เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ใช้เครื่องตะบันน้ำบริหารจัดการน้ำ

ข่าววันที่ :14 ก.ย. 2558

Share

tmp_20151409095914_1.jpg

          เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการเกษตรและชนบท ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการรวบรวมข้อมูลและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ 177 โครงการ แล้วเสร็จ 114 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 17 โครงการ และอยู่ระหว่างการจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ 46 โครงการ การนี้คณะได้ลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแสงบูรพา หมู่ที่ 11 ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินกว้าง 6.00 เมตร ยาว 210.00 เมตร สูง 12.00 เมตร ความจุ 693,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้น ท่อระบายน้ำ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วปี 2553 ที่ผ่านมาสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทำการเกษตรได้จำนวน 800 ไร่ รวม 450 ครัวเรือน องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอ้อ ได้ปรับปรุงพื้น ที่ด้านหน้าอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าฯ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่าตามแนวพระราชดำริ” ขึ้น พร้อมกันนี้ก็เป็นพื้นที่ขยายผลตามโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จากพื้นที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยมีสมาชิก 49 คน มีการจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในชุมชน เช่น การเลี้ยงปลา เป็ดไข่ กบนาในแปลงนาข้าว การเลี้ยงหมูหลุมเพื่อนำมูลหมูไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การสร้างฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น การเลี้ยงไส้เดือนดิน การสร้างแพลงก์ตอนพืช เพื่อเป็นอาหารปลา รวมทั้งการทำไร่นาสวนผสมสร้างแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ และมีการต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน โดยจัดให้มีแพบริการประชาชนที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ และที่น่าสนใจอีกประการคือพื้นที่แห่งนี้ได้มีการนำเครื่องตะบันน้ำ มาเป็นกลไกในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อส่งน้ำเข้าแหล่งเพาะปลูกที่มีระดับความสูงกว่าระดับน้ำต้นทุน ซึ่งเครื่องตะบันน้ำนั้น ทำงานโดยไม่ต้องการพลังงานจากภาพนอก ทำงานได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า หรือน้ำมัน กินแต่เพียงน้ำเท่านั้น เป็นเครื่องมือที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน คือมีส่วนเคลื่อนไหวเพียง 2 ส่วน เป็นวาล์ว 2 ตัว ที่เกษตรกรสามารถนำมาสร้างและประกอบใช้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งหลักการในการทำงานของเครื่องตะบันน้ำนี้คือ การทำให้น้ำที่ไหลมาด้วยความเร็ว หยุดกะทันหัน เหมือนเราเปิดก๊อกน้ำที่ส่งมาจากแท็งก์น้ำสูง ๆ แล้วปิดทันที จะเกิดแรงดันตีกลับทำให้ท่อน้ำสะบัด เกิดความดันขึ้นชั่วขณะ แล้วส่งน้ำต่อไปยังถังเก็บที่สูงกว่า โดยสูญเสียน้ำจำนวนหนึ่งไป เป็นการจัดการน้ำตามหลักอนุรักษ์พลังงาน คือดึงเอาพลังงานจากน้ำที่ไหลเข้า มาให้เป็นแรงดันเพื่อนำน้ำขึ้นไปยังถังเก็บที่สูงกว่า และทิ้งน้ำที่เหลือพลังงานน้อยออกไปทางวาล์วน้ำทิ้ง ซึ่งก็เป็นแปลงเพาะปลูกที่ทำไว้รอรับเช่นกัน นับเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน อาศัยพลังงานธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและใช้เงินทุนน้อย
 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th วันที่ 14 กันยายน 2558