เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
วิกฤตสินค้าเกษตร รัฐต้องแก้ให้ถูกจุด

          ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่ม วิตกเมื่อพบสัญญาเศรษฐกิจในเดือน กันยายนนี้เริ่มอ่อนตัว อาทิ ยอดขายปูนซีเมนต์ ยอดขายรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งลดลง ทำให้เห็นว่าการบริโภคเริ่ม ลดลง จะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้รัฐมีมาตรการไปยังภาคเกษตรมากพอสมควร รวมทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนัดถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เร่งปั๊มกำลังซื้อในประเทศ หลังจากการส่งออกสินค้าทำได้แค่ประคองตัว โดยเตรียมหามาตรการดันราคาสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มอำนาจซื้อให้กับเกษตรกร

          ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรหลักของรัฐ ได้แก่ข้าว กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการ ร่วมกันกำหนดการผลิตในปีนี้ โดยจำกัดการผลิตไว้ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก ถือว่านโยบายดังกล่าวเดินมาถูกทาง จากปกติที่ผลิตเกิน 30 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปีค่อนข้างมาก และพยายามให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยหลังฤดูนาปีแทน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ปลูกถั่วเหลือง จากปัญหาน้ำที่จะใช้ในภาคเกษตรช่วงฤดูแล้งยังมีน้อย รวมทั้งราคาข้าวในตลาดโลกค่อนข้างตกต่ำ ปลูกแล้วขายมีกำไรอยู่ในระดับเฉลี่ยตันละ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น

          แต่นโยบายของภาครัฐให้เกษตรกรหันไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจล้มเหลว เมื่อกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเอทานอล (DDGS) เพื่อผลิตอาหารสัตว์โดยไม่มีการจำกัดปริมาณนำเข้าในอัตราภาษีต่ำ โดยในปี 2556 มีการนำเข้าข้าวสาลีและ DDGS เข้ามา 810,424.29 ตันและ 226,176.11 ตัน ตามลำดับ มาเป็น 3,467,117.12 ตันและ 462,347.33 ตันในปี 2558 ตามลำดับ และในไตรมาสแรกปี 2559 มีการนำเข้าถึง 777,276.87 ตันและ 166,471.02 ตัน ตามลำดับ

          ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ก็มีข้อมูลความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิต 5.6-6 ล้านตันต่อปี ในสัดส่วนการใช้ข้าวโพดในอาหารสัตว์ประมาณ 60-65% แต่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 4.5 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ต้องนำเข้า วัตถุดิบอื่นมาทดแทนการใช้ข้าวโพดประมาณ 2.6 ล้านตัน แต่ในความเป็นจริง ในปี 2558 ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดรวม 3.9 ล้านตัน

          แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย หันไปพึ่งพาวัตถุดิบในการผลิตจาก ต่างประเทศมากขึ้น มีการลดสัดส่วน การใช้ข้าวโพดในประเทศเพื่อผลิต อาหารสัตว์ไปไม่น้อย ทำให้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพด 4.5 แสนครัวเรือน เดือดร้อนหนักจากราคาข้าวโพดตกต่ำในขณะนี้ เช่น ที่เชียงรายเกษตรกรสีข้าวโพดขายสดได้เพียง กก.ละ 4.20 บาท จากต้นทุนการผลิต กก.ละ 4.40 บาท ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ราคาตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ 1.20 บาท จากต้นทุนการผลิต 1.80 บาทขึ้นไป และรำข้าวที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าข้าวสาลีด้วย

          ที่ผ่านมามีการใช้มันสำปะหลังในประเทศผสมอาหารสัตว์ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตันต่อปี และมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านตัน การจำกัดปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด หากราคาข้าวโพดในประเทศสูงเกินไป ก็สามารถนำเข้าเป็นครั้งคราวได้ ซึ่งการรักษาสมดุลระหว่างเกษตรกรกับผู้เลี้ยงสัตว์ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เศรษฐกิจของประเทศนั่นคือการฟื้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศจะดีขึ้น ตามมาอย่างแน่นอน ต่างจากทุกวันนี้ที่เกษตรกรต่างชาติได้ประโยชน์ รวมทั้งบริษัทปศุสัตว์ครบวงจรล้วนมีกำไรพุ่งสูงกันถ้วนหน้า ดั่งที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

          ดังนั้น หากรัฐหยิบยืมทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวมาใช้ ทั้งการดึงราคาสินค้าเกษตรสูง และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการอังค์ถัดแนะนำมาใช้น่าจะเป็นทางออกที่ดี โดยที่รัฐไม่ต้องอัดฉีดเงินเข้ามา ต้องให้เอกชนผู้ประกอบการ เข้ามาช่วยเหลือกอบกู้เศรษฐกิจด้วย

          เพราะการเดิน 2 ขาไปข้างหน้าด้วยกัน ทั้งฟากรัฐและเอกชน ย่อมมั่นคงและยั่งยืนกว่าอย่างแน่นอนๆ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. 2559



เอกสารที่เกี่ยวข้อง