เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
สกว.หนุนเสริมการวิจัยพัฒนา "ไหมอีรี่" สู่อุตสาหกรรม

          เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งกรมหม่อนไหมและ สกว. ได้มีการ ประชุมร่วมภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกร ในโครงการ "วิจัยและพัฒนาไหมอีรี่สู่ภาคอุตสาหกรรม" ณ กรมหม่อนไหม เพื่อร่วมกันพัฒนาและเพิ่มช่องทางการตลาดไหมอีรี่ให้มากยิ่งขึ้น

          ศ.ดร.ทิพย์วดี อรรถธรรม อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นักวิจัย สกว. กล่าวถึงอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ในไทยว่า ยังคงประสบปัญหาในหลายๆ เรื่อง ได้แก่ 1.การประกันราคา เกษตรกรอยากให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นในการประกันราคาขั้นต่ำเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะเลี้ยงมากขึ้น 2. เกษตรกรจะมีดักแด้ส่งขายได้ตลอดหรือไม่ หากทางภาคส่วนงานวิจัยสามารถจัดหาเครือข่ายผู้รับซื้อได้เพิ่มขึ้น 3.การเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ยังขาดแนวทางการวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เป็นระบบ 4.ยังขาด ผู้ที่เข้ามาพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ 5.ทางศูนย์หม่อนไหมในพื้นที่จะสามารถเอื้ออำนวยเกษตรกรโดยการเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเพื่อให้ทางบริษัทเอกชนมารับซื้อสินค้าจากจุดๆ เดียว เพื่อประหยัดต้นทุนด้านเวลาและน้ำมันของผู้รับซื้อได้หรือไม่ และ 6.เกษตรกรต้องการให้ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยการเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้ให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการจนกว่าจะจัดจำหน่ายสินค้า

          รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผอ.ฝ่ายเกษตร สกว. กล่าวถึงการบริการทางวิชาการด้านทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านไหมอีรี่ ว่า สกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยเรื่องไหมอีรี่ มาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน เพื่อผลักดัน ให้ไหมอีรี่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากการทำวิจัยไหมเรื่องอีรี่ของ ศ.ดร.ทิพย์วดี พบว่า มีความสอดคลองกับยุทธศาสตร์ สกว.ที่ต้องการมุ่งเน้นการพัฒนาด้าน 1.การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากไหมอีรี่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการเกษตรที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องนี้ 2.การสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมไหมอีรี่ทำให้เกษตรกร ผู้ปลูกมัน

          สำปะหลังมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการปลูกมันเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างความเท่าเทียมเรื่องฐานรายได้ให้กับเกษตรกร 3.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีงานวิจัยเทคโนโลยี สะอาดในการเลี้ยงไหมอีรี่ นอกจากนี้ปัจจุบันโจทย์วิจัยไหมอีรี่ ยังมีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ สกว. ข้อสุดท้าย คือ การสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยนักวิจัยพยายามค้นหาคำตอบและวิธีการในการสร้างความยั่งยืนในอาชีพนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม

          อย่างไรก็ตาม สกว.ยังคงให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและพัฒนางานวิจัยที่สอดรับในการแก้ปัญหาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งในส่วนของการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 14 ก.ค. 58  หน้า 13