เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เพิ่มขีดแข่งขัน-ลดต้นทุนรับเทรนด์โลกเปลี่ยน ดึงเทคโนฯ ปรับเอสเอ็มอี

          "เอกชน"ประเมินอีก 5 ปี ทั่วโลกเสี่ยงตกงาน 2 พันล้านคน

          แบงก์ชาติแนะผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ดึงเทคโนโลยีช่วยเพิ่มขีดแข่งขัน ลดต้นทุน การผลิต ขณะ"สอท."ชี้อุตสาหกรรมยานยนต์ มีเวลา 15 ปีปรับตัวรับมือ"รถอีวี" แนะเดินตามนโยบาย"ประเทศไทย 4.0" เร่งพัฒนาบุคลากร ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพผลิต 8-10%

          สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2561 ในหัวข้อ "เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0" โดยเชิญนักการเงิน นักธุรกิจ และนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นอดีตศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนาในครั้งนี้ เพื่อ วิเคราะห์ ศึกษา และหาทางออกให้กับธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ไทย

          นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในเวทีเสวนา "เอสเอ็มอีไทยก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0" ว่า สิ่งที่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องให้ความสำคัญ ในระยะจากนี้ไป คือการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงและ รุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการควรหันมาใช้ เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลง

          ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรให้ความ สำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะระยะข้างหน้าแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากขึ้น


          เร่งเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

          นอกจากนี้ นายวิรไท ยังกล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี  ช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นการช่วยเหลือในแง่ของการใช้นโยบายทางการเงิน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่ลืมเรื่องการสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญกว่า ซึ่งในส่วนนี้ยอมรับว่าอาจจะต้องใช้เวลา

          สำหรับในเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก พบว่าสาเหตุที่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเป็นเพราะ เอสเอ็มอี ยังไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้หรือยังมีความเข้าใจที่ไม่มากนัก และบางกลุ่มก็เลือกบริหารความเสี่ยงเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินผันผวน ยิ่งสร้างแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและทำให้ต้นทุนในการประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

          "ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงปัญหาของเอสเอ็มอีจะมีในสองเรื่องคือเรื่องเอ็นพีแอล และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นเรื่องทางการเงินดังนั้นในการแก้ไขปัญหามาตรการที่ออกมาจึงเป็นเรื่องของการเงินเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงยังมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน เช่นในเรื่องค่าเงินบาทความจริงค่าเงินบาทเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการตั้งราคาของผู้ส่งออกเท่านั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขีดความสามารถทางการแข่งขันหากเป็นการขายสินค้าตามท้องตลาดทั่วไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาได้แต่หากเป็นสินค้าเฉพาะเราสามารถปรับราคาได้เป็นต้น"


          สอท.แนะดึงเทคโนโลยีช่วย

          นายถาวร ชลัษเถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท. กล่าวในงานเสวนา "ทรัพยากรมนุษย์:ยกระดับ ปรับให้ทัน 4.0" ว่า การขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย4.0 ประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญใน 3 เรื่อง คือ คน,เทคโนโลยี และการจัดการอัจฉริยะ (Smart Management) โดยในอนาคตประเทศไทยที่ความเสี่ยงที่จะขาดแคลนแรงงานต่างด้าว หรือลดลงครึ่งหนึ่งจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน

          เนื่องจากแรงงานจะย้ายกลับประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา ที่การลงทุนในประเทศกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงจากอดีตมีอัตราการเกิดเกือบ 1 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันเหลือ 7 แสนคนต่อปี

          ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ทดแทนแรงงานที่จะลดลง เช่น ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ไลน์การผลิตในอนาคตจะใช้กำลังคนเหลือ 1 คน ทดแทน 15 คน แต่สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรม ควรดำเนินการคือจะต้องวางเป้าหมายว่า ทำอย่างไรให้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น 8-10%และยกคุณภาพสินค้าให้สูงขึ้น

          "ในอนาคตแรงงานคนอาจหายไปจากการใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทน แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีหมด ในอนาคตบริษัทอาจเจ๋งได้ ซึ่งจะต้องวางแบบโปรดักส์และกระบวนการผลิตให้ดีเพื่อแก้ปัญหานี้" นายถาวร กล่าว

          ส่วนกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนโฉม หรือ disruptive technology ค่ายรถทั่วโลกประเมินว่า จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยายนต์ของโลก โดยในปี 2583-2588 รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันแบบเต็มประสิทธิภาพ จากปี 2573 รถอีวี จะเริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 10% ซึ่งเหลือเวลาอีก 15 ปีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์จะปรับตัว

          ขณะเดียวกันมองว่า ภายใน 3-5ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะหันมาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป(CBU)


          ชี้ 5 ปี ทั่วโลกตกงาน 2 พันล้านคน

          นายภูมิพัฒน์  สินาเจริญ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ทีพีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า บริษัทได้ประเมินทิศทางทั่วโลก โดยปี2568 คาดการณ์ว่า ในแต่ละองค์กรธุรกิจจะมีสัดส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 20-35 ปี เข้าทำงานราว 75% และทำงานไม่เกิน 9 ปี เพราะลักษณะของคนรุ่นใหม่มีความอดทนน้อย และชอบทำงานที่หลากหลาย

          ขณะที่อีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2563 จำนวนชิ้นงานของบริษัททั่วโลกจะหายไป 2 พันล้านชิ้น เท่ากับว่าหนึ่งบริษัทเมื่อเข้าไปสมัครงาน จำนวนงานจะหายไป1-2 ชิ้นงานหรืออีก5ปีข้างหน้าจะทำให้คนตกงานไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านคน จากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเจ้าของกิจการจะต้องสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์กับลักษณะงานที่จะเปลี่ยนไปด้วย

          แนะเร่งพัฒนาคนรับธุรกิจเปลี่ยน

          นายสุนทร เด่นธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) มองว่าปัจจุบันเทรนด์ของโลกที่แท้จริงกำลังตระหนักถึง "คน" เพราะเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจมากกว่า ดิจิตัลอีโคโนมี ทุกบริษัทกำลังมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจ แต่ละองค์กรจะต้องมองถึงความสำคัญของคนที่ใช้หรือเห็นความสำคัญของคนในแต่ละส่วน เช่น ฝ่ายบุคคล(HR) และฝ่ายการเงินต้องทำให้ฝ่ายเหล่านี้มีส่วนร่วมเป็นพันธมิตรของธุรกิจ(strategic partner)ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานและอาจทำงานร่วมกับองค์กรในระยะยาว

          น.ส.ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องใช้ข้อได้เปลี่ยนจากลักษณะองค์กรที่เล็ก มีต้นทุนต่ำ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ และต้องทำให้เร็ว

          โดยผู้นำองค์กร จะต้องเป็นตัวจักรสำคัญที่กล้าส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  นังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 17 พฤศจิกาย 2560  หน้า 1