เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
เที่ยวตรังดูฝรั่งทำนาเกษตรอินทรีย์บน "เกาะสุกร"

          เมธี เมืองแก้ว

          "เกาะสุกร" หรือ "เกาะหมู" เป็น 1 ใน 10 ตำบลของ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง และเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่กลางทะเล ซึ่งยังไม่มีสะพานเชื่อมต่อระหว่างเกาะกับตำบลรอบนอก จึงต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 15 นาที แต่สามารถเดินทางไปมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8,750 ไร่ ถือเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.ตรัง

          แม้จะชื่อเกาะสุกร หรือเกาะหมู แต่ประชากรส่วนใหญ่ 2,600 คนบนเกาะสุกร นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีอาชีพการประมง และการเกษตร เช่น สวนยางพารา นาข้าว แปลงแตงโม

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสลับเนินเขา มีชายหาดเป็นแนวยาวเลียบริมชายฝั่ง รวมทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลน ปะการัง มีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่สวยงาม และมีระบบสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาตลอดทั้งปี

          แต่น่าแปลกใจที่เกาะสุกรกลับเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย

          ราตรี จิตรหลัง นายก อบต.เกาะสุกร กล่าวว่า เกาะสุกรนับเป็นพื้นที่เกาะเพียงแห่งเดียวของ จ.ตรัง ที่ยังคงมีการอนุรักษ์การทำนาแบบพื้นบ้าน และยังมีฝูงควายจำนวนมากที่สุดด้วย จนนับเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่อยู่คู่กับชุมชนมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ 2 บ้านแหลม และหมู่ 3 บ้านทุ่ง พันธุ์ข้าวที่นิยมนำมาปลูกก็คือ หอมมะลิ และหอมมะลิแดง ส่วนผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ ใช้บริโภคบนเกาะสุกร ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งปันอาหารกันในชุมชน ซึ่งต่างไปจากเกาะอื่นๆ ที่ต้องซื้อข้าวจากภายนอกเข้ามา

          "สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผลผลิตข้าวที่ออกมาบนเกาะสุกร สามารถเชื่อมั่นได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย เพราะเป็นการทำนาอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมี และปุ๋ย

          ส่วนใหญ่ก็มาจากธรรมชาติ เช่น มูลควาย มูลค้างคาว รวมทั้งนำเศษกุ้งหอยปูปลาจากท้องทะเลมา ทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการขับไล่แมลง กำจัดศัตรูพืช และบำรุงต้นข้าว จึงทำให้ข้าวหอมมะลิที่ออกมามีรสชาติ ดี และมีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทานกว่าที่อื่น ล่าสุดยังได้มีการทดลองปลูกข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมบริโภคสูงมากขึ้น"

          ราตรี เล่าว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว อบต.เกาะสุกร ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมรักษาอาชีพทำนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนขึ้น โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งกิจกรรมส่งเสริมอาชีพทำนากลับกลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

          "มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ เดินทางมากินนอนอยู่กับชาวบ้าน ศึกษาวิถีชีวิตการทำนา นับตั้งแต่ไถ หว่าน ดำ ไปจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งต่างชื่นชอบและมีความรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก มีการบอกต่อไปยังกลุ่มเพื่อนๆ แล้วชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมทำนาเพิ่มขึ้น"

          นอกจากนั้น ต.เกาะสุกร ถือเป็นพื้นที่ซึ่งยังมีการเลี้ยงควาย และมีจำนวนมากที่สุดใน จ.ตรัง ซึ่งแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ที่มักจะนิยมการเลี้ยงวัวมากกว่า

          ฝูงควายเหล่านี้ในอดีตจะใช้เพื่อการทำนา แต่หลังจากนำรถไถเข้ามายังเกาะสุกร การใช้ควายในการไถนาก็ค่อยๆ ลดลง และมีการนำควายไปใช้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ราคาควายขยับตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 250-300 บาท หรือตัวละ 2-3 หมื่นบาท ซึ่ง อบต.เกาะสุกร ก็ได้พยายามอนุรักษ์ฝูงควายเหล่านี้ไว้ ทั้งการ ทำนา การปศุสัตว์ และการท่องเที่ยว เพื่อให้สัตว์พื้นเมืองชนิดนี้ยังคงอยู่ คู่กับวัฒนธรรมภาคใต้ต่อไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 มิถุนายน 2558  หน้า A8