เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
"ฮ.จิ๋ว" โฉมใหม่งานเกษตร

          สาลินีย์ ทับพิลา

          'เฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับเพื่อการเกษตร' (Yamaha Rmax) เทคโนโลยีที่เหมาะสมตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและวิกฤติแรงงาน นำเข้าโดยไทยยามาฮ่ามอเตอร์ก่อนที่จะส่งต่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิจัยนำร่องใน 5 พืชเศรษฐกิจ คาด 2 ปีพร้อมทำตลาดเชิงพาณิชย์

          จุดเด่นคือ ความสามารถในการควบคุมตำแหน่งความสูงที่แม่นยำ ความมีเสถียรภาพของอากาศยาน มีความแม่นยำสูงในภารกิจหว่านเมล็ดพืช ปุ๋ยและพ่นยาฆ่าแมลง โดยลดการฟุ้งกระจายจึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต ทั้งลดความเสี่ยงในการใช้ ยาฆ่าแมลง เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกและพัฒนา งานด้านการเกษตรให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

          นวัตกรรมแก้คนขาดแคลน

          พงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการเงิน วางแผนและบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรรมญี่ปุ่นเคยเผชิญวิกฤติขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับรัฐบาลปรับลดพื้นที่การเกษตร ทำให้หลายฝ่ายต้องบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

          สมาคมการบินเพื่อเกษตรกรรมญี่ปุ่นร้องขอให้ ยามาฮ่ามอเตอร์วิจัยและพัฒนาด้วยโจทย์หลักในการแก้ปัญหา โดยคงเรื่องความปลอดภัยและความคุ้มค่าทางพาณิชย์ กระทั่งปี 2526 จึงเกิดรุ่นทดสอบแบบ 2 ใบพัด ก่อนจะเปิดเป็นเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับเชิงพาณิชย์เครื่องแรกของโลกในปี 2530 คือรุ่น R50แบบใบพัดเดี่ยว แต่การพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ตามมาด้วย RMAX Type IIG ในปี 2549 ที่สามารถติดตั้งระบบควบคุมความเร็วด้วย จีพีเอส และระบบควบคุมทิศทางที่เสถียรขึ้น

          การตอบรับใช้เทคโนโลยีเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับในญี่ปุ่นเป็นไปอย่างดี และมีองค์ประกอบที่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย เพราะแม้จะไม่ใช้คนขับ แต่ต้องมีทีมงานทำหน้าที่ควบคุม 3 คน ซึ่งต้องผ่านการทดสอบและมีใบรับรอง ทำให้ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีเฮลิคอปเตอร์ไร้คนขับที่ขึ้นทะเบียนกว่า 2.6 พันลำ และผู้ควบคุมอีกกว่า 2 พันคน

          "อีกไม่นาน ไทยจะเจอวิกฤติแรงงานเช่นเดียวกับญี่ปุ่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี เกษตรกรรมของไทยแตกต่างจากญี่ปุ่น เราจึงต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ไปตอบโจทย์เกษตรกรให้มากที่สุด" ผู้บริหารไทยยามาฮ่ามอเตอร์กล่าว

          ในช่วงแรก ทางผู้นำเข้าคาดหวังให้กลุ่มเกษตรกรที่ทดลองใช้เห็นประโยชน์และบอกต่อแบบปากต่อปาก ในขณะเดียวกันก็จะเข้าไปยังกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ด้วยมองว่า คนไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้ดี และหากเห็นว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ตนเองได้ก็จะยอมรับเร็วขึ้น ทั้งนี้ Yamaha Rmax จะใช้งานวิจัยเป็นตัวนำและสร้างกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ซึ่งคาดว่าจะเวลา 3-4 ปีสร้างตลาดให้กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่สนใจและพร้อมใช้งานมากขึ้น

          ด้านกฎระเบียบ พงศธรกล่าวว่า กรมการบินพลเรือนอยู่ระหว่างการร่างกฎเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งปัจจุบันมีปะปนอยู่หลายประเภททั้งในเรื่องของการเกษตร การสอดแนม การสำรวจ ซึ่งส่งผลต่อประเด็นความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี เชื่อว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยของญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยที่จะเสริมความน่าเชื่อถือ

          วิจัยเปิดทางสู่เกษตรกร

          สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับไทยยามาฮ่า มอเตอร์ ในเรื่องการประยุกต์ใช้ Yamaha Rmax กับการเกษตรในประเทศไทยเพื่อนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ข้าว อ้อย ข้าวโพดและสับปะรด

          "เราตั้งเป้าการวิจัยนี้ 2 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหากรอบการวิจัย ซึ่งอาจจะต้องแยกย่อยลงไปในพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด และคาดว่าในปี 2560 จะพร้อมทำตลาดเชิงพาณิชย์ เนื่องจากพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิดถือว่า มีปริมาณมาก และต้องการแรงงานจำนวนมากเช่นกัน"

          เทคโนโลยีราคาสูงนี้อาจจะต้องทำตามโมเดลญี่ปุ่นคือ บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบตัวเครื่องและทีมงาน โดยให้บริการเกษตรกรเป็นครั้งๆ ซึ่งในช่วงแรกนี้ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งอาจจะมากกว่าหรือเท่ากับการใช้แรงงานคนในการฉีดพ่นยา ปุ๋ย หรือหว่านเมล็ด แต่ใช้เวลาน้อยกว่า ไม่มีปัญหาสารเคมีฟุ้งกระจายไปในพื้นที่ใกล้เคียง แต่อนาคต หากมีความต้องการมากขึ้น ราคาก็อาจจะถูกลง

          "ในช่วงแรกของงานวิจัยเราใช้ YAMAHA RMAX Type IIG แต่ในญี่ปุ่นได้พัฒนารุ่นใหม่คือ FASER ที่ควบคุมทิศทางเสถียรขึ้น เครื่องยนต์ดีขึ้น เสริมประสิทธิภาพในการฉีดพ่น ซึ่งหากตลาดตอบรับดีก็มีโอกาสที่จะนำเข้ามาในไทยต่อไป"นักวิจัยไทยกล่าว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 13 ก.ค. 58  หน้า 09