เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
ชูนิคมอุตสาหกรรมยางสงขลามั่นใจศักยภาพสร้างรายได้ในพื้นที่

          ที่ผ่านมารัฐบาลได้ก่อตั้งและให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน เพื่อให้สามารถดึงวัตถุดิบยางภายในประเทศมา สร้างมูลค่าเพิ่ม

          ไม่ต้องพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ สามารถยกระดับมาตรฐานราคายางพาราให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยอยู่ได้ ไม่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และต้องก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับประชาชน ในพื้นที่ได้มากที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนอุตสาหกรรม ยางพาราของผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นไม่น่าเป็นห่วงเรื่องการตลาด แต่ในกรณีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับ SMEs จะต้องมองตลาดเป็นหลัก โดยผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในเบื้องต้นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเป็นพี่เลี้ยงและดูแลควบคู่ไปกับผู้ประกอบการ

          ทางด้าน นายพลเชษฐ์  ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) กล่าวเสริมว่า สำหรับนิคมอุตสาหกรรมยาง ถือว่ามีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อการส่งออกผลิต ภัณฑ์ยางพาราไปต่างประเทศ และในประเทศ ตลอดถึงมีการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภค การจัดผัง พื้นที่ ที่เป็นระบบ และมีการบริหารจัดการที่ รองรับอุตสาหกรรมเชิงคลัสเตอร์ ที่รองรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำ และปลายน้ำ

          ซึ่งจะมีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ และคุ้มค่าต่อการลงทุน นับเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจและเป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา

          นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมยาง พารา จะเน้นให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้า มาลงทุน มีการเชื่อมโยงและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในระดับ SMEs เข้ามาลงทุนในพื้นที่ด้วย โดยในขณะนี้นิคมการเกษตรรัตภูมิ จำกัด ได้มีแผนที่จะนำน้ำยางสดที่รับซื้อจากสมาชิกมาแปรรูปที่ Rubber City

          และเน้นนำผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรม มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น รองเท้าบู๊ต รองเท้าเด็กนักเรียน ยางรองส้นเท้า และจอกรองน้ำยางพารา เป็นต้น

          ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินแนวโน้มราคายางพาราในช่วงปี 2559-2560 ว่าจะทรงตัวจากปัจจัยหลัก ประกอบด้วยปริมาณความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อที่อาจเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 3 % ต่อปี  ปริมาณการผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้น 4.0% ต่อปี จากการขยายพื้นที่ปลูกของอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน และอินเดีย ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาของอินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน  ขณะที่ราคายางสังเคราะห์ที่เป็นสินค้าทดแทนยาง พารา จะทรงตัวในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบโลก ทำให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ส่งผลกระทบทางลบแก่ชาวสวนยางพารา เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าราคาที่จะขายได้ ขณะที่ผู้ค้าและผู้ส่งออก ต้องบริหารสต๊อกยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบ ด้านผู้ผลิตสินค้าที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบจะได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

          ทั้งนี้ การผลักดันนิคมอุตสาหกรรมกรรมยางพารา (Rubber City) ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ของภาครัฐส่วนที่เกี่ยวข้องมองว่าจะช่วยให้ราคายางพาราในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และประเทศมีรายได้จากสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจากยางพาราเพิ่มขึ้น.

 

          บรรยายใต้ภาพ

          ผลผลิตคุณภาพมีหลายระดับ

          ยางแผ่นคุณภาพ

 

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 มี.ค. 2560



เอกสารที่เกี่ยวข้อง