เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ปฏิวัติโครงสร้างศก. ดึงเงินออมลงขันเมกะโปรเจ็กต์

ข่าววันที่ :23 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152309111128_1.jpg

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่กลุ่มฐานรากและกลุ่มเอสเอ็มอีไปแล้ว จากนี้ไปจะ เป็นจุดที่ปฏิวัติโครงสร้างการผลิตของ เมืองไทย ผ่านการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ ใน 5 คลัสเตอร์ และซูเปอร์คลัสเตอร์ ตั้งกองทุนพิเศษขนาดใหญ่ จัดลำดับความสำคัญการลงทุนใหม่ สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยุทธศาสตร์รถไฟไทย-จีน, รถไฟไทย-ญี่ปุ่น และแผนการอุ้มมนุษย์เงินเดือนให้มีปัจจัยสี่ครบถ้วน

          ปฏิวัติโครงสร้างการผลิต

          นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลจะจัดระบบงบประมาณใหม่ ด้วยการกระจายไปตาม "คลัสเตอร์" งบประมาณส่วนกลางจะเป็นเพียงตัวเสริม โดยรัฐบาลต้องการส่งเสริม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1.คลัสเตอร์เกษตร-อาหาร หรือ Bio-Base Industry 2.คลัสเตอร์พลังงาน หรือ Renewable Industry 3.คลัสเตอร์ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ Engineering and Design Industry 4.คลัสเตอร์การท่องเที่ยว สปา เฮลท์แคร์ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ หรือ Wellness Industry 5.คลัสเตอร์สินค้าวัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy

          "โครงสร้างทางเศรษฐกิจไทย จะนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นจุดที่ปฏิวัติเรื่องโครงสร้างการผลิตของเมืองไทย ผ่านระบบการจัดงบประมาณแบบใหม่ และการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า ในระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการแบ่งโซนการพัฒนาสินค้าให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เหล่านี้คือการเปลี่ยนแนวคิดเดิมทั้งหมด"

          นายสมคิดวาดภาพเขตเศรษฐกิจไว้ 2 ประเภท ในเฟสแรก ประเภทแรก คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่แนวชายแดน ซึ่งมีการประกาศแล้วและมีการเริ่มต้นที่แม่สอดกับสระแก้ว เพื่อให้อุตสาหกรรม ผู้ผลิตที่เริ่มเสียความได้เปรียบด้านแรงงาน จะได้ไปใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ประโยชน์จาก Connectivity ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และขณะนี้แม่สอด จ.ตาก มีการจัดหาที่ดิน ทุกอย่างใกล้สมบูรณ์แล้ว

          ส่วนพื้นที่ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้อีก 3 จังหวัด (มุกดาหาร, สงขลา, ตราด) ก็รอดู ผลของเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่งนี้ แล้วค่อยมาประเมินผลว่าจะทำที่ไหนต่อไปอีก

          บุกเขต ศก.เฟส 2 แจกสิทธิพิเศษ

          เขตเศรษฐกิจประเภทที่ 2 ในเฟส 2 คือ การยกระดับความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อ ยกระดับความสามารถของผลผลิตไทย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมอนาคตที่เราจะสร้างขึ้นมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น สิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์, เทเลคอม, ชิ้นส่วนรถยนต์ และยา ต้องมีระดับเทคโนโลยีที่สูงกว่านี้ ไม่ให้ย้ายไปเวียดนามเพราะเขามีทุกอย่าง

          นายสมคิดขยายความว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ-Special Economic Zone (SEZ) ในเฟสแรก ต้องการขายจากสิ่งที่เรามีอยู่ คือ กลุ่มที่อยู่ในอีสเทิร์นซีบอร์ด และมาบตาพุด มีจุดประสงค์ข้อแรก เพื่อให้อุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่นี้แข็งแรง แข่งขันได้ 2.เพื่อตรึงนักลงทุนที่มีอยู่แล้วไม่ให้เคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศอื่น 3.ดึงนักลงทุนใหม่เข้ามา กลุ่มนี้กระทรวงอุตสาหกรรมเรียกว่ากลุ่มไฮเทค เป็นกลุ่มที่ใช้วิธีการผลิตในระดับที่สูงขึ้น กลุ่มเหล่านี้เรียกว่าซูเปอร์คลัสเตอร์ โดยการเพิ่มแรงจูงใจเข้าไป แรงจูงใจจะต้องถึงในระดับที่แข่งขันกับประเทศอื่นเขาได้

