เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
พ.ร.บ.ยาง...แก้ปัญหาได้จริงหรือ

          ดร.ธนิต โสรัตน์ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน ต่อการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นกฎหมายซึ่งพี่น้องชาวสวนยางได้ผลักดันผ่าน 4-5 รัฐบาล และรอคอยมาเกือบ 10 ปี หากมีการลงพระปรมาภิไธยจะเป็นกฎหมายยางพาราฉบับแรก และอาจเป็นต้นแบบให้กับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ

          นัยสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับเอกภาพในการบริหารจัดการยางทั้งระบบด้วยการรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไว้ด้วยกัน

          นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการเก็บเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือที่เรียกว่า "CESS" ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 กฎหมายใหม่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถนำเงินไปช่วยเหลือเกษตรกรและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวกับยางได้มากขึ้น ซึ่งเดิมเงินที่ได้จากค่า CESS ส่วนใหญ่ไปใช้ด้านงานวิจัยและการปลูกยางทดแทน

          อย่างไรก็ตาม 1 วันหลังจากผ่าน พ.ร.บ. ส่งผล ให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้น 2.43% และน้ำยางสดราคาปรับตัวสูงขึ้น 4.58%

          ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยางฉบับใหม่ว่าจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพหรือกลับไปสู่ระดับราคาเกิน 100 บาท/กิโลกรัม คงไม่ใช่ เพราะประเทศไทยส่งออกยางในรูปวัตถุดิบสูงถึง 86% ของผลผลิตทั้งหมด ครึ่งหนึ่งส่งไปให้กับประเทศจีนที่ปัจจุบันเข้ามาลงทุนปลูกยางแบบครบวงจรจนถึงขั้นการส่งออกทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันรวมกันกลายเป็นแหล่งปลูกยางมีปริมาณเท่ากับประเทศไทย แต่ต้นทุนและราคาต่ำกว่ามาก ตลาดยางมีการแข่งขันราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก

          ทั้งนี้ การมี พ.ร.บ.ยางฉบับใหม่อาจไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ราคายางสูงอย่างที่หวังไว้

          ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลเป็นกฎหมายแบ่งปันผลประโยชน์ชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายในสัดส่วน 70:30 ใช้กันมา 30 ปี แต่ผลคือเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังยากจน จากราคา (กลาง) ที่ประกาศเป็นราคารับซื้ออ้อยยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิต กองทุนสงเคราะห์อ้อยและน้ำตาลต้องเข้าไปช่วยปีละเป็นหลักหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม คงไม่เถียงว่าการมี พ.ร.บ.ยางย่อมดีกว่าไม่มีอย่างแน่นอน แต่เรื่องราคาคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

          ทั้งนี้ การมี พ.ร.บ.ยาง ซึ่งจะนำไปสู่การแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรคงไม่ใช่เรื่องที่ "กฎหมายจะเนรมิตได้" ซึ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โอกาสที่ยางพาราจากประเทศเพื่อนบ้านจะส่งเข้ามาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปยางในประเทศก็มีความเสี่ยงสูง

          ดังนั้น หลังจากที่มี พ.ร.บ.ยางออกมาอย่างที่ต้องการแล้ว แต่ก็ยังคงต้องมีการบ้านอีกมากมายให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปดำเนินการหาทางแก้ปัญหา ทั้งจากราคาที่ตกต่ำ ต้นทุนสูง ปัญหาขาดแรงงาน การลดพื้นที่เพาะปลูก ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน และอีกสารพัดปัญหา

          คงเป็นหนังม้วนยาวไม่จบลงง่ายๆ...จริงไหมครับ

          (สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)


ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  19 พ.ค. 58  หน้า B12