เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการเกร็ดน่ารู้ » รายละเอียดเกร็ดน่ารู้

เกร็ดน่ารู้ เรื่อง ค่านิยมไทยกับไทยแลนด์ 4.0 (1)




          จากอดีตที่ผ่านมาพบว่าทั้ง 3 เวอร์ชั่น ไม่สามารถนำพาประเทศไทยผ่านกับดักความยากจนไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง หรือรายได้สูง ได้ดี ขณะที่คำว่า "นวัตกรรม" จะเป็นกุญแจ (Keyword) ไขประตูสู่ความ ก้าวหน้ามั่งคั่งของประเทศ แต่เมื่อพิจารณาจากแง่ของการบริหารจัดการแล้วมีเรื่องที่ผู้บริหารควรให้ความสำคัญมากอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของค่านิยมที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิผลในการดำเนินงาน  ข้อมูลผลการศึกษาเรื่องค่านิยมของไทยที่จัดทำโดยนักวิชาการที่มี ชื่อเสียงทั้งไทยและเทศผนวกกับประสบการณ์จริงที่ดิฉันได้พบปะผู้บริหาร และพนักงานขององค์กรชั้นนำของไทยหลายแห่งพบว่าค่านิยมไทยบางประการอาจไม่เอื้ออำนวยให้องค์กรไทยและคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมในระดับที่จะทำให้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 เป็นจริงขึ้นมา  เรามาเรียนรู้ด้วยกันค่ะว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมค่านิยมเป็นอย่างไร มีงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมค่านิยมประจำชาติที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกก็คือ งานของ กีร์ท ฮอฟสตีด เขาได้นำเสนอมิติ 5 ประการที่ใช้จำแนกวัฒนธรรมค่านิยมของประเทศต่างๆ ดังนี้

          ระยะห่างของอำนาจ (Power distance) หมายถึงระดับที่สังคมคาดหวังหรือยอมรับว่าสังคมนั้นๆ มีความแตกต่างของคนในแง่ระดับของอำนาจ โดยคะแนนที่สูงแสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นคาดหวังหรือยอมรับว่า บุคคลบางคนที่มีสถานะทางสังคม มีตำแหน่งที่สูงกว่าสามารถแสดงหรือใช้อำนาจได้มากกว่าบุคคลที่มีสถานะต่ำกว่า และคะแนนที่ต่ำสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ผู้คนเห็นว่าคนเราควรมีสิทธิ์เท่ากัน ไม่ควรที่ใครคนหนึ่ง จะมีหรือแสดงอำนาจมากกว่าคนอื่น งานวิจัยพบว่าสังคมไทยมีคะแนนสูง แสดงว่าช่องว่างระหว่างอำนาจของคนในสังคมมีสูง คนที่มีสถานะทางสังคมสูงแสดงอำนาจได้มากกว่า สังคมชาวญี่ปุ่นก็มีช่องว่างทางอำนาจสูง เช่นกัน ส่วนสังคมชาวอเมริกันมีความเท่าเทียมกันสูง

          การหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน (Uncertainty avoidance) หมายถึง ระดับที่สังคมหนึ่งๆ ยอมรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนได้มากน้อยต่างกัน โดยไทยเป็นสังคมที่คนไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ส่วนสังคมที่รับความเสี่ยงได้มากกว่า คือสังคมชาวจีน สังคมชาวสวีเดน เป็นต้น

          ปัจเจกนิยมหรือการรวมหมู่เป็นกลุ่ม (individualism vs. collectivism) สังคมที่เป็นปัจเจกนิยม หมายถึงสังคมที่คนในสังคมมีความเป็นตัวของตัวเองสูง จะทำอะไรก็คำนึงถึงความชอบและความต้องการของตนเองเป็นหลัก ตรงข้ามกับสังคมที่มีการรวมหมู่เป็นกลุ่มที่คนในสังคมมีความสัมพันธ์ผูกพันกับสมาชิกคนอื่นในกลุ่มแบบเหนียวแน่น ใครจะคิด จะพูด หรือทำอะไรจะคำนึงถึงความรู้สึกและการยอมรับของสมาชิกคนอื่น แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าสังคมไทยเน้นการเป็นกลุ่มค่ะ ส่วนสังคมที่มีความเป็นปัจเจกนิยมสูงคือ สังคมชาวอเมริกัน

          ความเป็นชาย กับ ความเป็นหญิง (Masculinity vs. Femininity) ค่านิยมของสังคมที่มีความเป็นชายสูง คือสังคมที่มุ่งการแข่งขัน มีความเป็นวัตถุนิยม คนในสังคมมีความทะเยอทะยานต้องการความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ในขณะที่สังคมที่มีความเป็นหญิงสูงจะเน้นเรื่องความสุขทางจิตใจมากกว่าวัตถุ งานวิจัยบ่งชี้ว่าสังคมไทยเน้นเรื่องของจิตใจ สนใจเรื่องความสุขใจมากกว่า แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย สังคมที่มีความเป็นชายสูงมากคือชาวญี่ปุ่น

          การมองระยะยาว กับ การมองระยะสั้น (Long term orientation vs. short-term orientation) สังคมที่นิยมการมองระยะยาว จะเน้นเรื่องของ การมองไปในอนาคต การมีวิสัยทัศน์ การวางแผน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ง่าย มองความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือช่วยเตรียม ความพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง มีความมัธยัสถ์และเน้น การออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต ตัวอย่างคือสังคมจีนและญี่ปุ่น ขณะที่สังคมไทย  และปากีสถานเป็นสังคมที่มองระยะสั้น เป็นสังคมที่ยึดมั่นกับบรรทัดฐาน ประเพณีนิยม ไม่ค่อยเปิดรับการเปลี่ยนแปลง ไม่เน้นการออม มองการศึกษา ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเลื่อนสถานะทางสังคมมากกว่าเรียนเพื่อรู้

          อ่านมาถึงตรงนี้แล้วกรุณาอย่าเพิ่งหงุดหงิดผิดหวัง คราวหน้าจะมี เรื่องของวิธีการปรับค่านิยมอย่างไรจึงจะส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมโดยไม่ทิ้งความเป็นไทยค่ะ

          สิ่งที่ยาก คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมคน ขึ้นอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าสิ่งนี้ใช้ได้จริง และมีประโยชน์

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พ.ย. 2559