เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
กรมการข้าวสั่งสารวัตรข้าวปูพรมตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ รับปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้ปี 2560 เป็น "ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร" เมล็ดพันธุ์ข้าว ถือเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมมาตรฐานให้มีทั้งคุณภาพและ ถูกต้องตรงตามสายพันธุ์ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจำนวนมากของประเทศ หากเกษตรกรชาวนาได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพข้าวของประเทศ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

          นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้เพาะปลูกในแต่ละปี จำนวน 1,123,600 ตัน โดยชาวนาเก็บพันธุ์ไว้ใช้เองปีละ 539,328 ตัน หรือร้อยละ 48 ส่วนที่เหลือ 584,272 ตัน หรือร้อยละ 52 เป็น เมล็ดพันธุ์ที่ชาวนาต้องซื้อหา ทั้งจากส่วนราชการ กรมการข้าว สหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้รวบรวมจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และซื้อหาจากเพื่อนบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าว ภาครัฐก็เข้าไปส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ ถ่ายทอดความรู้การผลิตและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนการใช้กฎหมายเข้าไปดูแลคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ใช้เมล็ดพันธุ์โดยตรงอยู่แล้ว รวมไปถึงการควบคุมกำกับผู้ผลิต ผู้รวบรวมและผู้จำหน่าย เมล็ดพันธุ์ด้วย ซึ่งกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ มีบทบาทควบคุมกำกับ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช โดยมีพนักงาน เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช (สารวัตรข้าว) ประจำอยู่ตามศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วประเทศ มีภารกิจเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานข้าวจีเอพี ข้าวอินทรีย์ โรงสีจีเอ็มพี รวมถึงการพัฒนาระบบหรือตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวของประเทศด้วย

          ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับนโยบายปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร อีกทั้งช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่ชาวนาจะจัดเตรียมหาเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกข้าวปี 2560 ทางอธิบดีกรมการข้าวจึงได้สั่งการให้เร่งดำเนินการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยให้สารวัตรข้าวที่ประจำอยู่ในภูมิภาคจัดทีมลงพื้นที่ปูพรม เข้าไปกำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่อยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อให้พี่น้องชาวนาได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพข้าวในภาพรวม

          สำหรับบทบาทพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืช ของกรมการข้าวจะแบ่งออกเป็น 2 บทบาทหลัก ได้แก่ บทบาทของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมทำหน้าที่เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตในการเป็นผู้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าหรือผู้ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมให้ถูกต้อง เมื่อได้รับการอนุญาตต้องติดป้ายประกาศขึ้นชื่อเป็นสถานที่รวบรวมหรือสถานที่ขายที่ได้รับการอนุญาตตาม พ.ร.บ. นอกจากนั้นผู้รวบรวมต้องดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นไปตามระบบมาตรฐานเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ส่วนที่ 2 คือ บทบาทของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชที่เรียกว่าสารวัตรข้าว ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะได้รับการอบรมตามหลักสูตรการเป็นสารวัตรข้าวมืออาชีพ มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแหล่งรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวว่ามีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืชหรือไม่ หากพบเมล็ดพันธุ์ที่นำมาจำหน่ายไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ก็จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษและส่งดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป สำหรับสถานที่ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP Rice Seed และดำเนินการถูกต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช กรมการข้าวจะรวบรวมเป็นฐานข้อมูลส่งต่อให้กรมวิชาการเกษตรเพื่อต่ออายุใบอนุญาตตามระบบต่อไป

          "การทำงานของสารวัตรข้าวไม่ใช่การไปจับผิดผู้ประกอบการร้านค้าเมล็ดพันธุ์ แต่เป็นการสุ่มตรวจและให้คำแนะนำในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ เพื่อขายให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ ทางภาครัฐจะว่ากล่าวตักเตือนเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง

          โดยจะเลือกใช้บทลงโทษตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช เป็นแนวทางสุดท้ายในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพราะเราต้องการให้ผู้ประกอบการเข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้องเท่านั้น และหากต้องมีการดำเนินคดีทางสารวัตร ข้าวจากส่วนกลางจะเป็น ผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่พบ ส่งให้กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เป็นคนมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป จะไม่ใช่หน้าที่ของสารวัตรที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อต้องการลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กับผู้ประกอบการ"นายประสงค์ กล่าว

          โดยเมื่อวันที่ 23-24 มีนาคมที่ผ่านมา กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ได้สนธิกำลังสารวัตรข้าวจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมพิเศษแบบเบ็ดเสร็จ ระดับจังหวัด (Single Command) ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า สถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม เพื่อดูกระบวนการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช และได้มาตรฐานตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Rice Seed) (มกษ.4406-2557) เช่น บริษัท คูโบต้าทั่งทองพิจิตร จำกัด ร้านวังเป็ดเกษตรยนต์ และร้านค้าทั่วไปในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก ผลปรากฏว่าส่วนใหญ่มีการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่กำหนด อาจจะมีบางข้อที่ต้องปรับปรุงซึ่งสารวัตรข้าวได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับ พี่น้องชาวนา

          ตัวอย่าง บริษัท คูโบต้าทั่งทองพิจิตร จำกัด โดยนายนิกร ทั่งทอง กรรมการผู้จัดการบริษัท เล่าว่า แต่เดิมบริษัทจะเน้นขายเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร แต่เมื่อปี 2554 ได้แตกไลน์ธุรกิจมาผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือด้วย การผลิตเมล็ดพันธุ์ของที่นี่ได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตร ที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ (GAP Rice Seed) มีเนื้อที่การปลูก 1,230 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 20 ราย เน้นเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีการผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 10 พันธุ์ กำลังการผลิต 750 ตัน หากเกษตรกรรายใดต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามระบบมาตรฐาน GAP Rice Seed เราจะเริ่มเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรรายที่ต้องการเข้าร่วมและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวได้แนะนำและดำเนินกิจการให้ได้มาตรฐาน เน้นผลิตพันธุ์ที่ดีไปสู่เกษตรกรทุกคน โดยในส่วนของบริษัทได้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยข้าวส่วนหนึ่งด้วยและส่งมอบให้กับเกษตรกรได้นำไปจัดทำแปลงผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวมีคุณภาพผลิตตามระบบ GAP Rice Seed เมื่อเกษตรกรนำไปปลูกบางรายได้ผลผลิตมากถึง 1.3 ตันต่อไร่

          ทั้งนี้ การผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์จะมี เจ้าหน้าที่สารวัตรข้าวเข้ามาตรวจสอบ มีการมาเก็บตัวอย่างข้าว ตรวจความชื้น ห้ามมีการปลอมปน เป็นมาตรฐานที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะนอกจากจะตรวจสอบที่สถานประกอบการก็ต้องนำข้าวไปตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยข้าวด้วยเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง

          เช่นเดียวกับ นายเชาว์ ยาประเสริฐ เจ้าของกิจการโรงสีวังเป็ดเกษตรยนต์และผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า แต่เดิมประกอบกิจการทำเครื่องจักรเกี่ยวกับการทำนาแต่ได้ปรับเปลี่ยนมาทำเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปี 2550 และทำธุรกิจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตข้าวอย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ของเราผ่านมาตรฐานของกรม การข้าว เปอร์เซ็นต์ความงอก 90% แต่หากได้ 80% ก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพก็จะนำเข้าโรงสีข้าว

          สำหรับระบบการทำเมล็ดพันธุ์จะเป็นแบบ ลูกไร่แต่ได้ลดลงไปเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง น้ำขาดแคลน แต่ความต้องการของเกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์มีมากนับหมื่นตันเรายังผลิตได้ไม่ เพียงพอกับความต้องการ ขณะนี้ในหนึ่งฤดูกาล จะผลิตได้ 3,000 ตัน สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นาน 8 เดือนไม่มีปัญหา การปลูกข้าวในแต่ละฤดูกาลความต้องการเมล็ดพันธุ์จะไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็ทำหลายพันธุ์ รองรับความต้องการของเกษตรกร โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่ทางเจ้าหน้าที่กรม การข้าวเข้ามาส่งเสริม และยังมีสารวัตรข้าวเข้ามาสุ่มตรวจเป็นระยะ ในส่วนนี้เราก็พร้อมปฏิบัติให้ ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะถ้าทำคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ไม่ดีออกมาขาย เกษตรกรก็จะไม่เชื่อมั่น สุดท้ายก็กระทบกับตัวเราเอง

          ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากรมการข้าวมีบทบาท ทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านส่งเสริมและตรวจสอบ ซึ่งจะครอบคลุมในการปกป้องพี่น้องชาวนาให้ได้ปัจจัยการผลิตด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ แต่ชาวนาเองก็ต้องปกป้องสิทธิของตนเองโดยการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และเป็นร้านที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น หากผู้ประกอบการผลิตหรือจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใดที่ยังไม่ปฏิบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เข้าสู่ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน จะถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 21 เมษายน 2560

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง