เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ต่อยอดนวัตกรรมแผ่นใยไหม

          หลังจากที่กรมหม่อนไหมมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรผู้มีอาชีพเลี้ยงไหมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพ ด้วยหาวิธีการต่างๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในการเลี้ยงไหมให้เกษตรกร เพื่อไม่ให้อาชีพนี้สูญหายไป ปรากฏว่า ทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  น่าน นำไปต่อยอดด้วยการส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ จ.เชียงราย ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

          สำราญ สุขใจ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน บอกว่า ตามที่ศูนย์เข้าไปส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และองค์ความรู้ต่างๆ ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มากว่า 20 ปี โดยมี ผศ.ประยูร ห่วงนิกร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้นำผลงานของกรมหม่อนไหมไปถ่ายทอดให้เกษตรกรที่บ้านป่าเลา ต.ดงมหาวันอ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ทั้งการผลิตแผ่นใยไหมให้เกษตรกรผลิตเชิงการค้า จนสามารถผลิตแผ่นใยไหมบนเฟรมขนาด 60x80 ซม. รวมถึงสนับสนุนแผ่นไข่ไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง ซึ่งเป็นไหมลูกผสมระหว่างพันธุ์ทับทิมสยามกับพันธุ์วนาสวรรค์ ของกรมหม่อนไหม สามารถนำมาผลิตแผ่นใยไหมได้เป็นเส้นสีเหลืองทองอร่ามและมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการผลิตแผ่นใยไหม และได้เริ่มขยายการส่งเสริมให้มีการผลิตแผ่นใยไหมไปยังกลุ่มเกษตรกรที่ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย พบว่ามีเกษตรกรสนใจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำนวนมาก

          จากการสำรวจ โดยเปรียบเทียบจากการเลี้ยงไหมเพื่อสาวเส้นไหม และการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตแผ่นใยไหม พบว่าการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตเส้นไหม จากไข่ไหม 1 แผ่น มีรายได้จากการขายเส้นไหมและดักแด้ ประมาณ  2,710-3,540 บาท ส่วนการเลี้ยงไหมเพื่อผลิตแผ่นใยไหม จากไข่ไหม 1 แผ่น มีรายได้จากการขายแผ่นใยไหมและดักแด้ ประมาณ 5,400-6,300 บาท ซึ่งจากการผลิตแผ่นใยไหมแต่ละรุ่นนั้น ไข่ไหม 1 แผ่น สามารถผลิตแผ่นใยไหมได้ 70-80 แผ่น และผู้ประกอบการจะรับซื้อในราคาแผ่นละ 60-70 บาท นอกจากนี้เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายดักแด้อีกส่วนหนึ่งประมาณ 1,350-1500 บาท

          ล่าสุด นักเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อ.เมือง จ.เชียงราย ได้นำแนวคิดจากการผลิตแผ่นใยไหมไปทำโครงงานศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหมจากตัวหนอนไหม และสมาคมวิทยาศาสตร์ ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำส่งไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ในงาน อินเทล ไอเซฟ 2015 ครั้งที่ 66 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนได้รางวัลชนะเลิศสาขาสัตวศาสตร์ และรางวัลอื่นๆ อีก รวม 3 รางวัลอีกด้วย

          การผลิตแผ่นใยไหมจึงเป็นทางเลือกใหม่ นอกจากการขายเส้นไหม ดักแด้ไหม และทอผ้าไหม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของแผ่นใยไหมอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 15 ก.ค. 58  หน้า 10