เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
KasetTRADEในโจทย์สร้างโลกใหม่เกษตรไทย

          แม้ว่าที่ผ่านมาเกษตรอินทรีย์จะสร้างความรับรู้ในสังคมไทยแล้ว แต่ที่ผ่านมาถือว่าเติบโตอย่างล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยขาดความตระหนักในเรื่องของอาหารปลอดภัย และยังขาดความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากได้เห็นข่าวว่ามันปลอมปนสารพิษกันอยู่เนืองๆ

          "นที จารยะพันธุ์" หนึ่งในทีมงานที่ก่อตั้งเกษตรเทรด บอกว่า คอนเซปต์ของ KasetTRADE (เกษตรเทรด) ก็คือ แพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้ลูกค้าเชื่อมต่อและสามารถซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรได้ จะเป็นระบบที่ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าผลิตโดยใคร ทำให้เมื่อเกิดปัญหาปลอมปนจะทำให้รู้ที่มาว่าเป็นผักจาก แปลงไหนและเข้าไปแก้ไขได้ตรงจุด ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับทางฝั่งผู้บริโภค

          ในเวลาเดียวกัน เกษตรเทรด จะเป็น ช่องทางที่ให้เกษตรกรได้มีโอกาสโชว์ถึงผลผลิตของตัวเองคือต่อถึงผู้ซื้อได้โดยตรง เมื่อสินค้าได้รับการยอมรับว่าดีจริง ปลอดภัยจริง ที่สุดก็จะนำมาซึ่งรายได้และความภาคภูมิใจ ให้กับเกษตรกร

          "แนวคิดเกษตรเทรดเพิ่งเริ่มต้นเพียง 4- 5 เดือน เดิมผมเปิดธุรกิจชื่อออร์แกนิค แอนด์โค เน้นการพัฒนาตลาดที่เป็นเกษตรอินทรีย์โดยส่งให้กับร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ แต่ติดปัญหามันสเกลไม่ได้เพราะดีมานด์ซัพพลายมันไม่ตรงกันสักที และ ยังติดเรื่องโลจิสติกส์ด้วยว่ามีต้นทุนการ ขนส่งค่อนข้างสูง เนื่องจากเรามีวอลุ่ม ไม่เยอะ" ดังนั้นเพื่อจะผลักดันทำให้ความฝันกลายเป็นจริงได้ แพลตฟอร์มของเกษตรเทรดจึงควรต้องประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตรกร 2. ผู้ซื้อ และ 3. ผู้ขนส่ง สำหรับประโยชน์ที่ใช้จูงใจพวกเขาก็คือ กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมระบบจะมีรายได้ที่มั่นคง ปลูกสิ่งที่มีคนสั่งซื้อล่วงหน้า ระบายสินค้าที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถมีทางเลือกขายสินค้าได้จากผู้ซื้อหลายรายได้

          ขณะที่ผู้ซื้อ จะได้รับความสะดวกในการจัดหาสินค้าที่ต้องการได้จากเกษตรกรทั่วประเทศ สามารถได้รับข้อเสนอขาย หรือเสนอผลิตจากเกษตรหลายรายได้

          ด้านผู้ขนส่ง ก็จะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งเป็นได้ทั้งการขนส่งสินค้าที่อยู่ในเส้นทางที่เดิมอยู่แล้ว หรือเป็น เส้นทางใหม่ในวันที่ว่างรถไม่ได้ถูกใช้งาน

          นทีบอกว่าในวงการค้าขายสินค้าเกษตรกลุ่มผู้ขนส่งถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะปัจจัยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้าก็คือราคาสินค้าบวกค่าขนส่ง แน่นอนว่าย่อมต้องอาศัยการขนส่งที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป  ซึ่งทางเกษตรเทรดจะแนะนำในเรื่องนี้ทั้งทางฝั่งของเกษตรกรและฝั่งลูกค้าว่าจะสามารถแชร์เส้นทางกับรถที่วิ่งเป็นประจำได้อย่างไร และผู้ขนส่งรายใดที่ทำงานดีเป็นมืออาชีพ

          การซื้อขายที่ยุติธรรม และมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่ายังคงเป็นคีย์ซัคเซส ของทุกยุคทุกสมัยไม่มีข้อยกเว้นกับ สินค้าเกษตร ทางเกษตรเทรดก็นำมา ตีความแล้วพบว่าต้องทำหน้าที่ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. แสดงถึงความน่าเชื่อถือ คือมีประวัติของทั้งตัวผู้ซื้อ เกษตรกร และผู้ขนส่ง อย่างชัดเจน ทั้งสร้างระบบการรีวิวกันและกัน ทุกคนสามารถถูกรีวิวหรือตรวจสอบได้ เกษตรกรก็ถูกรีวิวได้ ผู้ซื้อก็ถูกรีวิวได้ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการผิดสัญญากัน และการให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ

          2. มีราคาเริ่มต้น ที่ต่างฝ่ายก็ยินดีที่จะซื้อขายกัน พร้อมค่าขนส่ง ง่ายต่อการดูราคา ต่อรอง และปิดการขาย ราคาที่คิดให้ในระบบจะบวกค่าขนส่งให้แบบอัตโนมัติ

          3. ทำให้การบริหารจัดการเรื่องการขนส่ง และงานเอกสารง่ายขึ้น สามารถตรวจสอบสถานะการขนส่งได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีระบบการออกใบสัญญาสั่งซื้อ ใบส่งของ ใบตรวจของ ใบแจ้งหนี้ และใบเสร็จด้วย "ในตอนแรกเกษตรเทรดถูกออกแบบมาให้เป็นบีทูบี ลูกค้าเราจะเป็นพวกขายส่ง เป็นผู้รวบรวมผลผลิต เป็นร้านอาหาร หรือห้างฯต่างๆก่อน แต่ถามว่าตลาดบีทูซีเราจะทำไหม เราวางแผนว่าจะทำ แต่จะทำออนท็อบ แพลตฟอร์มนี้อีกทีหนึ่งคือเฟสแรกจะทำบีทูบีก่อน"

          ทั้งนี้ เกษตรเทรดในเวอร์ชั่นแรกเป็นระบบปิด คนขายคนซื้อยังไม่เห็นผู้ผลิต แต่เวอร์ชั่นใหม่ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นจะเป็นระบบโอเพ่น ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้เห็นผู้ขาย และจะทำให้การค้นหาสินค้าทำได้ง่ายยิ่งขึ้น "เช่นผู้ซื้ออยากจะเสิรซ์หาเกษตรกรปลูกมะพร้าว ระบบของเราจะบอกได้เลยว่าเกษตรกรชื่ออะไร เบอร์อะไร อยู่ที่ไหน ปลูกในพื้นที่เท่าไหร่ โอกาสในการติดต่อ ซื้อขายมันก็จะง่าย"

          และตามแผนเดิม ทางเกษตรเทรดจะคิดค่าบริการ 2% ในการซื้อขายจากฝั่งผู้ซื้อ แต่ทีมงานก็ตัดสินใจใหม่ว่าจะให้ลูกค้าใช้ระบบฟรีไประยะหนึ่ง เพราะทีมมีทรัพยากรที่จำกัดการพัฒนากว่าจะเชื่อมโยงทุกอย่างให้ครบลูฟก็ต้องอาศัยเวลา

          ถามถึงเรื่องของการระดมทุน นทียอมรับว่าโปรเจคเกษตรเทรดต้องใช้เงินลงทุนสูง เลยได้ไปลองเรสฟันด์ (แต่ไม่ได้) และได้คุยกับนักลงทุนหลายๆคน ทำให้เห็นมุมมอง ทางธุรกิจที่ลึกขึ้นและได้เห็นแนวทางเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก

          "ในการทำธุรกิจเราต้องมองเป้าหมายสุดท้ายและคอร์คอมพีเทนซีของเราให้ออก เราต้องตอบให้ได้ว่า เราทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ อย่างไร อะไรคือความได้เปรียบ อะไรคือ ความไม่เหมือนเดิมจริงๆ และตลาดเกษตรมันก็ใหญ่มาก สิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะเริ่มจากตรงไหน ตอนนี้เกษตรเทรดเลย เซ็กเมนท์ว่าเราอยากทำออร์แกนิคและอยากทำบีทูซี" เพราะประสบการณ์ในการทำตลาดในรูปแบบบีทูบีที่ผ่านมาทำให้เขาพบว่า ไม่ว่าจะสร้างเรื่องราวหรือพยายามสื่อสารว่าเกษตรออร์แกนิคหรือเกษตรอินทรีย์นั้นดีเพียงไร แต่สุดท้ายการซื้อขายมักจะจบลงที่การ กดราคาจากฝ่ายจัดซื้อของบริษัทลูกค้า "การที่เราตัวเล็กพาวเวอร์ในการต่อรอง มันเลยแทบจะไม่มี เรามองว่าถ้าสื่อสารยิงตรงไปถึงผู้บริโภคเลยมันจะง่ายกว่ามาก เราไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ก็แค่บอกว่าออร์แกนิคดีอย่างไร มาร์จิ้นก็น่าจะเยอะกว่า และมีอะไรให้เล่นเยอะกว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ เรื่องสุขภาพ และการแก้ไขโรคภัยต่างๆ เพราะมันเป็นสินค้าจากธรรมชาติ ซึ่งในเชิงของธุรกิจน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า " นทีมองว่าตลาดเกษตรใหญ่มาก เป็นเค้กก้อนใหญ่เหลือเฟือที่ใครๆก็มาตัดแบ่ง และก็มั่นใจว่าเกษตรเทรดจะสามารถโชว์ถึง ความแตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องความมั่นใจของลูกค้าว่าได้ซื้อสินค้าที่ปลอดภัยจากเกษตรกรที่เชื่อใจไว้ใจได้

          ความใหม่ ยาก เสี่ยง แต่ดี

          ธุรกิจสตาร์ทอัพมีแนวโน้มจะเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนปัญหาสังคม รวมถึง โอกาสใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขหรือไขว่คว้ามาด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ซึ่งนโยบายภาครัฐและธุรกิจที่มีอยู่เดิมไม่เคยทำมาก่อน

          "แต่มันก็ไฮริช ไฮรีเทิร์น สตาร์ทอัพต้องยอมรับก่อนว่า การทำอะไรใหม่ๆ มันยากกว่า เสี่ยงกว่า แต่ถ้าทำได้มันก็มีผลดี"

          คำถามคลาสสิคก็คือ แล้วจะเริ่มต้นอย่างไร? ซึ่งนทีบอกว่า วิถีของสตาร์ทอัพทั่วไปก็ต้องเริ่มจาก พร็อบเบลม โซลูชั่น อินเทอร์วิว ให้รู้ปัญหาที่ต้องการแก้ ว่าเป็นปัญหาที่หนักหนาต้องการความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร และที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขหรือไม่ หากมีแล้วโซลูชั่นที่เราคิดมันจะดีกว่าแบบเดิมหรือไม่

          "ในขั้นตอนนี้เราต้องเลือกเซ็กเมนท์กลุ่มเป้าหมาย เพราะปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับคนกลุ่มหนึ่งขณะที่เราอาจไปสัมภาษณ์กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ เราต้องครอสเช็คหาให้เจอว่าเป็นกลุ่มไหนกันแน่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ จากนั้นก็ทำเรื่องของ โปรดักท์มาร์เก็ตฟิต ดูว่าตัวโซลูชั่นของเราในเชิงธุรกิจแล้วมันฟิตหรือเปล่า และต้องดูถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ในธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน เราจะหาเงินทุนมาจากไหน จะลงขันกันก่อนไหม หรือไปหานักลงทุน และนักลงทุนคนแรกควรเป็นใคร เขาจะช่วยอะไรเราได้บ้าง รวมถึงจะต้องหาทีมที่ดีด้วย"

          ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ นทีบอกว่าคงต้องออกแบบเป็นเคสบายเคสไป

          "ต้องตอบให้ได้ว่า เราทำได้ดีกว่าคนอื่นอย่างไร อะไรคือความได้เปรียบ อะไรคือความไม่เหมือนเดิมจริงๆ"

 

          บรรยายใต้ภาพ

          นที จารยะพันธุ์

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 ตุลาคม 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง