เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สอน.หนุนพลิกผืนนาทำไร่อ้อย เผยราคามั่นคงกว่าปลูกข้าวขายปั้นอีสานแหล่งผลิตป้อนตลาดโลก

       

 

  โพสต์ทูเดย์ สอน.หนุนเกษตรกรพลิกผืนนาทำไร่อ้อยแทน ชี้ราคาดีกว่าปลูกข้าวส่อราคาตกต่ำไม่หยุด

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามกับ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย พัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดทั้งสนับสนุนเกษตรกรให้หันมาพลิกผืนนาทำไร่อ้อยแทนการปลูกข้าวหลังราคาตกต่ำต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ โดยเฉพาะเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทาง สอน.จะผลักดันให้หันมาทำไร่อ้อยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศมีโรงงานน้ำตาลรวมกว่า 50 แห่ง แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตมากถึง 1 หมื่นตัว/วัน

          อย่างไรก็ตาม ในปีฤดูการผลิต 2557/2558 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1 ล้านไร่ ผลิตอ้อยได้ 106 ล้านต้น ในจำนวนนี้นำไปผลิตน้ำตาลได้สูงถึง 11.3 ล้านตัน และยังมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มตามกำลังผลิตในประเทศ 2.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศไทยสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท

          "มูลค่ารายได้ภาพรวมของประเทศและมูลค่าการส่งออกอ้อยและน้ำตาลของไทย เรียกได้ว่าเรายังคงส่งออกอันดับที่ 1 ของเอเชียและอยู่อันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล ซึ่งจากการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการต่อ ยอดแนวทางการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ให้ได้อย่างครอบคลุม เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้า ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง" นายสมศักดิ์ กล่าว

          ด้าน นายกิตติชัย กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานด้านภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกอ้อยที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 44% ในภูมิภาค และในอนาคตจะเพิ่มพื้นที่การปลูกอ้อยอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลตั้งเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจากที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 19 โรงงาน ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปเอเชียและของโลก

          นายกิตติชัย กล่าวอีกว่า ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากกว่า 50% จะอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตยั่งยืน ทั้งนี้ตามกรอบความร่วมมือครั้งนี้ มข.จะให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งการวิจัยสายพันธุ์อ้อยที่ทนต่อสภาพแวดล้อมและสภาพดินครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยแทนข้าวแนวโน้มราคาตกต่ำเพราะชาติคู่แข่งเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวและส่งออก--จบ--

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

รูปภาพจาก : www.thaiwatersystem.com