เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ชาวสุไหงปาดี จ.นราธิวาส ดำรงชีพด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าววันที่ :21 ก.ย. 2558

Share

tmp_20152109114052_1.jpg

          ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้จัดโครงการสื่อสารและสร้างเครือข่ายชุมชนพึ่งตนเอง พื้นที่ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าอย่างยั่งยืนขึ้น โดยเน้นหลักการพัฒนาชุมชนตามวิถีการพึ่งตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของแต่ ละท้องถิ่นและที่สำคัญ คือ การคำนึงถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญก่อนกำหนดกิจกรรม ซึ่งมีการนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ที่บริเวณชุมชนใกล้แนวสายส่งไฟฟ้า 115 โวลต์ ในหลายพื้นที่หนึ่งในนั้นก็ที่ ตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นายอาแมร์ อาเก๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโคกสยา หมู่ 5 ตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เปิดเผยว่าตนรู้สึกดีใจที่ทาง กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนราษฎรในพื้นที่ ดำเนินโครงการเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่อยู่ในสภาพห่างไกลความเจริญ เส้นทางสัญจรค่อนข้างลำบาก ต่อมามีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านหมู่บ้าน ก็มีถนนเกิดขึ้น มีความสะดวกในการเดินทาง ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ก็เข้าไปใช้ประโยชน์บริเวณใต้สายส่งไฟฟ้า ซี่งทาง กฟผ. ได้อนุญาต ทำการปลูกพริก เพื่อทำพริกแห้งส่งจำหน่ายที่ตลาด เนื่องจากประชาชนพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม นิยมบริโภคอาหารประเภทเนื้อไก่ และส่วนใหญ่เป็นไก่ทอดที่จะต้องมีเครื่องปรุงและน้ำจิ้ม ซึ่งต้องใช้พริกจำนวนมาก การปลูกพริกบนพื้นที่ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงจึงมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน ทำให้กว่า 10 ครอบครัวที่ปลูกพริกในขณะนั้นมีรายได้เป็นกอบเป็นกำและแน่นอน จากรายได้ที่เกิดขึ้นยังผลให้เกิดการแย่งชิงพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกของชาวบ้านในพื้นที่ มีความขัดแข้งเกิดขึ้น ส่วนงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน และ กฟผ. ก็เข้ามาร่วมกันหาแนว ทางแก้ไข ก็ได้ทางออก โดยการจัดทำโครง การส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่ตามความถนัดของแต่ละคน แต่ละครอบครัว โดยคนที่ถนัดเรื่องเพาะปลูกพืชก็ปลูกพืช คนที่ถนัดและมีความรู้เรื่องเลี้ยงปลาก็เลี้ยงปลา คนที่ถนัดเรื่องเลี้ยงแพะก็ เลี้ยงแพะ โดยที่ทาง กฟผ. ช่วยประสานงานให้เจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องและมีความรู้มาอบรมถ่ายทอดความรู้ให้ มาวันนี้ความขัดแย้งหมดสิ้น ทุกคนสามัคคีกัน และเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี เพราะทุกคนมีโอกาสในการประกอบอาชีพพื้นที่ใต้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. อย่างเท่าเทียมกัน ที่สำคัญได้มีการจัดทำศูนย์เรียนรู้ด้านการทำการเกษตรอย่างถูกวิธีและครบวงจร ณ พื้นที่ทำการของ กฟผ. ในพื้นที่ ภายใต้โครงการชีววิถี ทำให้ชาวบ้านมีแหล่งเรียนรู้ และมีที่ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในยามที่เกิดปัญหากับการประกอบอาชีพ ที่สำคัญทุกครอบครัวที่เข้ามาประกอบอาชีพภายใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงนั้น จะน้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาดำเนินการด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ คือลงทุนทำการเกษตรเท่าที่ตนเองมีความสามารถ ไม่ลงทุนเกินตัว ไม่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีตลาดรองรับ และมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกครอบครัว จึงทำให้รู้ว่า การลงทุนแต่ละครั้งลงไปเท่าไหร่ เมื่อขายแล้วมีกำไรหรือไม่อย่างไร ทุกคนจะมีคำตอบในเรื่องนี้ จึงมีความระมัดระวังในการลงทุนและใช้เงิน ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าว ยังส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ ตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ในวันนี้มีกินมีใช้อย่างเพียงพอและเกิดความหวงแหนในพื้นที่ทำกินเพราะนี่คือ ชีวิตและอนาคตของครอบครัวและชุมชนของตนเอง.
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/ วันที่ 21 กันยายน 2558