เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เกษตร-พืชไร่กระอัก แบงก์ปิดตายปล่อยกู้กลุ่มตกยุค ดิจิตอลไล่ฆ่า SMEs

          กรุงศรีฯชี้ส่งออกถั่วแระรุ่ง
          แบงก์จัดระเบียบสินเชื่อเอสเอ็มอีสกัดหนี้เสียพุ่ง ลั่นปิดประตูปล่อยกู้ธุรกิจตกยุคดิจิตอล เผยภาคเกษตร พืชไร่ วัสดุก่อสร้างขนาดเล็กมีสิทธิ์สูญพันธุ์ กรุงไทยยันยังปล่อยกู้ปกติ เน้นเอสเอ็มอีบัญชีเดียว
          ธนาคารรัฐสนองนโยบายรัฐบาล จัดสินเชื่อกว่า 2 แสนล้านบาท เข้าดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2561 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี เนื่องจากความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มนี้ที่ยังเพิ่มไม่หยุด
          นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นธุรกิจที่ได้รับแรงผลกระทบมากต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และในปี 2561 จะเป็นปีที่เห็นผลต่อเนื่องชัดเจนขึ้น
          โดยธุรกิจใดที่ไม่ปรับตัวจะถูกภัยคุกคามจากเทคโนโลยี(Technology Disruption) ธุรกิจที่มีต้นทุนแพงกว่าจะถูกธุรกิจที่มีต้นทุนถูกกว่าแย่งตลาด เช่น ต้นทุนการผลิตที่จีนที่ถูกกว่า หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน
          "ปัญหาของธุรกิจเอสเอ็มอี คือ จะต้องปรับตัวให้ทัน ปรับโมเดลธุรกิจ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ธนาคารและสถาบันการเงินก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยลดความเสี่ยงในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มที่แข่งขันไม่ได้ และไม่ปรับตัว อาทิ กลุ่มเกษตร หรือกลุ่มที่มีต้นทุนสูง เป็นต้น"
          ขณะเดียวกันการติดตามปัญหาหนี้จะต้องรวดเร็วขึ้น เพราะปัญหาเอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอี ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในปีหน้างวด 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เอสเอ็มอี รวม 4.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2559 ที่4.48 ล้านล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว แต่ยังขยายตัวได้ในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 4.42% เป็น 4.63% ต่อสินเชื่อรวม
          นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกค้าขนาดเล็กและเล็กมากๆถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง ที่ธนาคารอาจจะลงลึกไม่ได้ เหมือนเช่นที่ธนาคารเฉพาะกิจ(SFIs) ดำเนินการ ธนาคารจึงเน้นกลุ่มที่ขยายตัวได้ดี เช่นท่องเที่ยว ส่งออก และค้าปลีก
          ส่วนกลุ่มที่ยังเป็นกลุ่มที่เฝ้าระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยง จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร พืชไร่ หรือกลุ่มวัสดุก่อสร้างขนาดเล็กในบางพื้นที่ เป็นต้น
          จี้แฟชั่น-อาหารปรับตัว
          แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ กล่าวว่า เอสเอ็มอีปีนี้ในรายที่มีปัญหา ยังสามารถประคองตัวอยู่ได้ ปีหน้าแนวโน้มน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆจากนโยบายรัฐบาล ที่มีมาตรการส่งเสริมผลักดันออกมาเป็นระยะ
          "จากที่สำรวจหลายธุรกิจมียอดขายลดลง ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อหมุนเวียนลดลงเช่นกันซึ่งถือเป็นความระมัดระวังของลูกค้าเองด้วย ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องปรับตัว เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยประเภท อาหาร  เสื้อผ้า เป็นต้น
          BAYชี้ส่งออกถั่วแระรุ่ง
          นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กต้องช่วยตัวเองให้อยู่รอดในภาวะที่เศรษฐกิจและการทำตลาดปรับตัวเร็วมาก ที่สำคัญต้องดูการเปลี่ยนแนวการทำตลาดบนออนไลน์ นอกจากสร้างธุรกิจใหม่ๆเช่น โลจิสติกส์แล้ว หากเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าขายหน้าร้าน ฝากขาย อาศัยโฆษณาสามารถเลือกเป็นช่องทางทำตลาดจะทำให้ต้นทุนถูกและเข้าถึงลูกค้าได้
          ที่ผ่านมายอมรับว่าผู้ประ กอบการรายเล็กยังมีปัญหา แต่ไม่สามารถเหมารวมว่าทั้งอุตสาห กรรมไม่ดี โดยธนาคารพบลูกค้าภาคเกษตรยังไปได้ดี เช่น ส่งออก ถั่วแระและมันสำปะหลังไปตลาดญี่ปุ่น ขณะที่บางสินค้าราคาตกต่ำก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในส่วนของสถาบันการเงินเองมีวงเงินจำกัด จึงไม่สามารถช่วยทุกรายจึงต้องเน้นกลุ่มที่จะอยู่รอดแล้วสนับสนุนให้เติบโตได้
          กรุงไทยยันยังปล่อย
          นายปฏิเวช สันตะวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าเติบโตธุรกิจเอสเอ็มอี 2 เท่าของจีดีพี กลุ่มเป้าหมายมุ่งส่งเสริมตามนโยบายภาครัฐ เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม ธุรกิจเกี่ยวข้องท่องเที่ยว เกษตรต่อเนื่องที่มีมูลค่าเพิ่ม และพื้นที่ในเป้าหมายอีอีซี และในภูมิภาคเออีซี
          สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นๆ ยืนยันว่ายังคงปล่อยสินเชื่อตามปกติอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจเอสเอ็มอีมีทั้งที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อและไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพิจารณาตามหลักเกณฑ์คุณสมบัติของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งหากกลุ่มไหนที่ไม่ได้รับการอนุมัติ อาจเป็นผลมาจากสถานะที่อ่อนแอ และไม่มีการปรับตัวหรือการพัฒนา ทั้งในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผลิต และการตลาด เป็นต้น รวมถึงการทำบัญชีเดียว เป็นสิ่งที่ธนาคารจะให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งลูกค้ากลุ่มใดที่ไม่ได้เข้าสู่บัญชีเดียว จะได้รับการพิจารณาสินเชื่อภายใต้งบดุลที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะยากต่อการอนุมัติสินเชื่อในระยะข้างหน้า จึงเป็นสิ่งที่ลูกค้าเอสเอ็มอีควรรู้จุดอ่อนและรีบปรับตัวให้ทัน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
          อย่างไรก็ดี ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ประเด็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอี มีทั้งแข็งแรงและอ่อนแอ แต่ธนาคารมองในเชิงบวกคาดหวังปี 2561 ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลจะเกิดขึ้นไม่มากกว่าเดิม หรือเร่งตัวเร็วขึ้นมากนัก
 

ที่มา   :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 14 - 16 ธ.ค. 2560  หน้า  1,2
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง