เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
อีคอมเมิร์ซเปิดศึกมันนี่เกม จับตารายใหญ่ผูกขาดตลาด

          ข่าวใหญ่ยึดพื้นที่สื่อในแวดวงไอทีช่วงนี้ คือ การประกาศแผนลงทุนของยักษ์ใหญ่ทั้งระดับภูมิภาค และระดับโลกที่โดดเกาะเทรนด์ "อีคอมเมิร์ซ" เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นช่วงเนื้อหอมดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรายใหญ่ๆ และการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อยในโลกออนไลน์ รวมถึงข่าวสะเทือนวงการเมื่อเว็บดีล "เอ็นโซโก้" ประกาศปิดตัว ถอนธุรกิจในทุกประเทศ หลังขาดสภาพคล่องการทำตลาดและดีลกับผู้ค้า เป็น "ข่าวร้าย" รายล่าสุดของวงการอีคอมเมิร์ซที่สวนทางกระแสเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค

          กลายเป็น "โอกาส" และ "วิกฤติ" ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบมาสะท้อนผ่านมุมมองของอีคอมเมิร์ซแถวหน้าของไทยในงาน "ไทยแลนด์ อีคอมเมิร์ซ ซัมมิต" ปีนี้

          :หวั่นรายใหญ่ผูกขาด

          นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม มองว่า การมีบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เข้ามาลงทุนในตลาดไทยมากขึ้น ส่งผลดีกับตลาดในภาพรวม แต่ก็มีประเด็นน่าห่วง เนื่องจากมองว่าเป็นเกมของยักษ์ใหญ่ ทำให้รายเล็กแข่งขันได้ยากขึ้น

          เช่นกรณีที่เกิดกับ "เอ็นโซโก้" ที่คาดว่าเป็นเพราะบิสิเนส โมเดลที่เปลี่ยนแปลง และมีปัญหาด้านการเงินจากประเทศอื่นที่กระทบถึงไทยด้วย

          "เทรนด์เริ่มกลายเป็นเกมของการใช้เงิน ใครมีเงินมากกว่าก็ได้เปรียบ ทำให้รายเล็กๆ เริ่มถอย คงไม่มีใครอยากสู้กับยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา และมีโอกาสที่สินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามา ส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการไทย"

          ขณะเดียวกัน ภาพรวมไทยยังไม่เก่งเรื่องเกมของเงินมากนัก ดังนั้นภาครัฐควรต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยดูว่า หากมีผู้ประกอบการ รายใหญ่จากต่างชาติเข้ามามาก จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตลาดในไทยโดยรวมอย่างไร และหามาตรการป้องกัน โดยเฉพาะประเด็นที่อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาดโดยรายใหญ่เท่านั้น

          นอกจากนี้ ผู้เล่นยังควรหาจุดยืนของตัวเอง หากทำอีคอมเมิร์ซในแบบเดียวกันหมด จะเป็นการแข่งกันทุ่มเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบและโอกาสที่รายใหญ่จะชนะมีมากกว่า แต่หากมีบิสิเนส โมเดลที่ต่างออกไป จะช่วยสร้าง โอกาสใหม่ๆ ได้ เพราะอีคอมเมิร์ซยังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมาก นอกจากการซื้อขายสินค้ายังมีองค์ประกอบอื่นๆ ในอีโค่ซิสเต็มส์อีก เช่น  อีเพย์เมนท์ หรือธุรกิจโฆษณาบนอีคอมเมิร์ซ

          ขณะที่ผู้ประกอบการ ต้องมองตลาดให้กว้าง เพราะอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่ไม่มีขอบเขต สามารถขายสินค้าได้ทั่วโลก

          สำหรับตลาดดอทคอมก็กำลังอยู่ระหว่างเตรียมแผนปรับธุรกิจ ปรับโมเดล และโพสิชั่น ของธุรกิจให้แข่งขันได้ อยู่ระหว่างคุยแผนกับพาร์ทเนอร์ หลังตลาดดอทคอมซื้อคืนหุ้นจากราคูเท็น และกลายเป็นบริษัทไทยเต็มตัว

          "สถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเปลี่ยนไปมาก หากเทียบกับตลาดดอทคอมที่เกิดมายุคดอทคอม จนปัจจุบันเป็นยุคสตาร์ทอัพ บริษัทได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ การทำงานในสไตล์ญี่ปุ่น มีเคพีไอเป็นกรอบชี้วัดการทำงาน และพยายามเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในตลาดอีคอมเมิร์ซ กระทั่งเริ่มมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้น กลายเป็นตลาดที่ผู้เล่นแข่งกันลงทุน ใช้เงินแข่งกันทำตลาด"

          :หวังดึงความรู้-เทคโนฯยักษ์ใหญ่

          นายธรินทร์ ธนียวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาค รวมถึงในไทยมากขึ้นยิ่งทำให้เกิดการลงทุนในตลาดเพิ่มขึ้น ใช้เงินทำการตลาด ส่งผลให้ประสิทธิภาพให้บริการอีคอมเมิร์ซดีขึ้นด้วย

          แต่ทั้งนี้คาดว่าในตลาดอาจเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย หรือ 2-3 รายอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะมีศักยภาพลงทุนมากกว่า ส่วนผู้เล่นรายเล็กๆ อาจเกิดการรวมตัว หรือถอนตัวออกไป ปัจจุบันในตลาดไทยเห็นชัดว่า มีผู้เล่นรายใหญ่ที่โดดเด่นในตลาด คือ กลุ่มลาซาด้า และแอสเซนด์ กรุ๊ป การเข้ามาลงทุนในลาซาด้าของ กลุ่มอาลีบาบาจากจีน ยังเป็นช่วงของการเริ่มทำแผนแต่ยังไม่มีการรีแบรนด์ใดๆทั้งสิ้น โดยยังให้ทีมลาซาด้าดำเนินธุรกิจเหมือนเดิม

          นอกจากนี้ ตามแผนเบื้องต้นอาลีบาบา จะทำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ทำตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลกเข้ามาช่วยพัฒนาลาซาด้า  ซึ่งดำเนินธุรกิจหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงนำโซลูชั่นบิ๊กดาต้า เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาลาซาด้าให้เป็นอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งมากขึ้น สำหรับดีลที่อาลีบาบามีแผนซื้อหุ้นในกลุ่มแอสเซนด์ ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่เชื่อว่าเป็นดีลที่จะส่งผลดีต่อตลาดอีคอมเมิร์ซโดยรวม และไม่ทับซ้อนการลงทุนในลาซาด้าเนื่องจากเป็นการลงทุนส่วนระบบ อีเพย์เมนท์ที่ต่างจากระบบที่ลาซาด้ามีอยู่ การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซในไทยยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก จากปัจจุบันสัดส่วนของการค้าขายแบบอีคอมเมิร์ซในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่ำกว่า 1% ของการซื้อขาย เทียบกับในตลาดใหญ่ๆ เช่น จีน หรือสหรัฐ ที่สัดส่วนของอีคอมเมิร์ซราว 10% ทั้งยังเริ่มเห็นแนวโน้มการเข้ามาของแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ต้องการสร้างตัวตนในอีคอมเมิร์ซ โดยจะเห็นว่าเกือบทุกแบรนด์เริ่มมีผู้บริหารที่ดูแลงานด้านอีคอมเมิร์ซโดยตรง มีแผนงานชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในฟากของผู้ผลิตสินค้าเองก็ให้ความสำคัญกับการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ที่มีผลต่อธุรกิจ

          "โอกาสที่ตลาดยังเติบโตได้อีก เป็นหนึ่งในเหตุผลที่แจ็ค หม่า เข้าลงมาลงทุนในอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

          ด้าน นายจูเลียง ชาล์ท ซีอีโอ และ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ แวร์ยูว้อน ร้านค้าสินค้าแฟชั่นและความงามออนไลน์ เสริมว่า การรวมตัวของผู้ประกอบการ หรือควบรวมกิจการกันอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งดีลระหว่างลาซาด้า และอาลีบาบา ดีลกลุ่มเซ็นทรัลกับซาโรล่า หรือแม้แต่แผนเข้ามาตั้งสาขาในอินโดนีเซียของยักษ์ใหญ่อย่าง อะเมซอน เชื่อว่ายังเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางรายใช้วิธีลัดเพื่อเกาะกระแสตลาดที่กำลังเติบโตด้วยวิธีซื้อกิจการ

          ต่างชาติรุมเพิ่มดีกรีดุเดือด

          นายสืบสกล สกลสัตยาทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัทแอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซในไทยกำลังเติบโตมาก กำลังขยายตัว รวมถึงแอสเซนด์ ที่ปัจจุบันให้บริการ 3 แพลตฟอร์มหลักคือ ไอทรูมาร์ท, วีเลิฟช้อปปิ้ง และวีมอลล์ (wemall.com) เป็นช่วงทดสอบระบบเพื่อเตรียมให้บริการในฐานะเว็บขายสินค้าแบรนด์โดยเฉพาะ ปีที่ผ่านมามีรายได้รวมทุกแพลตฟอร์ม 2 พันล้านบาท มีคำสั่งซื้อสินค้า 2.7 ล้านรายการ และจำนวนสินค้ากว่า 1 พันแบรนด์ จำนวนผู้ขายมากกว่า  3 แสนราย ขณะที่พฤติกรรมผู้ซื้อในตลาดไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คอันดับต้นๆ ของโลก หรือ 35 ล้านราย ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นไลน์ 33 ล้านราย และผู้ใช้ยูทูบที่สูงอันดับ 5 ของโลก หรือ 26 ล้านราย เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดนักช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น

          ข้อมูลยังพบว่า 50% ของลูกค้าจะสำรวจราคาสินค้าผ่านมือถือขณะที่ตัวอยู่ในร้านแล้ว ขณะที่ 1 ใน 3 จะค้นข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมจากมือถือ และ 1 ใน 5 คนจะสั่งซื้อสินค้าผ่านมือถือในขณะที่อยู่ในร้านขายแล้ว  ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาอีคอมเมิร์ซในไทย คือ การลดจำนวนลงของร้านค้า เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นคือ ร้านค้าเริ่มเป็นโชว์รูมโชว์สินค้าให้ลูกค้าเดินดูสินค้าจริง แต่การตัดสินใจซื้อจะทำผ่านออนไลน์ ขณะเดียวกันมีลูกค้าจำนวนมากที่ดูข้อมูลสินค้าจากเว็บก่อนที่จะเดินไปซื้อที่ร้าน

          นอกจากนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเริ่มได้รับความสนใจจากผู้เล่นรายใหญ่ ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการจับมือของ ซาลิม กรุ๊ป และลอตเต้ กรุ๊ป ตั้งบริษัทร่วมทุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย และมีแผนจะเปิดตัวในปี 2560  ส่วนในเวียดนามมีบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ ลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ ทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Adayroi.com และการรุกตลาดของยักษ์ใหญ่จากจีน เช่น JD.com ในอินโดนีเซีย และแผนตั้งธุรกิจของอาลีบาบาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนถึงผู้เล่นในตลาดโลกอย่าง  "อะเมซอน" ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดนี้ด้วยการประกาศแผนเปิดสาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย โดยมีแผนจะลงทุน 600 ล้านดอลลาร์ในปีแรก "กลยุทธ์สำคัญนอกเหนือจากการทำโปรโมโชั่น และทำราคาสินค้าที่โดนใจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ซื้อด้วย เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มิถุนายน 2559 หน้า 8



เอกสารที่เกี่ยวข้อง