เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ตรวจสุขภาพเศรษฐกิจโลก

ข่าววันที่ :22 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152209110753_1.jpg

          ตราบใดที่เงื่อนเวลาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ยังไม่ชัดเจน  ตลาดทุน -ตลาดทองก็จะยังคง "คาดการณ์" เงื่อนเวลาการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุน-นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งถึงกับคาดการณ์ว่า FED อาจไปขึ้นอีกทีในปีหน้า มาในบทความนี้เราลองมาเช็กสุขภาพเศรษฐกิจโลกเพื่อประเมินเงื่อนไขของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED กันดีกว่าครับ

          เริ่มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องบอกว่าเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจโลกกันเลยทีเดียว หลังจากที่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แต่ได้รับแรงหนุนจากสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทาง FED ระดมออกมาใช้ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย การใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ มาตรการ QE จนสุดท้ายเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ทาง FED เริ่มมีแนวคิดที่จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาเพื่อชะลอภาวะเศรษฐกิจไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต

          มาดูที่ฝั่งยุโรป เศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปยังคงชะลอตัว โดยที่เป็นผลมาจากวิกฤตหนี้สาธารณะใน พ.ศ. 2555 จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจจริงเกิดการถดถอย เป็นเหตุให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ต้องงัดมาตรการเศรษฐกิจมาใช้ เริ่มตั้งแต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาต่ำสุด การใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบและการเข้าซื้อพันธบัตร แต่ก็ยังมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวต่อ เนื่องจากรากของปัญหาอย่างหนี้สาธารณะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและอาจต้องเผชิญกับปัญหาต่อไป

          มาทางฝั่งเอเชีย พี่ใหญ่อย่างจีนเริ่มกระท่อนกระแท่นอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญทั้งหมด อย่างตัวเลขการผลิต การบริโภค เงินเฟ้อและการส่งออกต่างออกมาต่ำกว่าที่คาดทั้งหมด และสร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมากในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยังเผชิญกับภาวะเงินฝืดบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ผลมากนัก

          เมื่อดูจากภาพรวมแล้ว นักลงทุนอาจยังต้องระวังความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจสร้างความผันผวนให้แก่นักลงทุนได้ และอาจทำให้ FED ต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ ต่ำต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้าก็เป็นได้

 

          บรรยายใต้ภาพ

          กมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ และผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด  

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 22 กันยายน 2558