เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
"มธ." ชูนวัตกรรมผลไม้ส่งออกเพิ่มมูลค่าสินค้า - ยกระดับรายได้เกษตรกร

           ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของ ผลไม้ไทย อันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงคิดค้น นวัตกรรมสำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า และยกระดับรายได้ของเกษตรกร

          "รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์" ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2559 การส่งออกผลไม้สดไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายหลักอย่างจีน รองลงมาคือ ฮ่องกงและเวียดนาม แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรผลไม้ไทยกลับสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลบำรุงดิน และปรับคุณภาพผลไม้ให้มีรสชาติอร่อยและสีผิวเรียบสวย

          ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ โดยการ บูรณาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ ก่อนต่อยอดสู่งานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง

          โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมสำหรับผลไม้ เพื่อการส่งออก ที่เกิดจากการคิดค้นประกอบด้วย

          หนึ่ง นวัตกรรมกล่องเก็บลำไยสด ต่ออายุ Shelf Life 120 วัน ซึ่งเป็นนวัตกรรม Active Packaging สำหรับลำไยแบบไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อการส่งออก โดยใช้เทคโนโลยีการบรรจุแบบดัดแปลงบรรยากาศ และใช้เทคโนโลยี Active and Intelligent Packing ที่ออกแบบขึ้นเฉพาะ สามารถเก็บรักษาลำไยสดได้นานถึง 4 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP

          ทั้งนี้ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ด้านผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2559 และรางวัลสูงสุดเหรียญทองเกียรติยศจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

          สอง นวัตกรรมแพ็กเกจทุเรียนเก็บกลิ่น 100 % สำหรับทุเรียนสดพร้อมบริโภคเพื่อการส่งออก ซึ่งสามารถเก็บรักษาคุณภาพทุเรียนปอกเปลือกพร้อมบริโภคสดผ่านการใช้เทคโนโลยี Active ที่สามารถดูดซับ กลิ่นทุเรียนได้ 100% และยังมีฉลากบ่งชี้ความสด บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้สามารถเก็บรักษา ความสดใหม่ของทุเรียนได้นานถึง 2 เดือน

          สาม นวัตกรรมสร้างผิวมะพร้าวหอมควั่นให้ขาวใสก่อนการส่งออก ซึ่งช่วยยืดอายุและคงคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้นานถึง 60 วัน นอกจากนี้ ยังมีผิวที่ขาวสะอาดและสวยสดกว่ามะพร้าวที่หุ้มด้วยฟิล์ม PVC ที่สามารถเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้เพียง 30-45 วัน

          สี่ นวัตกรรมเพิ่มลูกดกให้มะพร้าวออกดอกดีตลอดทั้งปี เทคโนโลยีการเพิ่ม

          ผลิตผลของมะพร้าวให้ออกผลตลอดปี เป็นเทคนิคการผสมเกสรสด ช่วยเพิ่มผลผลิตจากมะพร้าวที่เคยติดผลเพียง 5-10% เพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% โดยไม่ทิ้งสารตกค้างและส่งผลกระทบต่อรสชาติหรือตัวลำต้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวถ่ายทอดและนำร่องใช้ได้จริงให้เกษตรกรหลายจังหวัด ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิมหางละ 10 ลูก เป็น 15-17 ลูก

          ห้า นวัตกรรมถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน ซึ่งเป็นนวัตกรรม Active Bagging สำหรับห่อชมพู่ทับทิมจันท์เพื่อการส่งออก โดยการใช้ถุงห่อกันร้อนสำหรับผลชมพู่ ที่จะช่วยเร่งสีชมพู่ให้สวยสดและหวานกรอบ ก่อนการส่งออกหรือวางขายในท้องตลาด ด้วยการนำฉนวนกันร้อนชนิดโฟมมาตัดเย็บเป็นถุงในขนาดที่สามารถห่อผลชมพู่

          โดยชมพู่ที่ห่อด้วยถุงกันร้อน จะมีผิวมัน วาว สีแดงสด และมีรสชาติหวานกรอบกว่าชมพู่ที่ห่อด้วยถุงปกติ อย่างไรก็ดี นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี เพียงแค่นำมาล้างและผึ่งให้แห้งหลังการใช้ ขณะเดียวกัน ก่อนนำไปใช้สามารถฉีดพ่นสารกันเชื้อรา เคลือบด้านในถุง เพื่อร่นระยะเวลาของเกษตรกรในการฉีดพ่นยากันเชื้อรา เพลี้ยแป้ง และแมลงที่มาตอมผลชมพู่

          นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมสำหรับผลไม้เพื่อการส่งออก อาทิ นวัตกรรมปอกเปลือกมะพร้าว, นวัตกรรม Active Packaging สำหรับลองกองสด, นวัตกรรม Active Packaging เงาะโรงเรียนสด และนวัตกรรมแถบบ่งชี้ความสดของมะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย

          จึงนับเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร ทั้งยังช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างแท้จริง


ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก  :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 - 27 ก.ค. 2559  หน้า 21
 



เอกสารที่เกี่ยวข้อง