เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
SMEs ปรับเปลี่ยนเพื่อยั่งยืน

          ดร.สมชาย หาญหิรัญ
          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


          ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการวิวัฒนาการทั้งมิติของความลึกซึ้งทางวิทยาการและความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการปฏิวัติในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้ความรู้วิทยาการกระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็เชื่อมส่วนต่างๆ และผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมของผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ จากที่เราเคยคุ้นเคย

          รวมทั้งได้เปิดโอกาสและการเผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจต่อ SMEs มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หาก SMEs ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ใช้และฉกฉวยโอกาสที่เข้าอย่างเต็มที่และเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจให้ตัวเองเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่มารวดเร็วและรุนแรงแล้ว โอกาสความยั่งยืนของธุรกิจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่ามีแต้มต่อน้อยมากในการทำธุรกิจ

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันและอนาคตที่จะมาถึง แม้ว่า SMEs จะมีความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ก็ใช่จะการันตีความสำเร็จ ผมมองว่าความรู้และวิทยาการใหม่แม้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ไม่เพียงพอในความสำเร็จของการทำธุรกิจเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากที่ SMEs ต้องปฏิรูปในภาวะเช่นนี้ สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ SMEs ต้องเร่งปฏิรูป หรือ Transform ก่อนอื่นใด คือ

          1) เปลี่ยนแนวคิดและจิตใจในการทำธุรกิจของ SMEs ก่อน นั้นคือการสร้างวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur ship) เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า SMEs ส่วนมากให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือให้บริการ (SMEs สาขา บริการ) มากกว่าสิ่งอื่น เพราะคิดว่าสินค้าหรือบริการดีสามารถขายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เพียงพอในธุรกิจปัจจุบัน และการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จนั้น ต้องตอบโจทย์ความปรารถนาของลูกค้าให้ได้ และสิ่งที่มีผลต่อความพอใจของลูกค้ามีมากกว่าผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้เท่านั้น ดังนั้น SMEs ต้องปรับเปลี่ยน จากการเป็นผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการมาเป็น "ผู้ประกอบการ" (Entrepreneur)

          2) การเปลี่ยนกระบวนการธุรกิจให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เข้มแข็ง ประหยัด และเชื่อมโยงกับทุกส่วนตลอดห่วงโซ่มูลค่าเข้าด้วยกัน โดยมองจากความต้องการผู้บริโภคเป็นตัวตั้งต้น ลงมาสู่การผลิต และวัตถุดิบ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นการเฉพาะในเชิง Customization มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในทุกด้าน ซึ่งเทคโนโลยีด้านดิจิตอลจะช่วยมาก นั้นคือ SMEs ปกติทั่วไป ต้องปรับเปลี่ยนเป็น"Digital SMEs"

          3) การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจให้สอดคล้องกับโอกาสใหม่ๆ พฤติกรรมของผู้บริโภคและโอกาสทางธุรกิจที่เปลี่ยนตลอดเวลาเป็นความท้าทายของ SMEs สินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ที่ประสบความสำเร็จ มาเป็นเวลานาน อาจถูกกวาดออกตลาดในเวลาอันรวดเร็ว อันมีตัวอย่างให้เห็นมามากมาย บางที SMEs ต้องกล้าพอที่จะเดินออกจากเงาความสำเร็จในอดีตให้ได้ แสวงหาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อให้ทันกับโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะสินค้าบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นหรือสินค้าแห่งอนาคต นั้นคือ ต้อง Transform จาก SMEs เดิมๆ ไปสู่การผลิตหรือให้บริการที่มีมูลค่าสูง "High Value (หรือ S-curve) SMEs"

          ในการผลักดันการปรับเปลี่ยนนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ SME Bankจับมือทำโครงการ SME Transformation ขึ้นมา โดยแนวคิดของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะมีโครงการสร้างจิตสำนึกผู้ประกอบการ ที่ลงไปถึงระดับสถาบันการศึกษา และลงไปถึงระดับโรงเรียน

          ทั้งการอบรมและวางหลักสูตรเสริมในวิชาต่างๆ ในโรงเรียน หรือโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneur Creation: NEC) การสร้าง Startup ที่มีวิญญาณของการเป็นนักธุรกิจ นอกเหนือความรู้ด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่จำเป็นเพราะที่ผ่านมา Startup จำนวนมากประสบความสำเร็จในอัตราที่น้อยมาก ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะ พวกเขาไม่เก่ง ส่วนมากเป็นพวกมีความรู้ ขยัน ทำงานหนัก มีความมุ่งมั่น เพียงความสำเร็จทาง ธุรกิจต้องการปัจจัยมากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะปัจจัยด้านลูกค้า

          ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐก็มีโครงการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนธุรกิจ SMEs ที่มีความพร้อม เช่น โครงการ SME Transformation Center ที่มีกิจกรรมด้านการอบรมการใช้ระบบดิจิตอลในการทำธุรกิจ ตั้งแต่ในกระบวนการผลิต การเชื่อมโยงกับลูกค้า และการตลาด รวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมดิจิตอลสำเร็จรูปให้ SMEs สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการเข้าถึงตลาดในวงกว้างมากขึ้น

          รวมทั้งมีการให้คำปรึกษาในการพัฒนาทุกกระบวนการไม่ว่าการออกแบบ บรรจุภัณฑ์ หรือแม้แต่มาตรฐาน ส่วน SMEs ผ่านระบบออนไลน์ และส่วน SMEs ที่ต้องการเปลี่ยนเป็น SMEs ที่ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือ S-Curve สถาบันเฉพาะทางที่ร่วมมือกันให้คำปรึกษา ร่วมทำงาน ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การหารือรูปแบบธุรกิจ การสร้างเครือข่ายธุรกิจที่จำเป็น ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต และการตลาด และอื่นๆ ที่จำเป็นไม่ว่าการทดสอบการขอลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ การทดสอบตลาด การหารือลูกค้า ฯลฯ จนแน่ใจถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจก่อนตัดสินใจ เพราะจะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากกว่าการเดินไปข้างหน้าคนเดียวและไม่มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจนในธุรกิจที่เราอาจไม่มีความรู้ครบถ้วน

          นอกจากนี้ เพื่อให้การสนับสนุนการปรับเปลี่ยนครบถ้วน รัฐบาลได้อนุมัติให้มีสินเชื่อ SME Transformation Loan ดำเนินการโดย SME Bank ที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และคำปรึกษาทางการเงิน การทำบัญชี รวมทั้งการบ่มเพาะ

          วันนี้ ความพร้อมในการสนับสนุน SMEs จากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนในแนวทางประชารัฐมีมากกว่า ครบถ้วน และบูรณาการกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จที่สุดของการปรับเปลี่ยนอยู่ที่ SMEs เองที่ต้องตระหนักว่าถึงเวลาที่ตนเองต้องปรับเปลี่ยน และกล้าที่จะปรับเปลี่ยน ก่อนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงจะเข้ามาหาเราจนเราไม่มีเวลาทันในการปรับเปลี่ยนตัวเอง

          สร้างจิตสำนึกผู้ประกอบการลงไปถึงระดับสถาบันการศึกษาและโรงเรียน


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 2560  หน้า 7

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง