เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

มีผลย้อนหลังเริ่มจากงวด ก.ค.2558-มั่นใจไม่กระทบฐานะชงครม.'เก็บต๋ง'แบงก์รัฐปีนี้

ข่าววันที่ :22 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152209103648_1.jpg

          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอเรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในอัตรา 0.18% ต่อปี ตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พ.ศ.2558 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เร็วๆนี้

          ก่อนจะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจาก สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่งที่รับฝากเงิน จากประชาชนทั่วไป ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

          "หลังผ่านครม.แล้ว ก็เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจาก 4 แบงก์ได้เลย โดยจะสามารถเก็บย้อนหลังสำหรับงวดเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยการเก็บเงินเข้ากองทุนแบงก์รัฐในครั้งนี้ กระทบต่อฐานะทางการเงินของแบงก์รัฐไม่มาก เพราะคิดเป็นเงินที่รัฐเก็บได้เพียง 2-3 พันล้านบาทเท่านั้น แต่อาจจะกระทบทำให้กำไรสุทธิลดลงบ้าง แต่เงินส่วนนี้แบงก์รัฐยังถือว่าเป็นกำไรที่สามารถนำไปคำนวณเรื่องโบนัสได้"

          สำหรับเรื่องเกณฑ์กำกับแบงก์รัฐนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง หลักเกณฑ์ หลังจากนั้นจะเสนอมาให้ทางสศค. และนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามให้ความเห็นชอบ โดยไม่ต้องเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณา

          โดยจะเริ่มใช้เกณฑ์ใหม่นี้ในการกำกับแบงก์รัฐในต้นปี 2559 ชัดเจนว่าจะเป็นเกณฑ์กำกับที่แตกต่างกับเกณฑ์กำกับธนาคารพาณิชย์ เช่นในเกณฑ์คำนวณเรื่องฐานะเงินกองทุน หรือ BIS Ratio กำหนดแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ โดยโครงการใดที่รัฐกำหนดเงินชดเชยไว้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้แบงก์รัฐมีการตั้งสำรองหนี้เสีย เป็นต้น จะมีผลทำให้ฐานะของแบงก์รัฐดีขึ้น

          รายงานข่าวจาก สศค.แจ้งว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ธปท.กำกับดูแลแบงก์รัฐเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2557 โดยครอบคลุมถึง การออกเกณฑ์กำกับดูแล การตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร ติดตามและตรวจสอบแบงก์รัฐ และสั่งการให้แบงก์รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา

          โดยธปท.จะมีการออกประกาศ และ แนวนโยบายทั้งหมด 21 เรื่อง ครอบคลุม 5 ด้าน คือ การดูแลให้มีธรรมาภิบาลที่ดี มีเงินกองทุนเพียงพอ มีการบริการสภาพคล่องที่เหมาะสม มีกระบวนการด้านสินเชื่อที่ดี และมีการ เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส แยกบัญชีโครงการ ของรัฐ หรือ พีเอสเอออกมาชัดเจน รวมถึง หลักเกณฑ์สำหรับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ต้องเขียนหลักเกณฑ์แยกออกมาต่างหาก เพื่อให้เป็นไปตามหลักศาสนา

          ในเรื่องธรรมาภิบาลนั้น จะต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ครอบคลุมถึงเรื่องโครงสร้างกรรมการ ที่ต้องมีคณะกรรมการชุดย่อย เช่นคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีการกำหนดคุณสมบัติกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับสูง โดยจะต้องขอความเห็นชอบจากธปท.ก่อนจะแต่งตั้ง ยกเว้นส่วนที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

          สำหรับการดูแลเรื่องเงินกองทุนนั้น ธปท.จะนำเกณฑ์บาเซิล 2 มาใช้ จากปัจจุบันที่แบงก์รัฐส่วนใหญ่ใช้เกณฑ์บาเซิล 1 อยู่ ส่วนเรื่องสภาพคล่องนั้น จะดูเรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง แยกเป็นหลักเกณฑ์เชิงปริมาณ ซึ่งจะใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ใช้บังคับกับแบงก์พาณิชย์ในปัจจุบัน คือ ต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องเท่ากับ 6 % ของเงินรับฝาก หลักเกณฑ์เชิงคุณภาพ กำหนดแนวนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง จัดทำแบบรายงานฐานะสภาพคล่องสุทธิ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติ ขณะที่แนวทางกำกับเรื่องกระบวนการด้านสินเชื่อ จะมีการปรับบางส่วนให้เหมาะสมกับลักษณะการทำธุรกิจของแบงก์รัฐแต่ละแห่ง เช่น แนวนโยบายการทำธุรกรรมด้าน สินเชื่อ แนวนโยบายการสอบทานสินเชื่อ การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันสำรอง การประเมินราคาหลักประกัน และอสังหาริมทรัพย์รอการขาย หรือเอ็นพีเอ

          การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การกำกับดูแลสินเชื่อที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัท ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แบบพีจีเอส และการกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ ส่วนการกำกับเรื่องบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลนั้น จะต้องมีการจัดทำและเผยแพร่งบการเงิน มีการ กำกับดูแลการดำเนินธุรกรรมตามโครงการนโยบายรัฐ หรือพีเอสเอ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กันยายน 2558