          "ในเฟส 2 ลงไปถึง Value Chain ทั้งหมดที่ต่อเนื่องกันกับ Supply Chain สถาบันวิจัย ระบบโลจิสติกส์ หรือทั้งหมดที่แข่งขันได้ อยู่ในข่ายที่ได้รับการส่งเสริมตามเงื่อนไขใหม่ ขอบเขตของจังหวัดขายไปจากเขตเดิม ครอบคลุมเพิ่มเติมจังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น ระยอง ชลบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี ดังนั้น ในแอ่งจังหวัดนี้ จะเน้นการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นแก่นหลักของเรา แต่เพิ่มดีกรีของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไป"

          รัฐบาลจะดึงนักลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์, เทเลคอม, ชิ้นส่วนรถยนต์ และยา หรือระดับ Medium Hi-tech ขึ้นไป เข้ามาลงทุนได้ จะต้องมีแรงจูงใจเข้าไปสู่ซูเปอร์คลัสเตอร์ ผ่านการให้สิทธิพิเศษจากบีโอไอ ที่จะทยอยประกาศออกมา เช่นเดียวกับการดึงอุตสาหกรรมใหม่ เช่น กลุ่ม IT-base กลุ่ม Entertainment ฟิล์ม ทีมถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ในเชียงใหม่, ภูเก็ต ส่วนใหญ่จะให้แรงจูงใจระดับสูงเป็นพิเศษเท่ากับกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์

          "บิ๊กตู่" รื้อลงทุนเส้นทางคมนาคม

          "นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายลงทุนเส้นทางคมนาคมใหม่ มีทั้งปรับการลงทุน ขยายขอบเขต ยกระดับมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ เช่น สนามบิน อู่ตะเภา, เส้นทางรถไฟที่สำคัญ ต้องเพิ่มระยะทาง เช่นสายที่จะวิ่งจากเพชรบุรีราชบุรี-ลาดกระบัง-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด ต้องให้ทะลุไปถึงเมียนมาเชื่อมกับทวาย"

          ขณะที่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ ในแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในแต่ละคลัสเตอร์ จะมีการจัดลำดับความสำคัญใหม่ จัดระบบหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลิตแรงงาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ในทุกภาค ทั้งอีสาน เหนือ และใต้ ต้องดีไซน์ทุกส่วนเพื่อให้นโยบายเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม และจะเป็นวิธีการที่ นำไปสู่การเริ่มการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างแท้จริง

          ดึงเงินออมลงทุนประเทศ

          นายสมคิดตอบคำถามเรื่องโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่เคยตั้ง งบประมาณไว้ 2.4 ล้านล้านว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นกลุ่มงานที่สำคัญมาก เมืองไทยจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ฉะนั้นการลงทุนต้องจัดลำดับความสำคัญ โครงการรถไฟไม่จำเป็นต้องทำพร้อม ๆ กันหมดทุกเส้นทาง โดยต้องดึงเอกชนมาร่วมลงทุน ทุกรูปแบบ

          "นายกรัฐมนตรีถึงให้เป็นลักษณะการลงทุนแบบความร่วมมือภาครัฐและเอกชนPublic Private Partnership (PPP) รัฐไม่ต้องออกเงินทั้งหมด อะไรที่เอกชนทำได้ก็ประมูล รัฐลงทุนเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริง ๆ ดีไม่ดีรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณ ถ้าหากเงินออม สภาพคล่องเต็มประเทศอย่างนี้ มีทางออกหลายทาง ทั้งการกู้ยืมเงินในประเทศ หรือสร้างกองทุนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-Infrastructure Fund"

          นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ขณะนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ตั้งทีมร่วมกับนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ หาทางจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นมา ด้วยการดึงเงินออมจากนักลงทุน จากคนที่มีเงินออมอยู่แล้ว และลงทุนอย่างระมัดระวัง มาซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยมีอัตราดอกเบี้ย มีการปันผลกำไรให้ วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถใช้เงินในประเทศเพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ โดยอาจจะขายกองทุนนี้กับนักลงทุนต่างประเทศด้วย

          "ยกตัวอย่าง ธนาคารออมสินมีเงินเยอะ ถามว่าปลอดภัยไหมถ้าเราเอาเงินมาลงทุน ปลอดภัยมาก กองทุนประกันสังคมแทนที่จะไปฝากเงินเตี้ย ๆ ดอกเบี้ยต่ำ ๆ หุ้นก็ลงไม่ได้ มาลงทุนตรงนี้แทนดีไหม รัฐบาลเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ฝรั่งที่ต้องการมาผูกกับเราเรื่องนี้มาช่วยได้ไหม ในทางการเงินทำให้รัฐบาลมีความคล่องตัวทางการเงิน จัดสรรได้ว่าโครงการไหนจะกู้ต่างประเทศ ส่วนไหนจะใช้เงินในประเทศ ส่วนไหนใช้งบประมาณ จะลดความเป็นห่วงเรื่องหนี้ต่อจีดีพี จะต้องไม่เกิน 50% ถ้ามันจะเกิน 60% ต้องพิจารณาตามความจำเป็น"

          เมื่อทำครบทุกภาคส่วนแล้ว จึงจะสามารถไปพูด ไปโรดโชว์กับต่างประเทศได้

          เจรจาเพิ่มรถไฟไทย-จีน

          สำหรับโครงการลงทุนรถไฟไทย-จีน นายสมคิดได้ให้นโยบายกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมไปแล้วว่า เส้นทางรถไฟไทย-จีน ไทยตกลงเบื้องต้นไปแล้ว ก็ต้อง Horner-มีสัจจะ ว่าให้จีนทำร่วมกันกับไทย แต่ทำอย่างนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าจีนต้องช่วยเหลือไทยด้วย

          "ถ้าอะไรก็ไม่มี แล้วเขาได้ประโยชน์อย่างเดียว เราได้ประโยชน์จากเขาไหม มันก็ต้องมาเจรจากันว่าที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร"

          ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ที่เดิมเคยได้ ตกลงร่วมกับกระทรวงคมนาคมไว้ระดับ Memorandum of Cooperation (MOC) ก็ ต้องติดตามว่า ญี่ปุ่นมีความพึงพอใจหรือไม่ หากต้องการเจรจาเส้นทางใหม่ นอกเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก็สามารถทำได้ เพราะยังไม่ถึงระดับการทำ MOU

          "ไทยเราอยากให้ญี่ปุ่นทำเส้นทางรถไฟ East-West Corridor ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องไปจัดลำดับความสำคัญว่าจะทำเส้นไหน ก่อน หลัง เส้นรถไฟฟ้าเส้นไหนที่ยังค้างคาก็เร่งทำให้จบ อย่างสายสีน้ำเงินค้างมานานก็เร่งประมูลให้จบ ถ้าไม่ประมูลก็ต้องอธิบายว่าทำไมถึงไม่ประมูล"

          มาตรการอุ้มมนุษย์เงินเดือน

          ในช่วงที่ผ่านมามาตรการด้านเศรษฐกิจ ได้ช่วยเหลือกลุ่มฐานรากและเอสเอ็มอี ไปแล้ว ในระยะต่อไป จะช่วยให้กลุ่ม "มนุษย์ เงินเดือน" ได้มีโอกาสได้รับผลของนโยบายบ้าง โดยจะมีการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ให้คนเหล่านี้ได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐาน เก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม ให้มีโอกาสได้มีปัจจัย 4 อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

          "ท่านนายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่า ทำอย่างไรให้คนที่มีรายได้ไม่มากมีที่อยู่อาศัย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมได้บอก ผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เช่น การเคหะแห่งชาติ ควรคุยกับการรถไฟฯ เพื่อที่จะไปสร้างที่อยู่อาศัย ให้คนจน คนทำงานในเมืองมีบ้านและเดินทางสะดวก อนาคตข้างหน้าถ้ารัฐบาลคิดแพ็กเกจให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้นำเสนอโครงการบ้านราคาต่ำเข้ามาเป็นมาตรการหนึ่ง"

          ส่วนมาตรการลดภาษี ลดค่าธรรมเนียมการซื้อ การโอนต่าง ๆ ที่สมาคมอสังหาริมทรัพย์เคยนำเสนอต่อรัฐบาลนั้น นายสมคิดตอบว่า "ตอนนี้คิดอยู่ในใจ แต่ยังไม่คิดให้มีตอนนี้ อยู่ในสมอง ดูว่ามันจำเป็นแค่ไหนอย่างไร รอดูตามความจำเป็น"

 

          บรรยายใต้ภาพ

          สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 - 27 ก.ย. 2558