เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
พริกพันธุ์ยอดสน เกษตรแปลงใหญ่ จ.สกลนคร

          นางสุชาดา เคนพิทักษ์ ผู้อำนวยการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์สำนัก งานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร ที่ร่วมเดินทางกับคณะด้วย ได้ให้คำแนะนำแก่สมาชิกในกลุ่ม ในเรื่องการรวมกันซื้อกันขาย การบริหารจัดการภายในกลุ่มเพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาล สำหรับแปลงพริกบ้านกุดฮู ตำบลโพธิไพศาล จังหวัดสกลนครนั้น เป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญในจังหวัดสกลนคร และเข้าสู่ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นแปลงใหญ่ประชารัฐ ที่หอการค้าจังหวัดสกลนครได้ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร เป็นผู้จัดการแปลง โดยมีฤดูการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนเมษายน

          โดยปลูกพริกพันธุ์ยอดสน มีสมาชิกกว่า 100 คน ผลผลิตที่ได้รับประมาณ 225 ตัน การจำหน่ายมีทั้งพ่อค้ามารับซื้อหน้าสวน เป็นพริกสด ราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของพ่อค้าและปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงนั้น ๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยในช่วงต้นฤดูการผลิต จะอยู่ที่ประมาณ 50–60 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาก ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 12–18 บาทต่อกิโลกรัม

          พริกพันธุ์ยอดสนเป็นพริกที่ทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ เมื่อระหว่างปี 2549-2553 ที่ผ่านมาเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์ มีองค์ประกอบผลผลิตและลักษณะทางการเกษตรที่ดี โดยรวบรวมพริกขี้หนูพันธุ์ยอดสน จากแหล่งปลูกต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมาในปี 2549-2550 ได้จำนวน 200 สายพันธุ์ มาปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) คัดได้พันธุ์ที่มีลักษณะดีจำนวน 8 สายพันธุ์ ซึ่งนำมาปลูกทดสอบในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ นครพนม และหนองคายโดยเปรียบเทียบกับพันธุ์เกษตรกร

          และจากการปลูกทดสอบคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้แห่งละ 4 สายพันธุ์ และนำมาปลูกทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ชัยภูมิ นครพนม และนครราชสีมา จังหวัดละ 2 ราย โดยวางแผนการทดลองแบบ มี 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 5 กรรมวิธี คือ พันธุ์ที่คัดเลือก 4 สายพันธุ์ และพันธุ์เกษตรกรเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ จากผลการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรพบว่า พันธุ์ทดสอบทุกสายพันธุ์ให้ผลผลิตไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์เกษตรกรทั้งปริมาณและองค์ประกอบผลผลิต

          และจากผลการวิเคราะห์ความเผ็ดพริก 5 สายพันธุ์ ที่ปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษพบว่า สายพันธุ์ ศก.165-1-1 มีความเผ็ดสูงสุด คือ 266,823 SHU รองลงมา คือ สายพันธุ์ ศก.123-1-1 พันธุ์เกษตรกร ศก.144-1-1 และ ศก.119-1-3 ซึ่งมีความเผ็ด 214,843 187,359 146,728 และ 85,085 SHU ตามลำดับ และจากการประเมินความพึงพอใจพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพริกและผู้รับจ้างเก็บผลผลิตพอใจสายพันธุ์ ศก.119-1-3 และ ศก.165-1-1 มากกว่าสายพันธุ์อื่น

          และเมื่อนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกที่จังหวัดสกลนคร พบว่าเจริญเติบโตดี และตรงตามความต้องการของตลาด มีปริมาณผลผลิตที่ดีเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรและผู้ซื้อ ทางส่วนงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดสกลนครขึ้น.

 

ที่มา: http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 เมษายน 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง