เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

'สาลินี'มุ่ง3พันธกิจพลิก'เอสเอ็มอีแบงก์'

ข่าววันที่ :15 ก.ย. 2558

Share

tmp_20151509114642_1.jpg

          โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้"สาลินี วังตาล" เข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) ของเอสเอ็มอีแบงก์เพื่อฟื้นสถานะกิจการธนาคาร ให้กลับมาแข็งแรง พร้อมวางระบบให้ธนาคารดำเนินงานตามพันธกิจในการก่อตั้งธนาคาร

          "นสพ.กรุงเทพธุรกิจ" จึงถือโอกาสครบรอบการเข้ามาทำงานครบ 1 ปี สัมภาษณ์ "สาลินี วังตาล" ประธานบอร์ด เอสเอ็มอีแบงก์ ถึงสถานะของธนาคารล่าสุดรวมถึงทิศทางการดำเนินงานของธนาคารในอนาคต

          เอ็นพีแอลลด-กำไรเพิ่ม

          นางสาลินี เล่าว่า บอร์ดชุดนี้ได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำงานในเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 จนถึงวันนี้เข้ามาครบ 1 ปี พอดี พูดได้ว่าน่าพอใจ เพราะธนาคารมีสถานการณ์ดีขึ้นมาก ที่เห็นเป็นรูปธรรมเรื่องแรก คือธนาคารพลิกจากการขาดทุน กลับมามีกำไรได้ โดยในช่วง 8 เดือนแรกมีกำไรแล้ว 836 ล้านบาท หรือมีกำไรเฉลี่ยเดือนละ 100 ล้านบาท

          เรื่องที่ 2 คือการลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล จากเดิมธนาคารมีเอ็นพีแอลสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของสินเชื่อรวม แต่ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 2.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 31% ของสินเชื่อรวม ลดไปได้ 8 พันล้านบาท

          มั่นใจสินเชื่อใหม่เกิน4หมื่นล้าน

          ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ดี หรือ good loan ให้กับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคาร ในช่วง 8 เดือนของปีนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปได้แล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่าธนาคารมีฐานะเข้มแข็งขึ้นมาก สามารถเป็นเครื่องมือและกลไกของของรัฐบาลในการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้

          "การฟื้นฟูธนาคาร ใกล้ที่จะครบแผนแล้ว ตามแผนกำหนดไว้ว่าธนาคารจะต้องมีกำไร ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท แต่ตอนนี้ได้มากกว่า 800 ล้านบาทแล้ว ส่วนที่สองคือ ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้มาแล้ว 2 หมื่นล้านบาท หากรวมโครงการสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ หรือ policy loan 1.5 หมื่นล้านบาท และมาตรการใหม่คือซอฟท์โลนที่คาดว่าจะปล่อยกู้ได้ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยรวมแล้วจะเกิน 4 หมื่นล้านบาทแน่นอน"

          แบงก์แข็งแกร่งไม่ต้องการผู้ร่วมทุน

          เธอกล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานข้างต้น เห็นได้ว่าธนาคารสามารถอยู่ต่อไปได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร่วมลงทุน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 1. สถานการณ์ในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะธนาคารมีสถานะแข็งแรงขึ้น สถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ บีไอเอส (BIS) อยู่ที่ระดับ 10% ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

          เหตุผลที่ 2. คือ ธนาคารเอสเอ็มอีมีพันธกิจ ใน 3 เรื่องสำคัญคือ 1.ปล่อยกู้เอสเอ็มอีรายเล็กๆ ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก 2. เข้าร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาวและยืนยันว่าไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่เป็นการหาเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีศักยภาพ แล้วเข้าไปช่วยขยายกิจการ

          และพันธกิจที่ 3. คือการเข้าไปช่วยพัฒนา ผู้ประกอบการ เพราะชื่อภาษาอังกฤษของธนาคาร คือ SME development bank คือธนาคารเพื่อการ พัฒนา ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีของประเทศมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น

          "เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คนที่จะต้องทำควรเป็นภาครัฐมากกว่า ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นที่เป็นเอกชน อาจจะหวังอยากได้กำไรมากขึ้น แน่นอนว่า ลูกค้าที่เป็นประเภทบัวปริ่มน้ำ เขาคงไม่ปล่อยกู้ หรือแม้แต่โครงการร่วมลงทุน แม้จะหาเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพได้ แต่เป็นการลงทุนระยะยาว 5-7 ปี ที่ต้องเอาเงินไปลงทุนไว้ เขาคงไม่อยากทำ ที่สำคัญคือเรื่องการช่วยพัฒนา จะต้องเข้าไปช่วยดูแล ช่วยวินิจฉัยเอสเอ็มอีแต่ละรายว่า มีปัญหาอะไร ต้นทุนที่สูงไปจะแก้อย่างไร ในเชิงพาณิชย์คงไม่อยากทำเรื่องพวกนี้ ดังนั้นธนาคารแบบนี้ควรจะเป็นของรัฐบาล และทุกประเทศก็จะมีธนาคารแบบนี้ที่เป็นของรัฐบาล"

          มุ่งขยายการร่วมลงทุน

          สำหรับการทำตามพันธกิจของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้ ผู้ประกอบการรายเล็ก ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี แต่ส่วนที่อยากจะทำเพิ่มมากขึ้นคือ อยากทำเรื่อง การร่วมลงทุนให้มากขึ้น ตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ย. ให้ธนาคารของรัฐ 3 แห่งคือ เอสเอ็มอีแบงก์ กรุงไทย และออมสิน ขยายการร่วมลงทุนแห่งละ 2 พันล้านบาท ในส่วน ของธนาคารเดิมที่ตั้งวงเงินร่วมลงทุนไว้ที่ 500 ล้านบาท ก็จะขยาย 2 พันล้านบาทเช่นเดียวกัน

          นอกจากนี้ธนาคารยังจะมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในวันที่ 15 ก.ย.นี้ รัฐบาลจะมีอีก แพ็คเกจหนึ่งเข้าครม. โดยทางรองนายกรัฐมนตรี บอกไว้แล้วว่าจะเป็นมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย หลังได้มีความช่วยเหลือทางการเงินได้ทำไปแล้ว ส่วนนี้คือการพัฒนาและธนาคารก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วย

          หนุนมาตรการรัฐช่วยเอสเอ็มอี

          เธอกล่าวต่อว่า ธนาคารได้มีส่วนร่วมในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งมาตรการที่ออกไปแล้ว คือมาตรการทางด้านการเงิน ธนาคารจะมีส่วนในการเติมสภาพคล่องให้ ผู้ประกอบการ ซึ่งรัฐบาลให้ออมสินทำซอฟท์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ให้กับทุกแบงก์ใช้ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี พร้อมปรับเงื่อนไขการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จูงใจให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วม ปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น

          "แพ็คเกจที่ออกมาค่อนข้างจูงใจมากดีกว่า การค้ำประกันครั้งก่อนๆ คือเพดานการค้ำสูงถึง 30% และ 15% แรกของความเสียหายทาง บสย. จ่ายให้หมด ส่วนอีก 15% ทางบสย.และแบงก์ พาณิชย์รับไปคนละครึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก อีกทั้งยังมีมาตรการเรื่องร่วมลงทุนและการ ลดภาษีให้เอสเอ็มอี ส่วนนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมาก และเท่าที่ทำงานมา ยังไม่เคยเห็นมาตรการ ไหนที่ช่วยเอื้อเฟื้อ ช่วยประคับประคองเอสเอ็มอี ได้ครบถ้วนเท่ากับมาตรการของครม.ชุดนี้"

          วางระบบกันสินเชื่อไม่โปร่งใส

          สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมานั้น ต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมา ปัญหาอยู่ที่สินเชื่อขนาดใหญ่ เป็นสินเชื่อไม่ดี แต่ตอนนี้ธนาคารได้ตั้งพันธกิจชัดเจนว่า จะปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีรายเล็กๆ โดยเฉพาะวงเงินที่ไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่ทาง คนร. อนุมัติเพิ่มว่าให้ปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 30 ล้านบาท วงเงินส่วนนี้ก็เพียงพอแล้วในการทำพันธกิจ จะไม่มีการปล่อยกู้ให้รายใหญ่

          นอกจากนี้ธนาคารยังมีระบบการติดตามตรวจสอบ ดูว่าการปล่อยกู้เป็นไปตามพันธกิจ และมีความโปร่งใสหรือไม่ หากไม่โปร่งใสก็ต้องแก้ไขในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ จัดทำให้มีการคานอำนาจกัน การร่วมลงทุนมีวิธีการพิจารณาคัดเลือกที่เหมาะสมอย่างไร จะเลือกลงทุนเฉพาะพรรคพวกตัวเอง เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เราสร้างระบบตรวจสอบ ควบคุมดูแลได้ แน่นอนว่าแม้มีระบบดี แต่คนไม่ดี ยังไงก็เกิดโอกาสเสียได้ จึงต้องควบคุมดูแลกระบวนการคัดสรรคน สร้างระบบเพื่อช่วยกรอง และลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย "อยากให้ชั่งน้ำหนักระหว่างความกลัวว่าหากทำต่อไปจะเกิดหนี้เสียในอนาคตกับอีกด้านที่ถามว่าเอสเอ็มอีในประเทศต้องการความช่วยเหลือ ต้องการการพัฒนาหรือไม่ ควรมีสถาบันที่เข้ามาดูแลการพัฒนาเอสเอ็มอีมั้ย ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ต้องสร้างระบบให้ธนาคารอยู่ได้โดยมีกำไรพอสมควรโดยที่ไม่เป็นภาระของรัฐ เพื่อให้ธนาคารทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป"

          ระบบดี แต่คนไม่ดี ยังไงก็เกิดโอกาส เสียหายได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 กันยายน 2558