เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เศรษฐกิจพอเพียงแบบครอบครัว

ข่าววันที่ :23 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152309104731_1.jpg

          โครงการความร่วมมือระหว่าง สำนัก งานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ โดยดำเนินโครงการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโน โลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ จำนวน 93 แห่งขอบข่ายทั่วประเทศนั้น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง ก็เป็นแห่งหนึ่งในจำนวนนี้ที่ดำเนินงานในโครงการ ซึ่งนอกเหนือจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนในวิทยาลัยแล้ว สถาบันการศึกษาแห่งนี้ยังได้ขยายผลการเรียนรู้ของนักศึกษาออกสู่ชุมชนด้วย โดยเข้าไปจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ “เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น โดยดำเนินการที่ บ้านหนำควาย หมู่ที่ 12 ต.นาท่ามเหนือ อ.เมือง จ.ตรัง ที่ปัจจุบันได้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พื้นที่ภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือของ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และ เครือข่ายพัฒนาท้องถิ่นตรัง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดำเนินชีวิตด้วยการเกษตรแบบธรรมชาติและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมาจากที่วิทยาลัยฯ เข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติภายใต้แนวทางการพึ่งพาตนเอง มีการจัดทำแปลงสาธิตให้ชาวบ้านดูเป็นแบบอย่างด้วย โดยเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนไม่ถึงสามพันบาทเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อพันธ์ุพืช พันธ์ุปลา อาหารสัตว์ พลาสติก และ ตาข่าย ซึ่งข้อมูลจากหอการค้า จ.ตรัง ระบุไว้ว่า ปัจจุบันที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ ปลูกพืชผักสวนครัว และผักพื้นบ้านต่าง ๆ ที่สามารถนำมารับประทานได้ทุกวัน เช่น บวบหวาน ฟัก ผักหวาน ผักกูด ถั่วพู ตำลึง วอเตอร์เครส ซึ่งเป็นผักที่มีถิ่นกำเนิดทางยุโรป แต่สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นของเมืองไทย ซึ่งการปลูกจะเป็นการเกษตรอินทรีย์ เป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ปราศจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์อย่างสิ้นเชิง จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อค้าขาย แต่เพื่อให้ชาวบ้านมีกินมีใช้อย่างเพียงพอ มีอาหารสำรอง เหลือกินเหลือใช้จึงจะนำไปขายเป็นรายได้เสริมของครอบครัว และเป็นการใช้พื้นที่ แรงงาน เวลา และสิ่งที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าเปรียบเสมือนมีซูเปอร์มาร์เกตประจำบ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีตู้เย็นไว้แช่กับข้าว แต่เมื่อต้องการจะรับประทานอะไรก็สามารถเก็บหรือจับบริเวณบ้านมารับประทานได้เลย เศษอาหารที่เหลือก็สามารถนำมาให้เป็นอาหารปลาหรือเป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ เศษไม้ก็นำมาเผาเป็นถ่านไว้ใช้ สำหรับโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ ได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินโครงการ และนำมาขยายผลเพื่อส่งเสริมความรู้แก่สังคม เพื่อการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีความเอื้ออาทรต่อกัน ส่งผลให้ผู้ที่น้อมนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติ มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 กันยายน 2558