เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
3 ประเทศผู้ผลิตขู่ลดส่งออกยาง หลังนักเก็งกำไรทั่วโลกกดราคา-ชี้จีนยุ่นอียูยอดพุ่ง

          3 ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ขู่นักเก็งกำไรทั่วโลกกดราคายาง พร้อมงัดมาตรการลดการส่งออกยางกลับมาใช้อีก เล็งเลื่อนการประชุมจากปลาย ปีนี้มาเร็วขึ้นหากราคาตกต่ำ ระบุจีน อียู ญี่ปุ่นไตรมาสแรกผลิตยางรถยนต์เพิ่มถึง 7-12% สวนทางราคายาง

          รายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCO) ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท เปิดเผยว่า กรรมการบริหาร IRCO จาก 3 ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ประชุมหารือกันถึงสถานการณ์ราคายางพาราในตลาดโลกที่ลดต่ำลงในขณะนี้ ซึ่งราคายางสูงสุดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเหลือ กก.ละ 70 บาท เทียบกับปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ กก.ละ 97 บาท ลดลงเกือบ กก.ละ 30 บาท ซึ่งกรรมการหลายรายมีความเห็นว่า การประชุมของบอร์ด IRCO ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ อาจจะต้องเลื่อนมาประชุมในวาระพิเศษเร็วขึ้น หากราคายางพาราตก ต่ำลง ทั้งนี้ อาจจะต้องนำมาตรการลดการส่งออกยางในปีที่ผ่านมากลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อหยุดยั้งการเก็งกำไรของนักลงทุน ทั่วโลกที่เก็งกำไรโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตยางพาราของเกษตรกรใน 3 ประเทศ เพราะขณะนี้ราคาซื้อขายยางล่วงหน้าในตลาดโตคอม ญี่ปุ่นเดือนกันยายนนี้ ลดลงมาเหลือ กก.ละ 204-208 เยนเท่านั้น หากประเทศผู้ผลิตยางพาราไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากขึ้น

          รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา 3 ประเทศผู้ผลิตยางพาราได้บรรลุข้อตกลงลดปริมาณการส่งออกยางพารารวม 615,000 ตัน เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 สิงหาคม 2559 แยกเป็นไทยลดปริมาณการส่งออกลง 324,005 ตัน อินโดนีเซีย 238,736 ตัน และมาเลเซีย 52,259 ตัน โดยในปี 2559 ไทยมีปริมาณการส่งออกยาง 3.783 ล้านตัน อินโดนีเซีย 2.684 ล้านตัน และมาเลเซีย 1.069 ล้านตัน ซึ่งการลดปริมาณส่งออกดังกล่าว ได้ส่งผลให้ราคายางเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2559 และเดือนมกราคมที่พุ่งขึ้นสูง จากปัจจัยน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เพิ่มเข้ามาด้วย

          รายงานข่าวกล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นดีมานด์หรือซัพพลายเป็นไปในเชิงบวก แต่สิ่งที่ทำให้เกิดราคายางแกว่งในช่วงที่ผ่านมา มาจากการเก็งกำไรจนเกินควร หากมองถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเลขที่สำคัญ ๆ ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ 3.6% ขณะที่ดัชนีในเรื่องของสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมมีการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ 0.4% และยางสังเคราะห์ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของราคาอยู่เพียง 6.7% แต่ในตลาดยางกลับพบว่า มีการเก็งกำไรสูงถึง 16.6% แสดงว่าการเก็งราคาไม่สะท้อนเรื่องปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องการเก็งกำไรจากการสร้างกระแสให้ราคาขึ้นลงในเชิงข่าวเท่านั้น

          จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า วิกฤตน้ำท่วมภาคใต้ของไทยมีส่วนต่อการลดปริมาณซัพพลายของยางธรรมชาติลงกว่า 10% ของโลก ประกอบกับ ในช่วงราคายางต่ำมีหลายประเทศลดปริมาณการผลิตยางลง ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะมีความอ่อนไหวต่อราคา เมื่อราคายางต่ำลงทั้ง 3 ประเทศเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น หรือมีรายได้เพิ่มจากการทำอาชีพอื่น เพราะฉะนั้นปริมาณของยางพาราในห้วงระยะเวลาในปี 2016-2017 มีปริมาณที่น้อยลงกว่าที่คาดไว้

          ทางด้านปัจจัยด้านความต้องการใช้ยาง จีน สหภาพยุโรปหรืออียู ญี่ปุ่น พบว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นค่อนข้างมาก จากเดิมที่คาดไว้ 7% เป็น 12% เช่น ประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น 7.37% สหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้นถึง 8.42% ญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น 12.33%


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 - 30 เม.ย. 2560  หน้า 7
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง