เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
พด.เร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์เชื่อมั่นระบบPGSสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้

          กรมพัฒนาที่ดิน เร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เผยใช้ระบบ การรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) เป็นใบเบิกทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค คาดสามารถยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนได้

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดให้เป็น "ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน" พร้อมกับให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนงานเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งระบบ โดยในปี 2560 กรมพัฒนาที่ดินมีแผนการดำเนินงานมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากลุ่มเกษตรกรฯ ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร

          โดยจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การขับเคลื่อนกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 200 กลุ่ม เกษตรกร 1,000 ราย พื้นที่ 10,000 ไร่ ใน 50 จังหวัด พร้อมกันนั้นก็จะมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS จำนวน 10 แห่ง ใน 8 จังหวัด และจัดฝึกอบรมด้านเกษตรอินทรีย์ จำนวน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตร "รอบรู้เกษตรอินทรีย์" หลักสูตร "การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม" และหลักสูตร "เทคนิคการตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อนในกระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม" ซึ่งมีกลุ่ม เป้าหมาย คือ บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

          สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์กรมพัฒนาที่ดิน" เพื่อชี้แจงนโยบายเกษตรอินทรีย์และแนวทางการดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ปี 2560 รวมถึงบทบาทหน้าที่ของมิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรแกนหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินและเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับจากการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรม และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งยังเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS การเก็บข้อมูลกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ และงานวิจัยเกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพัฒนาเกษตร กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ให้สามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยใช้กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS โดยภาพรวมจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทางวิชาการ ให้คำแนะนำสนับสนุนช่วยเหลือให้กลุ่มเกษตรกรพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์จนผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาที่ดิน และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และเชื่อมโยงด้านการตลาดเกษตรอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร

          นายเข้มแข็ง กล่าวว่า ทั้งนี้การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรผ่านระบบการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) มีเป้าหมายเริ่มจากพี่น้องเกษตรกรรายย่อย ที่เดิมทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วเพียงแต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ เนื่องจากไม่สามารถตรวจรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ได้ แต่กระบวนการรับรองแบบมีส่วนร่วมดังกล่าว เป็นกระบวนการรับรองโดยใช้รูปแบบการรับรองโดยเกษตรกรด้วยกันเอง ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ความซื่อสัตย์ในการประกอบอาชีพ ทั้งยังเป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกับที่ยอมรับกันในระดับสากล ฉะนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้รับการรับรองจากระบบดังกล่าวน่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรให้เกิดขึ้นกับ ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

          อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาที่ดิน มีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในปีนี้ ซึ่งมีมิสเตอร์เกษตรอินทรีย์ เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรได้รับการรับรองในระดับสากล น่าจะผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้เพิ่มขึ้น ด้วยระบบรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) เป็นไปตามวัตถุประสงค์การส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและสมัครใจ เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของภาครัฐต่อไป


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 26 เมษายน 2560  หน้า 8

 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง