เมนู
ค้นหา

BAAC LIBRARY

หอสมุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หน้าแรก » รายการ E-clipping » รายละเอียด E-clipping
อุ้มราคาสินค้าเกษตร ติดหล่มเงินน้อย เห็นผลยาก

          เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

          รายงานภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุดของกระทรวงการคลังยังพบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แบบชะลอตัวลง แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ดี การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทำได้เร็วขึ้น แต่การส่งออกของไทยมีปัญหาไม่ขยายตัว และติดลบอีกต่างหาก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวไม่ชัดเจน

          แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือ เศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในภาวะยิ่งนานวันยิ่งย่ำแย่ โดยข้อมูลที่กระทรวงการคลังรายงานออกมา พบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 2558 ยังส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง ติดลบถึง 13.3% ต่อปี ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

          รายได้เกษตรกรที่ตกต่ำลดลง ส่งผลให้การบริโภคของประเทศสะดุด จนตัวเลขการบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัว สะท้อนจากยอดการขายรถจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย. 2558 หดตัวติดลบ 18.4% โดยเป็นการหดตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค ตามรายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงที่หดตัวในระดับสูง

          ปัญหารายได้ของเกษตรกรยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 66.0 ในเดือน เม.ย. เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน การส่งออกที่ยังคงหดตัว และราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ

          สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ก็ออกมา ยอมรับว่า ปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำน่าเป็นห่วง และมีความเปราะบางมาก ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องหาทางช่วยเหลือการเพิ่มรายได้ อย่างน้อยเกษตรกรจะต้องไม่ขาดทุนจากการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะชาวนาและชาวสวนยางพารา ที่ถือเป็นเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศ

          สมหมายยังระบุว่า แนวทางการช่วยเหลือที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ การแจกเงินเหมือนกับที่เคยทำมาก่อนหน้าในโครงการแจกเงินให้ชาวนาและชาวสวนยางพาราไร่ละ 1,000 บาท แต่สูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท/ครอบครัว เหมือนที่เคยทำมาเมื่อปลายปี 2557 โดยใช้เงินงบประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และเป็นส่วนช่วยให้การขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้สูงถึง 3% ต่อปี

          นอกจากนี้ การจ่ายเงินดังกล่าวยังทำผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งพบว่าเงินเข้าถึงมือชาวนาและชาวสวนยางพาราโดยตรง ไม่มีการรั่วไหล ไม่มีการทุจริต ทำให้เงินภาษีเสียหาย ถือว่าเป็นการใช้เงินของประเทศอย่างคุ้มค่า

          ผลสำเร็จที่ผ่านมาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพิจารณาที่จะแจกเงินให้กับชาวนาและชาวสวนยางเป็นรอบที่สอง แต่ปัญหาคือจำนวนเงินที่ต้องใช้ก้อนใหญ่ในการแจกนั้น รัฐบาลจะหามาจากแหล่งไหน เพราะการแจกเงินรอบแรกที่ผ่านมา รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.ที่มีภาระจะต้องตั้งงบประมาณมาใช้ภายหลัง

          ยิ่งการแจกเงินชาวนาและชาวสวนยางพารารอบใหม่มีแนวโน้มต้องใช้เงินมากขึ้น หากรัฐบาลยังยืนหลักการว่าจำนวนที่แจกต้องชดเชยรายได้เกษตรกรเมื่อหักลบกลบหนี้กับต้นทุนในการเพาะปลูกแล้วไม่เข้าเนื้อ เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรไทยตกต่ำมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินที่จะแจกต้องมากกว่าไร่ละ 1,000 บาท

          และหากรัฐบาลจะยึดแนวทางเดิมจ่ายไม่เกิน 15 ไร่/ครอบครัว ก็จะต้องจ่ายให้ชาวนามากกว่า 1.5 หมื่นบาท/ครอบครัว ทำให้เงินที่ต้องใช้มากกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นเงาตามตัวไปด้วย รัฐบาลก็ต้องไปกู้เงินมาแจกมากขึ้นแบบไม่มีทางเลี่ยง และสุดท้ายเงินกู้ดังกล่าวก็จะกลับมาเป็นภาระเงินงบประมาณ ทำให้งบลงทุนของประเทศลดลง

          นอกจากนี้ การแจกเงินชาวนาและชาวสวนยางพารายังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น รวมถึงผลดีที่จะเกิดกับเศรษฐกิจก็เป็นเพียงการสร้างแรงกระตุ้นเล็กน้อยและก็หมดแรงไปอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการแจกเงินรอบแรกส่งผลดีกับเศรษฐกิจแค่ไตรมาสแรกปีนี้เท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็หมดแรง ปัญหากลับเข้าสู่ภาวะเดิม คือรายได้เกษตรกรมีปัญหา การบริโภคเริ่มอ่อนแอ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ถดถอย

          ยังไม่รวมถึงความไม่เท่าเทียมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ ที่มีปัญหาราคาพืชผลตกต่ำเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือทั้งที่ใช้เงินจำนวนน้อยกว่าการช่วยชาวนาและชาวสวนยางพาราจำนวนมาก

          ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะจนมุมในการอุ้มราคาสินค้าเกษตร เพราะหากจะเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ผลจริง ก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ใช้เงินถึง 8-9 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปี ที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ก็ทิ้งความเสียหายให้กับประเทศมหาศาล ทั้งหนี้ก้อนโตที่เกิดจากความเสียหายโครงการกว่า 5 แสนล้านบาท และเมื่อเงินที่จ่ายให้ชาวนาถูกใช้จ่ายหมด แรงกระตุ้นเศรษฐกิจก็หมดตาม

          ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันยืนยันมาตลอดว่าจะไม่ใช้โครงการประชานิยมแก้ปัญหาของประเทศ เพราะได้ไม่คุ้มเสีย และทำให้ประชาชนของประเทศไม่รู้จักพอเพียง และต้องการให้มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพตัวเองในการประกอบอาชีพ

          การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลที่ผ่านมา 1 ปี จึงดูไม่เร้าใจ ไม่ต่อเนื่อง แก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราวระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดที่ไม่มีเงินก้อนโตมาถม ขณะเดียวกันรัฐบาลยังต้องระมัดระวังการใช้เงินของประเทศไม่ให้ เสียหายหรือมีการทุจริต ซึ่งส่งผลดีกับประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำให้การอุ้มราคาสินค้าเกษตรล่าช้าและไม่เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเช่นเดียวกัน

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 17 มิถุนายน 2558