เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

เร่งเยียวยาแล้งพักหนี้-จ้างงานยังไม่งดนาปรัง

ข่าววันที่ :23 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152309103307_1.jpg

          เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 22 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่จะส่งผลกระทบต่อการเกษตรว่า ขณะนี้ได้สั่งการและกำลังกำหนดมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของการทำการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องของการทำนาปรัง เนื่องจากต้นทุนปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างมีจำกัดและน้อยมาก จึงจำเป็นต้องหามาตรการว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน เช่น มาตรการวางแผนให้เกษตรกรไปปลูกพืชชนิดอื่น หรือกำหนดการปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตามยังไม่ถึงขั้นให้งดการปลูกข้าวนาปรัง เพราะคนจะตื่นตระหนก แต่จะใช้คำว่าแนะนำให้ไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน และรัฐบาลจะหาตลาดรองรับผลผลิตให้ ซึ่งเมื่อรัฐแนะนำไปแล้วและทำแต่เกิดความเสียหาย รัฐก็พร้อมดูแล แต่ถ้าแนะนำไปแล้วและฝ่าฝืนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร เสียหายเปล่าๆ

          ครม.ไม่งดส่งน้ำ-ดูสถานการณ์

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบกรอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 แบ่งเป็น 8 หมวด 10 กว่าโครงการ นอกจากนี้ยังมีมาตรการจ้างงานของกระทรวงแรงงานและมาตรการท่องเที่ยววิถีไทยของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้ามา สนับสนุนอีกด้วย และต่อไปจะนำกรอบมาตรการดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและลงรายละเอียดเพื่อสรุปโครงการที่จะนำมาช่วยเหลือภายในวันที่ 25 กันยายนนี้

          "ได้นำเสนอสถานการณ์น้ำต่อที่ประชุม แต่ยังไม่มีมาตรการประกาศงดส่งน้ำสนับสนุนเกษตรกรทำนาปรัง เพราะคงต้องติดตามดูปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าจะมีพายุเข้ามาในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คงต้องรอดูปริมาณน้ำในเขื่อนต่อไป ขณะเดียวกันจะต้องมีการทำความเข้าใจเกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำและความระมัดระวังในการใช้น้ำต่อเนื่อง" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          ยืดชำระหนี้-จ้างงานเพิ่มรายได้

          พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรอบมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ 1.การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2.การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 3.มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4.การเสนอโครงการตามความต้องการชุมชน 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ส่วนสถานการณ์น้ำมีการรายงานในที่ประชุมว่า น้ำในเขื่อนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำเหลืออยู่ 4,360 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ที่วิกฤตเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งคิดเป็น 10.7 ล้านไร่ หรือ 4.6 แสนครัวเรือน

          ผวจ.โคราชหวั่นแล้งหนักปี'59

          ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาย ธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) นครราชสีมา  พร้อมด้วย พล.ต.ศักดา เปรุนาวิน รองแม่ทัพภาคที่ 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.ขามสะแกแสง บริเวณหนองตะลุกพวง บ้านหนองนาคีม หมู่ 9 ต.ชีวึก อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

          นายธงชัยกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ของจังหวัดมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่งของจังหวัดมีน้ำเหลือไม่ถึง 50% ของปริมาณความจุ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ หน้าแล้งปี 2559 จะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งสูบน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อสูบเข้าไปกักเก็บไว้ภายในแหล่งผลิตน้ำประปาหรือแหล่งน้ำที่ต้องสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้งปีต่อไป เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยได้ขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จากกระทรวงพลังงานเข้ามาในพื้นที่ 10 เครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำกักเก็บไว้

          เขื่อนเจ้าพระยาสูงระดับใกล้ตลิ่ง

          ที่ จ.ชัยนาท นายเอกศิษฐ์ ศักดิ์ธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท กล่าวว่า จากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนจำนวนมากทำให้พื้นที่เหนือเขื่อนมีระดับน้ำที่สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับระดับตลิ่ง และการปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จะทำให้ จ.สิงห์บุรี, อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ท้ายเขื่อนมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5-10 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามแม้น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์แล้ว ยังต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการงดทำนาปรัง เพราะน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักยังไม่เพียงพอต่อการจัดสรรเพื่อการเกษตร โดยเขื่อนภูมิพลมีน้ำกักเก็บ 4,583 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% ของความจุอ่าง มีน้ำที่ใช้งานได้ 783 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 6% เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำกักเก็บ 4,250 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45% มีน้ำที่ใช้งานได้ 1,400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำกักเก็บ 278 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% มีน้ำที่ใช้งานได้ 235 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำกักเก็บ 174 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 18% มีน้ำที่ใช้งานได้ 171 ล้าน ลบ.ม. คิด 18%

          ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผวจ.ชัยนาท กล่าวว่า หากมีพายุลูกใหม่พาดผ่านเข้ามาอาจจะมีน้ำฝนลงมาเติมน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อาจทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งในจุดลุ่มต่ำได้ จึงได้สั่งการไปยังนายอำเภอให้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ และให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำให้เตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อความไม่ประมาท

          น้ำล้นอ่างสุรินทร์เร่งระบาย

          ที่ จ.ปราจีนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.ประจันตคาม และ อ.นาดี จากอิทธิพลของพายุหว่ามก๋อกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือน้ำที่ท่วมในชุมชนตลาดเก่า เทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี รวม 120 ครัวเรือน สภาพน้ำยังท่วมขัง ระดับน้ำประมาณ 35-40 ซม. นอกจากนี้สถานการณ์น้ำที่เอ่อท่วมจากแม่น้ำปราจีนบุรี มีบางส่วนที่ล้นเข้าที่ลุ่มต่ำตามริมน้ำ อาทิ ในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 5 ต.บ้านทาม และบ้านท่าหิน หมู่ 5 ต.ศรีมหาโพธิ พบว่าระดับน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากมีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน หากยังคงมีฝนตกติดต่อกันเช่นนี้ อาจส่งผลให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมขยายวงกว้างมากขึ้น

          ที่ จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำจากเทือกเขาพนมดงรักใน อ.กาบเชิง และ อ.พนมดงรัก ได้ไหลลงต้นลำน้ำชีและลำน้ำห้วยเสนงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงจนมีปริมาณน้ำ 27.075 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 135.25% มีน้ำไหลเข้า 5.135  ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สูงเกินกว่าที่จะกักเก็บได้ที่ระดับ 22 ล้าน ลบ.ม. ชลประทานสุรินทร์เปิดบานประตูระบายน้ำ 1 ช่อง ยกสูง 2.40 เมตร ระบายน้ำได้ 5.288 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ผลจากการเปิดประตูระบายน้ำทำให้นาข้าวท้ายอ่างเก็บน้ำถูกน้ำท่วมระดับสูง 1-2 เมตร และปริมาณน้ำยังไหลหลากไปตามที่ลาดลุ่มตลอดแนวของลำห้วยเสนงในพื้นที่ ต.นอกเมือง อ.เมือง

          'ระยอง'จัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์

          ที่ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ 3 บ้านหนองมะหาด ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ระยอง นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ตำรวจ สภ.เมืองระยอง เจ้าพนักงานเทศบาล ต.ทับมา ประชาชน กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและจิตอาสา ร่วมจัดกิจกรรมบิ๊ก คลีนนิ่งเดย์ หลังสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายจนเข้าสู่สภาวะปกติ มีการปล่อยขบวนรถเพื่อเข้าไปเก็บขยะและปัดกวาดทำความสะอาด รถน้ำฉีดล้างสิ่งสกปรกช่วยเหลือประชาชน หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลทับมา ต.เนินพระ ต.เชิงเนิน และเขตเทศบาลนครระยองที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด ส่วนวิทยาลัยสารพัดช่างแกลง วิทยาลัยเทคนิคระยอง และบ้านค่าย นำนักศึกษาออกมาช่วยซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ของประชาชนโดยไม่คิดค่าซ่อม

          นายสมศักดิ์กล่าวว่า จากนี้จะเร่งฟื้นฟูเพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมวางมาตรการการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวไว้ คือเร่งขุดลอกคูคลองที่จะรับน้ำลงสู่ทะเล โดยเฉพาะคลองทับมาและแม่น้ำระยอง และในปี 2559 ทางชลประทานจังหวัดได้รับงบประมาณมาเพื่อตั้งสถานีสูบน้ำพลังไฟฟ้า เพื่อสูบน้ำออกทะเลอีกทางหนึ่ง

          ระดมเครื่องบิน18ลำทำฝนหลวง

          ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวภายหลังเดินทางมาสำรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนภูมิพล และเขื่อน สิริกิติ์ และติดตามความคืบหน้าภารกิจแก้ปัญหาภัยแล้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลกว่า น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของประเทศ ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณกักเก็บอยู่ในระดับน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงขานรับนโยบายของรัฐบาลที่หวังจะเติมน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศ โดยช่วง 3-4 สัปดาห์นี้จะระดมเครื่องบินทั้งหมด 18 ลำ มาที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 9 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเร่งเติมน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุด ส่วนแผน 5 ปี เริ่มปี 2559 จะขยายหน่วยศูนย์ปฏิบัติการเพิ่มเป็น 13 หน่วย อย่างไรก็ดี มาตรการเร่งด่วนช่วงนี้จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันถนอมน้ำฝน หากมีตุ่ม อ่าง บ่อ ให้กักเก็บน้ำไว้ใช้ให้มากที่สุด รวมทั้งให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

          "นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมฝน หลวงฯ เร่งทำฝนหลวงในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้สามารถเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภค กรมจึงปรับแผนการทำฝนหลวง จากปกติจะยุติปฏิบัติการทำฝนหลวงในช่วงวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ขยายเวลาออกไปจนถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้" นายวราวุธกล่าว

          นายสมหวัง ปานสุขสาร ผอ.ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ในปี 2559 คาดว่าทางเขื่อนแควน้อยฯจะงดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรแน่นอนในพื้นที่ชลประทาน 1.5 แสนไร่

          ชาวนาวอนรบ.พักชำระหนี้5-10ปี

          นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวทางจะให้มีการหยุดทำนาปรังในช่วงนี้ถือเป็นข่าวร้ายที่ชาวนารับทราบแล้ว แต่ไม่อยากปฏิบัติตาม ชาวนาคงไม่ออกไปประท้วงข้างถนน เพราะเกรงกลัวกฎหมายที่เด็ดขาด แต่จะทำหนังสือยื่นไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพื่อร้องขอความเห็นใจ เพราะว่าการห้ามทำนาปรังในครั้งนี้เท่ากับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี แต่ก็เชื่อว่าท้ายที่สุดชาวนาคงต้องดิ้นรนหาน้ำทำนากันเอง และต้องไปเสี่ยงดวงว่าจะได้ผลผลิตและจะขายข้าวได้ราคาดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลประกาศพักชำระหนี้ 5-10 ปี แบบปลอดดอกเบี้ย หรือจนกว่าสถานการณ์ ภัยแล้งจะหมดสิ้นไป

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : มติชน ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 2558