เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ธนบัตร..เหรียญ..แสตมป์ เก็บถูกวิธี คงคุณค่ายืนยาว




          ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสะสมสิ่งใดไว้ ก็ต้องไม่ลืมนึกถึงเรื่อง "การจัดเก็บ" ให้คุณค่าคงอยู่ต่อไปยืนยาว...

          "เหรียญกษาปณ์" หนึ่งในความนิยมเก็บสะสมลำดับต้น ๆ ในกลุ่มนี้ เว็บไซต์สำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ให้ความรู้ ข้อแนะนำการเก็บรักษา ไว้ว่า คุณค่าของเหรียญโดยทั่วไปถูกกำหนดโดยสภาพความสมบูรณ์ เหรียญเก่าที่มีสภาพเหมือนกับที่เพิ่งผลิตออกมาจากโรงกษาปณ์ ย่อมมีคุณค่ากว่าเหรียญชนิดเดียวกันที่ถูกใช้มานานจนเกิดรอยขูดขีด ชำรุด หรือมีตำหนิ แต่อย่างไรแล้ว เงินโบราณที่มีอายุผ่านกาลเวลามายาวนาน ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่างก็มีคุณค่าต่างกันไปตามสภาพ

          เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก แม้ทำด้วยโลหะ คงทนต่อสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนได้ดีกว่าแสตมป์และธนบัตร แต่อย่างไรแล้ว ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพลง โดยคาดไม่ถึง...

          ปัจจัยที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพ คือ ความชื้น น้ำ ความร้อน แสงสว่าง อากาศ สารเคมี กรด ด่าง เหงื่อ สัตว์ต่าง ๆ เช่น มด หนู แมลงสาบ ฝุ่นละออง การตกหล่น กระทบกระแทก การขัดถูและไฟ โดย การเก็บรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมสภาพให้ยาวนานที่สุดในเว็บไซต์ดังกล่าวแนะนำการเก็บในที่อากาศแห้ง ใช้ถุง หรือภาชนะอื่นที่ปิดสนิท อากาศเข้าไม่ได้ แล้วใช้สารดูดความชื้น ที่ไม่มีไอพิษ เช่น ซิลิกาเจล ควบคุมความชื้น ไม่ควรเก็บไว้ในห้องอับชื้น เพราะอาจเกิดเห็ด รา เป็นรังของมดปลวกได้

          หรือเก็บในที่ควบคุมอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชม. และไม่วางทับซ้อนกัน ควรวางแยกจากกัน ระวังไม่ให้เหรียญกระทบ ขูดขีดกัน ไม่ควรเคลือบผิวเหรียญด้วยสารใด ๆ เพราะทำให้สารเหล่านี้ติดกับผิวเหรียญ เมื่อลอกออกจะทำให้ผิวเสียหายได้ ไม่ควรใช้กาว เทปกาว ติดตัวเหรียญ ตู้เก็บหรือตู้จัดแสดงต้องปราศจากสารระเหย และต้องปิดสนิท หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบรรยากาศ โดยใส่ตลับ ซองพลาสติก ซองเหรียญ หรือเมาท์ (Mount) แล้วปิดผนึกไม่ให้อากาศเข้า แต่ไม่ควรผนึกแน่นจนกดทับตัวเหรียญ

          ...นี่เป็นข้อมูลคำแนะนำการเก็บโดย สังเขป ขณะที่ การทำความสะอาดต้องระมัดระวัง อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี อาจจะทำให้คุณค่าของเหรียญลดลง เพราะการทำความสะอาดแท้จริงแล้วเป็นการทำลายความเป็น "ผิวเดิม" ของเหรียญ

          ระวัง! น้ำกับโลหะไม่ลงรอยกัน เหรียญที่สกปรกมากอาจล้างอย่างระมัดระวังในน้ำสบู่ได้ ใช้สำลีนุ่ม ๆ เช็ดเบา ๆ แต่ห้ามแช่ในน้ำกรดส้มมะขาม หรือมะนาว แล้วก่อนเก็บก็ต้องเช็ดให้แห้ง และอีกสิ่งสำคัญในการสะสมคือ หมั่นตรวจสภาพ ไม่เก็บแล้วเก็บเลย ถึงเวลาหนึ่งก็ควรนำมาชื่นชม สำรวจว่ามีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ก็จะรักษาเหรียญให้คงอยู่ยาวนาน

          ทิวา เผื่อนปฐม ผู้อำนวยการส่วนเก็บรักษาและอนุรักษ์ทรัพย์สิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ ให้ข้อมูลการเก็บรักษาเหรียญในแนวทางอนุรักษ์ เพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่จะสร้างปัญหาให้เหรียญคือ "สนิม" ซึ่งเกิดจากความชื้น

          "การจัดการ ต้องเริ่มนับแต่เริ่มแรกที่ได้รับเหรียญมา วิธีที่ถูกต้องควรเก็บใส่ตลับ ไม่ควรเปลือยเหรียญ นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุจัดเก็บ ต้องเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ สำหรับพลาสติกทั่วไปที่นำมาใช้จัดเก็บ นานวันสีอาจเปลี่ยน จากที่ใสจะเปลี่ยนเป็นขุ่น สุดท้ายเหนียว กลายเป็นสีเหลือง วัสดุที่ใช้เก็บควรเป็นอะคริลิก ซึ่งมีคุณสมบัติไม่มีไอกรด ช่วยถนอมรักษาเหรียญ"

          สถานที่เก็บก็ต้องพิจารณา ควรเก็บใส่กล่องที่ปิดสนิทและใส่สารกันชื้นไว้ เป็นอีกวิธีที่จะช่วยรักษาความสมบูรณ์...

          "จุดเด่นของเหรียญอยู่ที่ลวดลาย ด้านหน้าและด้านหลัง หากเก็บรวมกันในถุงจำนวนมาก ๆ จะเกิดการเสียดสี เมื่อได้มาจึงควรแยกเหรียญออกมาเป็นเหรียญเดี่ยว ๆ เก็บ ใส่ตลับ" ส่วนเหรียญกษาปณ์เก่า ผอ.ทิวา แนะ นำเพิ่มว่า "เบื้องต้นควรจัดเก็บอย่างที่กล่าวไว้ แต่กรณีที่เป็นปัญหาเกิดสนิม ขึ้นแล้วก็ต้องทำ ความสะอาด ซึ่งก็ต้องเลือกใช้น้ำยาเคมีที่เข้ากับวัสดุเหรียญ อาทิ เหรียญที่มีส่วนผสมของทองคำ สามารถใช้น้ำกลั่นบริสุทธิ์เช็ดทำความสะอาด หรืออาจใช้แอลกอฮอล์ได้ ขณะที่วัสดุเงินและทองแดง มีน้ำยาเฉพาะที่ใช้กำจัดคราบสกปรก แต่จะอย่างไร ก็ต้องใช้อย่างเจือจาง"

          ทางด้าน การเก็บสะสมแสตมป์ ธนบัตร ของที่ระลึกในกลุ่มกระดาษ ในกลุ่มนี้ ไพโรจน์ จิรประเสริฐกุล กรรมการสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูป ถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แนะนำว่า เป็นที่ทราบและคุ้นเคยกันสำหรับดวงแสตมป์ กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่มากด้วยเรื่องราว ความน่าสนใจ เป็นดั่งบันทึกวันเวลา ซึ่งหากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี เก็บด้วยความไม่รู้ ขาดความเข้าใจ คุณค่าก็จะหายไปอย่างน่าเสียดาย

          "ปัญหาที่มักพบคือ จุดเหลือง รอยดำทั้งนี้ การเก็บแสตมป์เพื่อรักษาสภาพ มีรายละเอียด และต้องพิถีพิถัน ซึ่งรูปแบบการเก็บรักษามีด้วยกันหลายวิธี ส่วนจะเก็บหมวดหมู่ไหน เก็บสิ่งใด ขึ้นอยู่กับความชอบ ความสนใจของแต่ ละบุคคล"

          การเก็บแบบดั้งเดิมจะติดลงในเล่ม โดยรูปแบบการเก็บลักษณะนี้มีมายาวนานนับร้อย ๆ ปี ช่วง 50 ปีที่ผ่านมาก็ยังมีให้เห็น แต่รูปแบบนี้ในเวลาต่อมาอาจทำให้คุณค่าลดลง ทั้งนี้ สำหรับ "ฮิงค์" แผ่นกระดาษเล็ก ๆ ที่ใช้ติดด้านหลังแสตมป์ก่อนจัดเก็บลงในเล่ม แม้จะรักษาสภาพแสตมป์ให้คงอยู่ได้ แต่เมื่อนำออกมาชื่นชม ก็อาจดูเหมือนว่าแสตมป์ดวงนั้น...มีตำหนิ...ยุคต่อมามีเซลลูลอยด์ที่เรียกว่า "เมาท์" จัดเก็บดวงแสตมป์ เก็บรักษาได้ดี ไม่เกิดปัญหา เป็นรูปแบบในยุคปัจจุบันที่ใช้กัน แต่อย่างไรก็ตาม ไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น อากาศเปลี่ยนแปลงได้กะทันหัน การเก็บทั่วไปจึงควรรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ควรเก็บในสถานที่ใกล้ ความร้อน ความชื้นสองสิ่งนี้ต้องหลีกให้ไกล เพราะมีผลต่อดวงแสตมป์ในระยะยาว

          "การเก็บในที่นี้จึงไม่ใช่แค่ครอบครอง เก็บอย่างเดียว แต่ควรเก็บให้ถูกวิธีเพื่อรักษาคุณค่า ความงาม ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน อีกทั้งการเก็บสะสม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด หากรู้ถึงเรื่องราวสิ่งนั้น ๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มคุณค่า มีความหมาย"

          สำหรับแสตมป์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ไพโรจน์อธิบายเพิ่มว่าต้องเข้าใจก่อนว่าแสตมป์มี 2 ลักษณะคือ แสตมป์ที่ใช้กันทั่วไป และแสตมป์ที่ระลึก โดยแสตมป์ทั่วไปคือที่ใช้ส่งจดหมาย การออกมาแต่ละครั้งจะมีจำนวนมาก สามารถพิมพ์เพิ่มได้ต่อเนื่อง และรูปแบบการจัดพิมพ์ก็จะมีความแตกต่างกันไป จากในอดีตถึงปัจจุบันใน ช่วงรัชสมัยของพระองค์ท่านมีขึ้นทั้งหมด 10 ชุด โดยชุดแรกเป็นที่จดจำกันได้ดี บนดวงแสตมป์เขียน "ไทย-SIAM" พอมาถึงชุดที่สอง จะเขียน "THAILAND"

          ส่วนแสตมป์ที่ระลึก จะออกมาในวาระพิเศษต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็มีหลากหลายชุด ซึ่งแสตมป์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่าน ตามข้อมูลไปรษณีย์ไทย ทั้งที่ระลึก และแสตมป์ที่มีใช้ทั่วไป มีทั้งหมด 70 ชุด ดวงล่าสุดออกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

          นักสะสมรายนี้ยังให้มุมมอง วิธีจัดเก็บธนบัตรด้วยว่า ในกลุ่มนี้ควรเก็บโดยไม่พับ ไม่ให้มีรอยยับ หักงอ ควรเก็บในซองพลาสติกใส แยกเป็นฉบับ ๆ และเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิเหมาะสม จะช่วยรักษาสภาพเดิมไว้ได้ยาวนาน แต่อย่างไรแล้วก็ต้องยอมรับความเสื่อมที่ย่อมจะมี ซึ่งการเก็บธนบัตรอาจเก็บใส่เล่มคล้ายกับการเก็บแสตมป์ได้เช่นกัน ก็จะยิ่งเพิ่มความสมบูรณ์

          "กรณีที่ต้องการเคลือบผิวรักษาสภาพ ก็เป็นอีกวิธีช่วยถนอมดูแลธนบัตร แต่แนะนำให้ใส่ซองแก้วหนึ่งชั้นก่อนการเคลือบ ไม่เคลือบพลาสติกในทันทีเพราะอาจเกิดปัญหากับธนบัตรได้ โดยเฉพาะถ้าต้องการเคลือบผิวใหม่ในอนาคต"

          ในส่วน การจัดเก็บนิตยสาร หนังสือ พิมพ์ก็ควรจัดเก็บตามลักษณะ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ ซึ่งพับกลาง ก็เก็บในลักษณะนั้น หรือจะไม่พับก็ได้ แต่ควรใส่ซองพลาสติกสวมทับ เพื่อถนอมรักษา ชะลอความเสื่อมของกระดาษ จัดวางในแนวนอน หรือหากมีที่แขวนหนังสือพิมพ์ จะจัดเก็บในลักษณะนี้ก็ทำได้ แล้วแต่ความสะดวก ทั้งนี้ ย้ำว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอสำหรับของสะสมในกลุ่มกระดาษ คือ เลี่ยงเก็บในที่อับชื้น เพราะเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของกระดาษ เช่นเดียวกับอุณหภูมิ ในที่ร้อนมาก ๆ ก็ไม่ควร สำหรับ หนังสือนิตยสาร ควรจัดเก็บเหมือนในห้องสมุด ในแนวตั้ง เก็บเป็นหมวดหมู่จะช่วยให้ค้นหามาอ่านได้สะดวก

          ...ไม่ว่าจะสะสมสิ่งใด ทุกของสะสมล้วนมีคุณค่าต่อจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของสะสมที่คนไทยกำลังสนใจมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้ การสะสมที่สมบูรณ์ นอกจากเก็บถูกวิธีแล้ว หากรู้ถึงข้อมูลต่าง ๆ ก็จะยิ่งเป็นของสะสมที่เปี่ยมคุณค่า...

          แม้กาลเวลาจะเนิ่นนานเท่าใด.

 

 

          "เก็บสะสมสิ่งใดไว้ ก็ต้องไม่ลืมนึกถึง"

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ทิวา เผื่อนปฐม

          การทำความสะอาดเพื่ออนุรักษ์เหรียญ

          ลักษณะเหรียญก่อนและหลังการอนุรักษ์

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พ.ย. 2559