เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
คอลัมน์: รายงานพิเศษ: เทคโนโลยีการผลิตพริกแบบผสมผสาน ปลอดภัย-ต้นทุนต่ำ

          พริก พืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความผูกพันกับผู้บริโภคชาวไทย อย่างมาก โดยมีการนำมาใช้ประกอบอาหารหลากหลายชนิด ซึ่งการปลูกพริกของเกษตรกรส่วนใหญ่มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในปริมาณมากเพื่อเพิ่มผลผลิต ฉะนั้นอาจมีสารพิษตกค้างเป็นอันตรายทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังกระทบต่อการส่งออก

          นางสาวพรทิพย์ แพงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การผลิตพริกสด และพริกเพื่อการบริโภค และการแปรรูปส่งโรงงานอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรควรมีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสิ้นสุดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะกล้า การย้ายปลูก การดูแลรักษาเรื่อยไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ที่สำคัญเกษตรกรควรคำนึงถึงมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยด้วย ซึ่งการปลูกพริกของเกษตรกรจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือการ ปลูกพริกในฤดูแล้ง(พริกสวน) เป็นการปลูกที่มีการให้น้ำและปุ๋ยค่อนข้างดี เกษตรกรจะเพาะกล้าประมาณกลางเดือนกันยายน ย้ายปลูกในเดือนตุลาคม เก็บเกี่ยวเดือนกุมภาพันธ์ แหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ อำเภอชุมแพ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น และริมแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม และการปลูกพริกในฤดูฝน(พริกไร่) พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นที่ดอนปลูกช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เก็บเกี่ยวได้ถึงเดือนธันวาคม ทั้งนี้การปลูกช้าหรือเร็วขึ้นกับการตกของฝนในช่วงต้นฤดูด้วย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ที่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส และ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอวังสะพุง อำเภอภูหลวง อำเภอผาขาว อำเภอเมือง จังหวัดเลย อำเภอกระนวน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น

          สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ได้ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตพริกแบบผสมผสาน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตพริกของเกษตรกรในพื้นที่ให้มีคุณภาพ ปลอดภัยและต้นทุนต่ำ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา โดยมีการทดสอบกับเกษตรกรนำร่องพื้นที่ตำบลนาดินดำ อำเภอเมือง และตำบล ผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีเกษตรกรร่วมดำเนินการ 23 ราย ในปีที่ 2 เพิ่มการทดสอบในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และชัยภูมิ ทำการทดสอบระบบการผลิตพริกแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี เน้นการใช้ชีวินทรีย์ เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร (เคมี) เทคโนโลยีการผลิตแบบผสมผสาน เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ไถดิน 1-2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินทิ้งไว้ 7-14 วัน ใส่ปูนขาวอัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50-55 องศาเซลเซียส นาน 15-20 นาที การย้ายกล้า แช่รากด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มาสด ถ้าเป็นฤดูฝนกล้าอายุตั้งแต่ 30 วัน หรือขึ้นกับช่วงฝนตกแต่ไม่ควรเกิน 45 วัน ฤดูแล้งกล้าอายุ 30-35 วัน ด้านการใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเดอร์มา อัตรา 150-250 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนออกดอกใส่ปุ๋ยหมักผสมเชื้อ ไตรโคร เดอร์มาอัตรา 150-250 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 15 วันใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15อัตรา 20-50 กิโลกรัม/ไร่ ทุกๆ 20-30 วัน จำนวน 2-4 ครั้ง พ่นสารแคลเซียมไนเตรท อัตรา 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตรช่วงติดผลเล็ก

          ส่วนการป้องกันโรคและแมลง โรคพริกที่พบส่วนใหญ่ คือ โรคแอนแทรคโนส (กุ้งแห้ง) ป้องกันได้ด้วยการพ่นแคลเซียมไนเตรท อัตรา 40-60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ระยะติดผลเล็ก 2 ครั้ง หรือเมื่อผลพริกเริ่มแสดงอาการขาดธาตุอาหารรอง เก็บชิ้นส่วนพืชที่ถูกโรคแมลงทำลายไปเผาทิ้ง พ่นแมนโคเซบอัตรา 30-40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร สลับกับสารโปรคลอราช อัตรา 20-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ระยะติดผลอ่อน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 7 วัน จำนวน 2 ครั้ง พ่นหรือรดน้ำหมักปลาหรือหอยอัตรา 30-40 ซีซี/ น้ำ 20 ลิตรทุกๆ 5-7 วัน ระยะติดผล 6-8 ครั้ง ถ้าเป็นโรคเหี่ยว ใช้ปูนขาวปรับสภาพดิน รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้งผสมเชื้อไตรโครเดอร์มา ถอนต้นที่เป็นโรคแล้วเผาทำลายใช้น้ำปูนใสรดหลุมเป็นโรคและต้นใกล้เคียง โรคยอดและดอกเน่า แนะนำให้ตัดชิ้นส่วนที่เป็นโรคออกนอกแปลง ใช้ไอโพรไดโอนอัตรา 20-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงออกดอกและติดผล จำนวน 2-4 ครั้ง บาซิลัส ซับทิลิส 20-40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

          แมลงศัตรูพริก มีทั้งไรขาว เพลี้ยอ่อนและเพลี้ยไฟ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแมลงวันเจาะผลพริก ให้ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง จำนวน 40-80 กับดัก/ไร่ และติดกับดักขวดพลาสติกใสเจาะรูโดยใช้เมทิลยูจินอลหยดลงในสำลีใส่ลงขวดเพื่อล่อแมลงวันผลไม้ สำหรับพยากรณ์ก่อนป้องกันกำจัดด้วยวิธีอื่น นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยในแปลงปลูกโดยแยกเก็บเกี่ยวผลผลิตดีและผลผลิตเสียที่ถูกหนอนแมลงทำลาย รวมทั้งผลที่เป็นโรคกุ้งแห้ง นำเอาผลผลิตเน่าเสียออกนอกแปลงไปเผาทำลาย และควรดูแปลงให้สะอาด โล่ง โปร่ง มีอากาศถ่ายเท

          อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบทั้งด้านผลผลิตและคุณภาพของพริก ตั้งแต่ปี 2549-2553 พบว่า พริกชี้ฟ้า วิธีเกษตรกรได้ผลผลิต 3.6 ตัน/ไร่ ขณะที่ปลูกตามเทคโนโลยีแบบผสมผสานได้ผลผลิต 4 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้น 11.1% ด้านคุณภาพผลผลิต วิธีเกษตรกร 83.6% วิธีผสมผสาน 98.1% ผลตอบแทนวิธีเกษตรกร 20,293 บาท/ไร่ วิธีผสมผสาน 22,653 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนพริกขี้หนูผลใหญ่ ฤดูแล้ง เดิมเกษตรกรได้ผลผลิต 1.6 ตัน/ไร่ วิธีผสมผสาน ได้ 1.8 ตัน/ไร่ เพิ่มขึ้น 12.5% คุณภาพผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 84.1% เป็น 90.8% ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 15,379 บาท/ไร่ เป็น 17,379 บาท/ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 13.9% ถ้าเป็นฤดูฝน วิธีเกษตรกรได้ผลผลิต 0.8 ตัน/ไร่ วิธีผสมผสานจะได้ผลผลิต 1.1 ตัน/ไร่ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 36.4% คุณภาพผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 82.4% เป็น 87.3% ขณะที่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เกษตรกรได้ 13,139 บาท/ไร่ เพิ่มเป็น 24,235 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้นกว่า 84.5%

          นางสาวพรทิพย์กล่าวเสริมว่า ผลที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพริกแบบผสมผสาน ทำให้ไม่พบสารพิษตกค้างในผลผลิต เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานขึ้น 8 ครั้ง ต้นทุนด้านสารเคมีลดลงมากกว่า 20% ผลผลิตไม่พบโรคแมลงทำลายมากกว่า 80% ที่สำคัญคือผลผลิตที่ส่งออกไปต่างประเทศไม่พบปัญหาถูกส่งกลับ ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้การยอมรับเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร เกือบ 100% โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มีการขยายผลการผลิตพริกซุปเปอร์ฮอทส่งออกประเทศยุโรป แม้ว่าผลผลิตค่อนข้างต่ำกว่าในระยะแรกแต่ผลตอบแทนเริ่ม มากขึ้น จากการที่เกษตรกรเริ่มรู้จักการคัดเกรดผลผลิตและสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าตลาดท้องถิ่นอย่างน้อยกิโลกรัมละ 2-5 บาท หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต

          ปัจจุบัน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 สร้างเกษตรกรต้นแบบการผลิตพริกมากว่า 20 ราย เป็นแหล่งศึกษาดูงาน และขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าวสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งจังหวัดหนองคาย สกลนคร เลย โดยเฉพาะขอนแก่น และชัยภูมิ มากกว่า 1,000 ราย พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ นอกจากนี้ยังได้ให้การรับรองแปลง GAP กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 884 ราย พื้นที่ 1751.125 ไร่

          บรรยายใต้ภาพ

          พรทิพย์ แพงจันทร์

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 23 มิถุนายน 2559 หน้า 13



เอกสารที่เกี่ยวข้อง