เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
กรมวิชาการเกษตร ผุดไอเดียปั้นต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดี...เพื่อเกษตรกร

          ปัญหาการระบาดของศัตรูมะพร้าวหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง ทั้งแมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและทำให้สวนมะพร้าวได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้พื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตมะพร้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง

          แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังมีความสนใจและต้องการที่จะปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสวนเดิมที่มีอายุมากและเสื่อมโทรม เนื่องจากเป็นพืชที่ดูแลง่าย ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ทั้งยังมีอายุการเก็บผลผลิตนานถึง 60 ปีหรือมากกว่านั้น โดยสังเกตจากยอดสั่งจองต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปีย้อนหลัง มียอดสั่งจองต้นกล้ามะพร้าวลูกผสมชุมพร 2 มากถึง 532,909 ต้น พันธุ์สวีลูกผสม 1 จำนวน39,964 ต้น มะพร้าวกะทิลูกผสม79,050 ต้น พันธุ์ไทยต้นสูง 203,080ต้น และพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม 90,315 ต้น ขณะที่กำลังการผลิตพันธุ์มะพร้าวของกรมวิชาการเกษตรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

          นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรมีต้นมะพร้าวที่ใช้เป็นต้นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ค่อนข้างจำกัด ทั้งพันธุ์ไทย พันธุ์เวสแอฟริกันต้นสูง พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย พันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย พันธุ์มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวน้ำหอม นอกจากนั้น ต้นพ่อแม่พันธุ์มะพร้าวยังมีอายุมากและต้นสูง และขาดแคลนแรงงานในการดูแลรักษาแปลงพ่อแม่พันธุ์ การตัดจั่น ทำหมันและผสมพันธุ์รวมถึงแรงงานในการตรวจเช็กการพัฒนาการของผลมะพร้าวหลังผสมติดอย่างใกล้ชิด ประกอบกับบางปีมีปัญหาเรื่องฝน ทิ้งช่วง เกิดภาวะกระทบแล้งทำให้มะพร้าวมีผลผลิตน้อยและมีอัตราการงอกต่ำ ทำให้ไม่สามารถผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีได้เต็มศักยภาพและเพียงพอกับความต้องการ

          จากปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรร่วมกับสถาบันวิจัยพืชสวน เร่งดำเนิน "โครงการวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพันธุ์ต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดี" โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเงินรายได้จาการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรกรมวิชาการเกษตร มุ่งเพิ่มศักยภาพการผลิตผลพันธุ์และหน่อพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมชุมพร2 สวีลูกผสม1 กะทิลูกผสมชุมพร 84-1 กะทิลูกผสมชุมพร 84-2 รวมทั้งมะพร้าวพันธุ์ไทยต้นสูง และพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีคุณภาพดี ตรงตามพันธุ์และได้มาตรฐาน เป้าหมายไม่น้อยกว่า 221,645 ต้นรองรับการขยายพื้นที่ปลูกของเกษตรกรรายย่อยได้ไม่น้อยกว่า 8,500 ไร่ ภายในระยะเวลา 3 ปี และในปี 2565 ได้ตั้งเป้าผลิตผลพันธุ์และหน่อพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีรวม 630,145 ต้น ให้เกษตรกรนำไปปลูกทดแทนสวนเก่าที่ต้นมะพร้าวให้ผลผลิตลดลงหรือต้นสูงที่เก็บเกี่ยวยาก

          ขณะเดียวกันยังมุ่งปรับปรุงสวนพ่อแม่พันธุ์มะพร้าวที่มีอยู่เดิม ให้เพิ่มปริมาณผลผลิตมะพร้าวให้ได้มากกว่า 72 ผล /ต้น/ปี หรือมากกว่า 6 ผล/ทะลาย ที่จะนำไปเพาะได้ พร้อมสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตพันธุ์ลูกผสมสามทางที่จะออกเป็นพันธุ์แนะนำ ช่วยเพิ่มทางเลือกสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในอนาคต

          โครงการฯดังกล่าว มีแผนดำเนินการ 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี และ 2.สร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์สำหรับการผลิตพันธุ์ลูกผสมสามทาง เบื้องต้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าวลูกผสมของกรมวิชาการเกษตรให้มีศักยภาพสูงขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคต เป็นช่องทางให้เกษตรกรมีหน่อพันธุ์มะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีใช้ปลูกแทนสวนเก่าที่อายุมากหรือปลูกแทนต้นที่ถูกแมลงศัตรูมะพร้าวทำลายจนยากต่อการบำรุงฟื้นต้น

          อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตร ได้เร่งรัดงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงทั้งผลและเนื้อมะพร้าว เป็นที่นิยมของเกษตรกรเพื่อผลในระยะยาว คือ รองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวโดยมุ่งกระจายพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีไปสู่แหล่งปลูกที่สำคัญทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมใหกับเกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศและสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวด้วย


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์สยามรัฐ  วันที่ 15 มิถุนายน 2560  หน้า  12

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง