากน้ำฝน และเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรมและอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมความต้องการใช้จะสูงถึง 182 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในขณะนี้อ่างฯ กักเก็บน้ำสูงสุดได้เพียง 135 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวงกล่าว ซึ่งในระยะแรกจะขุดลอกเพิ่มการกักเก็บน้ำให้ได้อีกประมาณ 1.4 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2559 ในระยะยาวจะขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักได้อีกถึง 15 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กักเก็บน้ำได้ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลเข้าอ่างฯ ในแต่ละปี “ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเก็บไว้ในลำน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงได้เสนอแนวคิดให้ขยายโครงการศึกษาครอบคลุมลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบนด้วย เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ” นายวีระพงษ์กล่าว แม้อ่างฯ จะสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง ไม่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน สามารถที่จะสูบน้ำเป็นทอด ๆ ขึ้นมา มาเก็บไว้ในอ่างฯ ห้วยหลวงได้ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งมีโครง การก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้อยู่แล้ว สามารถนำรูปแบบในลักษณะเดียวกันมาใช้จนถึงอ่างฯห้วยหลวงได้ อันจะทำให้มีปริมาณน้ำสำรองมากเพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 5 ตุลาคม 2558